เมนู

บ้านผนังเฉียง เอียงเพื่อหลบแดด

บ้านหลบแดด

บ้านคอนกรีต 3 ชั้น สร้างอย่างเข้าใจธรรมชาติ

เจ้าของบ้านในเวียดนามหลังนี้คือ คุณ Nga ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มานานกว่า 40 ปี เล่าว่าเดิมที่ดินแถบนี้เคยเป็นป่าไม้เขียวขจี  ต่อมาเมืองก็รุกขยายกินพื้นที่ป่าไปเรื่อย ๆ จนที่อยู่อาศัยของเธอ (ก่อนสร้างใหม่) เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางถนนที่เกี่ยวพันกันไปมาจนกลายเป็นบ้านในเป็นตรอกเล็ก ๆ ที่มีความกว้างเพียง 1-2 เมตร รายล้อมด้วยอาคาร 1-3 ชั้นจนแน่นขนัด หากบ้านทั่วไปสร้างขึ้นบนที่ดินผืนนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ตัวบ้านจะไม่ได้รับลมและแสงสว่างมากพอ เนื่องจากอาคารของเพื่อนบ้านที่ค่อนข้างสูงจะปิดกั้นทิศทางของลมและแสง เกิดเงาขึ้นเหนือตัวบ้านทำให้พื้นที่ภายในจะมืดและชื้น ดังนั้นจุดประสงค์ของโครงการนี้คือ การสร้างที่อยู่อาศัยแบบเปิดโล่งกลางย่านที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูง และในขณะเดียวกันก็ต้องจัดให้มีพื้นที่สีเขียวกระจายอยู่ทั่วบ้านด้วย

ออกแบบSanuki Daisuke architects
ภาพถ่ายHiroyuki Oki
เนื้อหาบ้านไอเดีย

ตัดผนังเฉียงเข้าไป

บ้านปูนเปลือยผนังกระจก เชื่อมภายนอกภายใน

Sanuki Daisuke Architects สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม ศึกษาจุดดีจุดด้อย ทิศทางแสงและลมอย่างละเอียด แล้วจึงออกแบบบ้านสำหรับพื้นที่ชุมชนแน่นในโฮจิมินห์ซิตี้ เป็นอาคารสูง 3 ชั้นจากคอนกรีตเปลือย ที่สัมพันธ์กันระห่วงรูปทรง – ที่ว่าง – ปริมาตร โดยสร้างตัวบ้านเกือบเต็มพื้นที่ แต่ใส่ช่องว่างขนาดใหญ่เติมที่ว่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสร้างจุดเชื่อมต่อกับสวนกลางแจ้ง จากนั้นจึงตัดมุมอาคารให้เป็นองศาเฉียงเข้ามาด้านใน เพื่อกำหนดทิศทางแสงให้สามารถนำเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ภายในบ้านไม่ร้อนเกินไป

บ้านตึกทรงขนมเปียกปูน

ภาพแสดงสภาพแวดล้อมของบ้าน จะเห็นว่ามีอาคารสูงและต่ำรายล้อม ทางเดินจากตรอกซอยกว้างเพียง 1 เมตร ลึกเข้าไปเป็นที่ตั้งอาคารรูปทรงคล้ายขนมเปียกปูนตัดมุมทแยงโปร่งโล่งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ชุมชนที่แออัด


ผนังอาคารตัดเฉียงเข้าไป

จากประตูทางเข้าบริเวณชั้นล่าง จะเป็นห้องนอนและพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย ห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร ด้านบนเป็นชั้นลอยมีห้องนั่งเล่นบนชั้นสองและห้องไหว้พระที่ชั้นสาม ทั้งหมดถูกรวมเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียว เพื่อหลีกเลี่ยงการแยกส่วน หน้าต่างบานเลื่อนขนาดใหญ่ช่วยให้พื้นที่เหล่านี้เกือบทั้งหมดเปิดออกสู่ด้านนอก ต่อเชื่อมกับสวนเล็ก ๆ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สถาปนิกเพิ่มวิธีการสร้างความลื่นไหลระหว่างภายในภายนอก ด้วยการทำผนังและพื้นจากปูนเปลือยขัดมันทั้งในส่วนของเปลือกบ้านและผนังภายใน เพื่อสร้างความรู้สึกของการไหลผ่านของพื้นที่จากพื้นที่กลางแจ้งไปสู่ด้านในบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น “สถาปนิก Sanuki Daisuke กล่าว

ผนังกระจก

ผนังเฉียงเลี่ยงองศาแดด

ผนังกระจกสูงสองเท่า (double-height) นำแสงสว่างมาสู่พื้นที่แห่งนี้ แต่ความพิเศษไม่เหมือนบ้านหลังอื่น ๆ คือ ผนังที่ตัดเฉียง 45 องศา เข้ามาด้านใน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สถาปนิกสังเกตการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ จึงทำการตัดเฉือนอาคารออก ช่วยหลีกเลี่ยงองศาของแสงแดดที่จะส่องเข้าไปโดยตรงที่จะทำให้บ้านร้อนเกินไป แสงจากธรรมชาติที่สะท้อนบนพื้นจากภายนอกจะทำให้พื้นที่ในร่มสว่างขึ้น การขยับผนังอาคารเข้ามายังเกิดผลพลอยได้คือมีพื้นที่เปิดโล่งภายนอกอาคารให้ได้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกนิด

ห้องนั่งเล่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านคอนกรีตมินิมอล

ประตูกว้างเปิดออกสู่สวน

“เรามองเห็นอาคารหลังนี้ว่าเป็นสวนแบบสามมิติ ที่ซึ่งลมและแสงอาทิตย์เดินทางเข้า-ออกได้ตลอดเวลา จากกลางแจ้งผ่านช่องเปิดทุกทางในอาคาร” แนวคิดหลักของสถาปนิกเป็นที่มาของบ้านที่เปิดผนังได้กว้างจนเหมือนบ้านไร้ผนัง ทั้งในห้องนั่งเล่น ห้องนอน ทุกระดับชั้นของบ้าน ผ่านประตูบานสไลด์กระจกใสที่เป็นตัวกลางช่วยเบลอขอบเขตระหว่างภายในภายนอกได้ด้วยในตัว

ห้องนอนเปิดรับบรรยากาศสวน

ห้องนอนที่เจ้าของต้องการมีจำนวนห้าห้องจะกระจายไปทั่วแต่ละชั้นถูกจัดเรียงรอบพื้นที่ส่วนกลาง มีสวนเป็นกันชนเพื่อให้ความเป็นส่วนตัว พื้นที่ที่เหลือจะกลายเป็นพื้นที่เปิดโล่ง open space อย่างต่อเนื่อง ในห้องนอนชั้นล่างนี้ปูพื้นไม้และผนังทาสีขาว เพื่อให้ความแตกต่างกับพื้นที่นั่งเล่นที่เป็นปูนเปลือยขัดมัน ส่วนห้องนอนห้องอื่น ๆ จะแตกต่างกันไปในรายละเอียดเล็กน้อย แต่สิ่งที่เหมือนกันคือประตูกระจกที่เปิดได้กว้าง สามารถเชื่อมต่อกับสวนได้อย่างแนบสนิท

ชั้นลอย

ผนังปูนเปลือย

ห้องนั่งเล่นบนชั้นลอย ตกแต่งเรียบง่ายด้วยชุดโต๊ะโซฟา 2 ชิ้น โต๊ะกลาง 1 ตัว โทนสีค่อนข้างเรียบขรึมดูเป็นทางการขึ้นมาเล็กน้อย เหมาะสำหรับต้อนรับแขกคนสำคัญ หรือนั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ การทำชั้นลอยแบบนี้ทำให้เกิดพื้นที่ว่างในแนวตั้ง ช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี และยังเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ให้สมาชิกในบ้านยังมีปฏิสัมพันธ์กันได้แม้จะอยู่คนละชั้น

ห้องนั่งเล่นรับแขก

บันไดเชื่อมต่อชั้นต่าง ๆ ในบ้าน

ลดผนังสร้างความต่อเนื่อง

ในพื้นที่บ้านทุกชั้น สถาปนิกจะเน้นสร้างความต่อเนื่องและลื่นไหลของพื้นที่ด้วยการเลือกใช้วัสดุ บันได โดยพยายามไม่ให้มีผนังทึบมาปิดกั้น และไม่ลืมที่จะคำนวณทิศทางของแสงอาทิตย์ บางจุดที่รับแสงมาก็ใช้วิธีการตัดเฉือนบ้านเพื่อเบี่ยงองศาการรับแสง ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ว่างในส่วนที่อยู่นอกอาคาร จึงจัดเป็นสวนเล็ก ๆ แล้วติดตั้งประตูกระจกเป็นตักลางช่วยเบลอขอบเขตระหว่างภายนอกภายใน

บ้านพื้นไม้ผนังกระจก

ผนังกระจกสูง 2 ชั้น

บ้านคอนกรีตเปิดผนัง

ด้วยวิธีการออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ทิศทางของแสงและลม ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเพลิดเพลินกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน แม้จะมีความท้าทายเรื่องที่ตั้ง แต่ก็สามารถจัดการพื้นที่เปิดโล่งให้ผู้อยู่ได้ชื่นชมแสงธรรมชาติ ท้องฟ้า และอากาศจากภายนอกได้ตามที่ต้องการ

ผนังเปิดกว้าง

บ้านเปิดผนังกว้าง

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การสร้างบ้านนอกจากจะคำนึงถึงความสวยและประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังต้องศึกษาสภาพภูมิอากาศ ทิศทาง แสง ลม ข้อดีข้อด้อยของที่ตั้งประกอบด้วยเพื่อให้อยู่ได้สบาย สำหรับบ้านเขตร้อนช่องเปิดขนาดใหญ่ เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องบิด เบี่ยง หน้าตัดของอาคารเพื่อเลี่ยงแสงแดด ก็เป็นการเสียสิ่งหนึ่งเพื่อให้ได้อีกสิ่งที่ดีกว่าครับ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด