
รีโนเวทบ้าน
หากใครเป็นคอซีรีส์เกาหลีโบราณ จะต้องคุ้นเคยกับฉากที่นักโทษการเมืองที่ได้รับโทษทั้งหลายจะต้องถูกเนรเทศมายังเกาะเชจู (Jeju) ซึ่งทางตอนใต้สุดของประเทศเกาหลีใต้ ที่นี่จะมีอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุกที่สุดของประเทศ ในฤดูหนาวก็หนาวจัด เรียกว่ามีครบองค์ประกอบของสภาพอากาศ บ้านเรือนในยุคเก่าจึงต้องสร้างมาอย่างเพื่อให้ทนกับสิ่งที่ต้องเจอในทุกฤดู ด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างก้อนหิน ดิน ไม้ มาประกอบกันป้องกันแดด ฝน ลม ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้ไปเยือน
ออกแบบ : Formative Architects
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านโบราณที่เหลือเค้าเดิมแต่เท่ขึ้น
บ้านขนาด 112.79 ตารางเมตรใน Bukchon ri เมืองเชจูที่สร้างมานานหลายสิบปี ประตูเหล็กหน้าบ้านเริ่มมีสนิมกันกิน ภายในก่อทึบจนดูมืดและทรุดโทรม เมื่อเวลาผ่านไปเจ้าของบ้านรุ่นใหม่ ๆ ก็ต้องการรีโมเดลบ้านให้ดูดี สอดคล้องกับการใช้ชีวิตใหม่ ๆ แต่ยังอยากให้คงคุณค่าของอาคารเก่าเอาไว้ สถาปนิกจึงลงมือปรับปรุงโดยให้กระทบโครงการเดิมน้อยที่สุด เติมสิ่งใหม่ ๆ เข้าไปในบางจุด เปิดช่องว่างให้บ้านรับแสงได้มากขึ้น บ้านจึงดูทันสมัยในขณะที่หลงเหลือกลิ่นอายวันวานให้ชื่นชม
ประตูใหม่ที่ทำจากกรอบเหล็กตีแผ่นไม้ แต่ถ้าเป็นไม้หมดก็ดูจะธรรมดาไป เพียงแค่ดึงไม้ออกมาหนึ่งแผ่นแล้วใส่แผ่นเหล็กเข้าไปแทนที่ก็สร้างความรู้สึกเท่ ๆ ขึ้นมาทันที
โครงสร้างเดิมใส่วัสดุใหม่ จัดภูมิทัศน์ใส่ชานเพิ่ม
หลังจากกระบวนการปรับปรุงจะเห็นได้ว่าสถาปนิกไม่ได้ยุ่งกับโครงสร้างอาคารมากนัก เพียงกระเทาะปูนเชื่อมหินก้อนใหญ่ ๆ ที่ค่อนข้างเลอะให้เห็นก้อนหินสี่เหลี่ยมให้ชัดขึ้น หลังคารูปทรงเดิมแต่เปลี่ยนหลังคาจากวัสดุกระเบื้องเก่าเป็นเมทัลชีท ขยายช่องเปิดประตุหน้าต่างให้กว้างขึ้นเพื่อเปิดรับแสงและลม ด้านข้างมีสิ่งก่อสร้างใหม่เป็นเหมือนประภาคารสูงสองชั้นทำจากแผ่นเหล็กหลังคาจั่วแบบโมเดิร์นให้ขึ้นไปเปลี่ยนบรรยากาศนั่งชมวิวในมุมสูง
จัดภูมิทัศน์กลางแจ้งใหม่ให้ดูสดชื่นมีชีวิตชีวาขึ้น บ้านจากลานดินโล่ง ๆ เป็นสนามหญ้าเขียว ๆ วางแผ่นคอนกรีตแบบฟรีฟอร์มนำทางจากประตูหน้าเข้ามาสู่ภายใน ระหว่างแผ่นปูแทรกด้วยกรวดเล็ก ๆ รอบ ๆ บ้านก็เช่นกัน ข้อดีของการปูกรวดนอกจากจะช่วยเรื่องวัชพืชแล้ว ยังซับน้ำฝนที่ไหลลงมาจากชายคาทำให้น้ำไม่กระเซ็นโดนตัวบ้านพื้น เวลาเดินรอบ ๆ บ้านก็สบายเท้าไม่มีเศษดินติด
ในภาพบ้านเก่าจะเห็นเจ้าของบ้านวางแคร่เล็ก ๆ เอาไว้นั่งหน้าบ้านมองดูแล้วก็เหมือนบ้านตามชนบทในเมืองไทยที่คนเฒ่าคนแก่จะออกมานั่งตากลมเล่นช่วงที่อากาศดี ๆ แต่พื้นที่เพียงเท่านี้ไม่เพียงพอสำหรับใช้งาน สถาปนิกจึงต่อเชิมชานบ้านปูด้วยไม้ยื่นออกมาค่อนข้างกว้างให้สมาชิกในบ้านใช้งานได้สะดวกขึ้น ส่วนชานนี้จะเชื่อมต่อกับพื้นที่ในบ้านผ่านประตูสไลด์กระจกใสที่ช่วยเบลอขอบเขตภายนอกภายในให้มีความต่อเนื่องกัน
การตกแต่งภายในบ้านจัดแปลนแบบ open plan เน้นความโล่งให้มากที่สุด โดยการรื้อผนังที่แบ่งห้องออกกลายเป็นห้องโถงโล่ง ๆ ขนาดใหญ่ห้องเดียวรวมพื้นที่นั่งเล่น และห้องนอนไว้ด้วยกัน โดยใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวบ่งบอกขอบเขตการใช้งาน ผนังและเพดานเน้นสีขาวเป็นหลักเพื่อเพิ่มสว่างและดูทันสมัยขึ้น พื้นบ้านเปลี่ยนจากวัสดุเดิมมาเป็นวัสดุลายไม้ให้ความอบอุ่นกระจายไปทั่วบ้าน สัมผัสและสีเข้ากันได้ดีผนังก่ออิฐที่ปิดเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้มุมนั่งเล่นพักผ่อน
จิตวิญญาณงานช่างเก่า เสน่ห์ที่บ้านใหม่ไม่มี
สถาปนิกโชว์เสาเดิมที่ดูผุพังบางต้น โครงหลังคาที่เป็นไม้เก่าก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบของบ้านที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาในการสร้างที่อยู่อาศัยของช่างพื้นถิ่น แม้จะไม่ได้ประณีตสมบูรณ์แบบแต่ก็เต็มร่องรอยของกาลเวลาที่บ่งบอกถึงเรื่องราวที่ผ่าน และกลายเป็นจุดดึงดูสายตาที่ทำให้บ้านนี้เหมือนเป็นงานศิลป์ชิ้นใหญ่
แยกฟังก์ชันครัวออกมาอีกอาคาร
จากบ้านหลังใหญ่จะมีทางเชื่อมต่อมาที่บ้านหลังเล็กซึ่งกำหนดใหม่ให้เป็นครัวและพื้นที่ทานอาหาร ส่วนนี้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จากอาคารชั้นเดียวที่เต็มไปด้วยผนังหินแผ่นใหญ่ กลายเป็นบ้านที่เปิดผนังกว้างจนสุดเหมือนกับไร้ผนัง ทำให้มองเห็นวิสัยทัศน์รอบ ๆ บ้านในมุมกว้าง พื้นบ้านปูด้วยแผ่นหินขัดสีอ่อน ๆ เข้ากันได้ดีกับวัสดุดั้งเดิม
ครัวแบบเปิดที่มองเห็นได้รอบด้าน ทำให้ทุกครั้งที่ลงมือปรุงอาหาร เครื่องดื่ม ก็ไม่พลาดที่จะซึมซับวิวทิวทัศน์ไปพร้อมๆ กัน
สถาปนิกใส่ลูกเล่นการตกแต่งไฟเพิ่มเติมบริเวณหลังคาทั้งในอาคารใหม่และอาคารเก่า ทำให้บ้านมีบรรยากาศและมิติที่แปลกตาไปจากตอนกลางวัน
เติมคุณภาพชีวิตดี ๆ เพิ่มความสุนทรีในอีกระดับ ด้วยการออกแบบอ่างอาบน้ำเอาท์ดอร์ที่ห้อมล้อมด้วยผนังกระจกปล่อยตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างแนบชิด สร้างบรรยากาศแสนโรแมนติกปนเซ็กซี่ในการอาบน้ำ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การรีโนเวทบ้านแต่ละหลัง หากต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผนัง เสา และต่อเติมเพิ่มฟังก์ชัน จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบโครงสร้างเดิมด้วยว่าจุดไหนที่รื้อได้ไม่กระทบโครงสร้างอาคารโดยรวม จุดไหนไม่ควรรื้อ ในส่วนที่ต้องการต่อเติมต้องพิจารณาว่าพื้นรับน้ำหนักได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ส่วนที่ต่อเติมกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้บ้านทั้งหลังเกิดปัยหาตามมา |