บ้านชั้นเดียวหลังคาปั้นหยา
บ้านหลังคาปั้นหยาเป็นสไตล์ที่มีให้เห็นได้ทั่วไป แต่บ้านหลังที่ชื่อ Umbrella House นี้มีประวัติที่น่าสนใจ ตรงที่เดินทางไกลมาจากที่ญี่ปุ่น เพื่อไปประกอบสร้างขึ้นใหม่ในวิทยาเขต Vitra ในเมือง Weil am Rhein อาคารออกแบบโดย Kazuo Shinohara (1925–2006) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ร่วมกับ Kenzo Tange แม้ว่างานของเขาจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อสถาปนิกรุ่นหลัง แต่ไม่ค่อยรู้จักในระดับนานาชาติ ผลงานของเขาแบ่งออกเป็นสี่สไตล์ แต่ละแบบจะกล่าวถึงปัญหาและความท้าทายที่แตกต่างกัน โดยมีชิ้นเอกจากสิ่งที่เรียกว่า First Style of Shinohara สร้างขึ้นใน Nerima กรุงโตเกียว เมื่อปี 1961 เป็นที่อยู่อาศัยที่เล็กที่สุดและเป็นหนึ่งในบ้านหลังสุดท้ายจากสไตล์แรกของเขา
ออกแบบ : Kazuo Shinohara
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
Umbrella House มีแผนจะถูกรื้อถอนเพื่อหลีกทางให้กับโครงการสร้างถนนที่ตัดผ่านบ้าน Vitra Design Museum จึงตัดสินใจซื้อบ้านเพื่อปกป้องไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาตัวอย่างสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ โดยบ้านถูกรื้อถอนอย่างระมัดระวังในฤดูร้อนปี 2020 และแยกออกเป็นแต่ละส่วน โครงสร้างไม้ที่ทำจากไม้สนญี่ปุ่น และไม้สนโอเรกอนถูกบรรจุอย่างแน่นหนาพร้อมกับส่วนประกอบอื่น ๆ และส่งไปยัง Weil am Rhein การประกอบเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โดยได้รับความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และแล้วเสร็จในฤดูร้อน พ.ศ. 2565 เป็นอาคารประวัติศาสตร์แห่งที่สามที่จะสร้างใหม่ในวิทยาเขต Vitra
หลังคารูปทรง “เรขาคณิต” เป็นลักษณะความงามที่โดดเด่นของบ้าน ชิโนฮาระดึงเอาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมของบ้านเรือนของญี่ปุ่น และรวมเอาลวดลายจากสถาปัตยกรรมทางศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบตกแต่งภายในด้วย
“จุดแข็งของความเชื่อมั่นของฉันที่ว่าบ้านคืองานศิลปะ เกิดจากการต่อสู้กับบ้านหลังเล็กๆ หลังนี้” ชิโนฮาระเขียนเกี่ยวกับบ้านของวารสารชินเค็นจิกุในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 เขาต้องการแสดงพลังของพื้นที่ที่มีอยู่ในโดมะ (ห้องพื้นดิน) ของบ้านไร่ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม และออกแบบหลังคาโดยได้แรงบันดาลใจจากโครงสร้างทางเรขาคณิตของคาราคะสะ (ร่มญี่ปุ่นกระดาษน้ำมัน) ซึ่งทำออกมาได้สวยงามราวกับเป็นชิ้นงานศิลปะจริงๆ
บ้านที่มีรูปแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นที่ 55 ตร.ม. เพียงพอสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก ในการออกแบบภายใน ชิโนฮาระได้ใช้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมของบ้านเรือนญี่ปุ่นและวัดมาประกอบกัน โดยถ่ายทอดลวดลายต่างๆ ไปสู่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรก ตัวอย่างเช่น หลังคาทรงพีระมิดโครงสร้างไม้ดูเหมือนพัดคลี่ที่ใช้ในบ้านนี้จะพบเห็นได้ในวัดเท่านั้น บ้านนี้จึงสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1960 ได้เป็นอย่างดี
ฟังก์ชันภายในบ้านมี ห้องครัวและโต๊ะรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ และห้องเสื่อทาทามิแบบดั้งเดิม ซึ่งบ้านแบบญี่ปุ่นจะมีโครงสร้างแบบหลวมๆ สามารถปรับเปลี่ยนใช้งานได้หลายอย่างในห้องเดียว เช่น ห้องนั่งเล่นปรับเป็นห้องนอนได้เพียงแค่ขยับโต๊ะเก้าอี้ออกล้วนำฟูกมาวาง สำหรับห้องปูเสื่อทาทามิยกสูงขึ้นเล็กน้อย จุดนี้สามารถเปิดเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นบริเวณเดียวกัน หรือจะแยกห้องเสื่อทาทามิออกจากห้องนั่งเล่นก็ได้ โดยใช้ประตูบานเลื่อนห้าบาน (ฟุซูมะ) ที่ตกแต่งภาพพิมพ์โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น Setsu Asakura
หลังคาโครงสร้างร่มเปิดโล่งมีความสูงขึ้นไปถึงสี่เมตร ทำให้พื้นที่พื้นขนาดเล็กดูใหญ่ขึ้น ระยะห่างจากพื้นถึงเพดานที่ค่อนข้างสูงทำให้สถาปนิกแบ่งครึ่งหนึ่งของความสูงของห้องเสื่อทาทามิทำหน้าที่เป็นพื้นที่เก็บของ โดยมีบันไดไม้ช่วยในการเข้าถึง สำหรับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านออกแบบโดย Kazuo Shinohara เองและนักออกแบบ Katsuhiko Shiraishi ปัจจุบัน ตัวบ้านตกแต่งด้วยของเลียนแบบและชิ้นส่วนดั้งเดิมผสมผสานกัน
ชิโนฮาระใช้วัสดุที่เรียบง่ายราคาไม่แพงสำหรับทั้งภายในและภายนอกบ้าน เช่น ซีเมนต์และแผ่นใยไม้อัดที่ด้านหน้าอาคาร เพื่อการก่อสร้างที่รวดเร็วและต้นทุนต่ำ โครงสร้างบ้านในส่วนของไม้ที่ถอดประกอบได้ยังเป็นจุดสำคัญที่เอื้ออำนวยในการย้ายอาคาร และเป็นลักษณะเด่นด้านสุนทรียะของบ้านหลังนี้ด้วย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : หลังคาปั้นหยามีรูปทรงเรขาคณิตที่สวยงาม แต่ให้ความรู้สึกแบบร่วมสมัยเหมือนที่นิยมทำในบ้านจัดสรร คนที่ชอบสไตล์โมเดิร์นอาจไม่ค่อยถูกใจนัก ตัวหลังคาเอียงลาดปกคลุมทั้ง 4 ด้านของตัวบ้าน บ้านจึงทนต่อแรงลม ช่วยกันแดดและกันฝนได้รอบด้าน แต่ลักษณะของบ้านที่เป็นเหมือนพิรามิดเมื่อปิดฝ้าเพดานแล้วจะทำให้เกิดโถงใต้หลังคา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สะสมความร้อนโดยตรงจากหลังคา หากไม่ได้ติดตั้งฝ้าชายคา หรือช่องทางระบายอากาศ ความร้อนจะค่อย ๆ ถ่ายเทลงสู่ตัวบ้านทำให้อยู่อาศัยไม่สบายได้ |
แปลนบ้าน