เมนู

บ้านเฉียง ฉีกกรอบบ้านที่ไม่จำเป็นต้องตรง

บ้านเฉียงในเชียงใหม่

บ้านเฉียง การตีความใหม่ให้บ้านโมเดิร์น

Why straight ?  ทำไมต้องเส้นตรง เป็นคำถามง่าย ๆ ที่สื่อได้ดีถึงดีไซน์ของบ้านหลังนี้ แน่นอนว่าบ้านส่วนใหญ่เกือบ 100 % จะสร้างตัวอาคารเป็นระนาบแนวตั้งหรือแนวนอน แต่ในโลกของจินตนาการอะไรก็สามารถเป็นไปได้ ซึ่งสถาปนิกบางส่วนก็ลองก้าวออกมายืนนอกกรอบดูบ้าง ความกล้าที่จะตั้งคำถามอย่างแตกต่าง ทำให้เราได้พบบ้านในรูปแบบแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ  เช่น บ้านรูปรองเท้า บ้านทรงโค้ง หรือแม้แต่บ้านที่เอียงๆ เฉียง ๆ เหมือนบ้านหลังนี้ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแปลกตาดูเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีส่วนหนึ่งของบ้านปักเข้าไปในพื้นดิน ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบโดย NOTD สถาปนิกในเชียงใหม่นี้เองครับ

ออกแบบNOTD
ภาพถ่ายKetsiree
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นดีไซน์แปลก

บ้านเฉียง กล้าแตกต่างอย่างสร้างสรรค์

บ้านสองชั้นที่เหมือนประติมากรรมขนาดใหญ่วางแสดงกลางแจ้งอย่างเตะตา จนใคร ๆ ผ่านไปผ่านมาก็ต้องหันมามองหลังนี้ เป็นของคุณศิริศักดิ์ ธรรมศิริ หนึ่งในทีมงานของ NOTD ตั้งอยู่ ต.บ้านฟ่อน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ความโดดเด่นของบ้านนอกจากจะเป็นรูปลักษณ์ที่แปลกแล้ว ยังเลือกใช้รูปทรงกราฟฟิกในการออกแบบช่องแสง ให้มีทั้งสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เส้นตรง แนวทะแยง และการออกแบบที่ไม่ได้ละทิ้งความสัมพันธ์กับบริบทเรื่องสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้บ้านยังอยู่สบาย แม้ว่าการรับรู้ภายนอกด้วยสายตาจะชวนให้หวั่นว่าภายในบ้านจะอยู่ได้จริง ๆ หรือเปล่า

ประตูรั้ว

คลิกที่ภาพเพื่อรับชมในขนาดขยายใหญ่

บ้านเฉียงผนังไม้สไตล์โมเดิร์น

เมื่อมองดูภาพรวมของบ้านกับบ้านที่สร้างอยู่ข้าง ๆ กัน จะเห็นถึงความแตกต่างที่ดึงดูดสายตาอย่างมาก พอ ๆ กับที่รู้สึกเหมือนขัดแย้งเมื่อมองไปนาน ๆ ก็ชวนให้นึกอยากจะจับตัวบ้านให้ตั้งตรงขึ้นมา ผนังฝั่งทิศใต้ปิดทับด้วยไม้ทั้งหมดตัดเส้นสายตาด้วยกรอบสีดำ ทำให้บ้านดูอบอุ่นแต่คมชัด และยังมีบางส่วนที่สอดคล้องกับบริบทของบ้านใกล้เคียงที่เป็นบ้านไม้ครึ่งปูน

บ้านเฉียงช่องแสงรูปทรงกราฟิกบ้านเฉียง

อีกด้านหนึ่งของตัวบ้านที่จะเห็นถึงความแตกต่างของอารมณ์ ผ่านการใช้สีดำและวัสดุคอนกรีตเป็นหลัก แทรกด้วยกระจกลายกราฟิกรูปร่างสามเหลี่ยม ทำให้ภาพรวมเต็มไปด้วยความเฉียบคมและดูแข็งแรงดุดัน

ใต้ถุนบ้าน

ใต้ถุนโล่งรับลมเย็น

ส่วนล่างสุดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ทำให้บรรยากาศเหมือนบ้านทางภาคเหนือสมัยก่อนที่นิยมทำบ้านใต้ถุนสูง ช่วยให้บ้านรับลมและระบายอากาศได้ดี ลดความชื้นในฤดูฝนได้เร็ว สอดคล้องกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เป็นแนวคิดที่คงฟังก์ชันการใช้งานที่คล้ายคลึงกับบ้านเอาไว้ในรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ตอบรับกับดีไซน์ในภาพรวม

บันไดและราวกันตกเหล็ก

ภายนอกเฉียง แต่ภายในไม่เอียง

เมื่อเข้ามาชมภายในบ้าน ทำให้นึกภาพออกว่าบ้านนี้มีความเฉียงแต่ไม่ได้เอียง เพราะออกมาแบบมาให้มีการไล่ระดับพื้นที่ของส่วนต่างๆ อยู่ในแนวระนาบเส้นนอนตามปกติเหมือนบ้านทั่ว ๆ ไป แต่ส่วนของฝ้าจะวิ่งเฉียงขึ้นไปตามความลาดชันของหลังคา ตัวบ้านเป็นโครงสร้างง่าย ๆ ที่ผสมผสานระหว่างคอนกรีต เหล็ก ไม้ โทนสีเน้นไปที่เทา ดำ ตัดด้วยสีของงานไม้ ที่เข้ามาช่วยลดทอนความแข็งกระด้างดุดันของบ้านลง

ผนังบิวท์อินเป็นช่องซิกแซ็ก

บ้านโถงสูง

บ้านโถงสูงDouble Space เพื่อให้การระบายความร้อนขึ้นสู่ที่สูงได้ดี และระบายออกทางช่องหน้าต่างได้ง่าย ช่วยลดความอบอ้าวภายในบ้าน และยังเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ สานต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ชั้นล่างกับชั้นบนไม่ให้ขาดการติดต่อ

บันไดสไตล์โมเดิร์น

มุมนั่งเล่นอ่านหนังสือเป็นเหมือนขั้นเวทีทาสีดำให้เด่นชัดออกมาจากพื้นผนังสีขาว

ใส่ลูกเล่นเส้นกราฟฟิก เติมความดิบลงในบ้าน

บันไดทำจากแผ่นเหล็กหนาที่ดูดิบ ๆ ไม่ผ่านการตกแต่งทาสี  ออกแบบในสไตล์โมเดิร์นที่ใส่ความท้าทายด้วยยึดติดกับผนังให้ยื่นลอยตัวออกมาโดยไม่มีแม่บันได ลูกตั้ง หรือแม้แต่ราวบันไดกันตก ซึ่งต้องผ่านการคำนวณมาอย่างดี เพื่อให้บันไดสามารถรับน้ำหนักยามเดินขึ้น-ลงได้  ผนังส่วนที่ติดกับบันไดเจาะช่องแสงขนานกันไปเป็นเส้นเอียง 55 องศา

ช่องแสงรูปทรงสามเหลี่ยม

แผงกันตกบนชั้นลอยทำจากแผ่นเหล้ก ซึ่งทำหน้าที่เป็นชั้นวางหนังสือไปด้วยในตัว

ชั้นลอย

หน้าต่างแนวทะแยง

บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นได้อย่างดีว่า การสร้างบ้านในท้องถิ่นที่มีลักษณะภูมิอากาศและวัฒนธรรมเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องเหมือนของเดิมทั้งหมด หากนำมาประยุกต์ผสมผสานหยิบจับข้อดีของบ้านยุคเก่ามาเข้ากันกับความใหม่ได้อย่างร่วมสมัย ก็ทำให้เกิดการตีความบ้านในแบบที่ต่างออกไป ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ในขณะที่ตอบทั้งโจทย์การใช้ชีวิตและอากาศได้มากกว่าครับ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด