บ้านหน้าแคบลึกเล่นระดับให้ดูกว้าง
หากพูดถึงบ้านเมทัลชีท หลายคนอาจจะนึกภาพบ้านผนังโลหะที่เหมือนการใช้งานไม่ยืนยาว แถมยังติดกับความรู้สึกว่าต้องร้อนแน่ๆ แต่ปัจจุบันนี้บ้านเมทัลชีทถือเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ใช้งานได้ดี เพราะมีหลายรุ่นใหม่ๆ ให้เลือก ตอบโจทย์บ้านยุคใหม่ทั้งคุณสมบัติ สี และการดีไซน์ หากใครกำลังคิดจะใช้วัสดุเมทัลชืท เรามีหนึ่งตัวอย่างบ้านเมทัลชีทที่สะดุดตามาให้ชม กับ Verde House ตั้งอยู่ในย่าน Bintaro South Tangerang ประเทศอินโดนีเซีย ตัวบ้านโดดเด่นด้วยโทนสีเขียวที่สะดุดตา ภายในได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความรู้สึกสบายที่สุดในการใช้ชีวิตสำหรับทั้งครอบครัว
ออกแบบ : Atelier Bertiga
ภาพถ่าย : Daniel Jiang
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
โปรเจ็คนี้เป็นงานรื้อสร้างใหม่ในไซต์เก่าพื้นที่ 6×15 ม. ถือว่าขนาดไม่ใหญ่นัก และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น ดังนั้น พื้นที่ภายในจึงต้องออกแบบให้ดีเพื่อให้บ้านดูกว้างและะมีแสงสว่างเพียงพอ วิธีการออกแบบหลักสำหรับ Verde House คือการแบ่งความสูงของพื้นที่เพื่อปรับการใช้งานให้เหมาะสม และนำวัสดุที่เหลือจากอาคารเก่ากลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภายนอกจะเป็นส่วนผสมระหว่างเมทัลชีทสีเขียวใบไม้ เหล็กฉีกสีดำ บล็อกช่องลม และคอนกรีตเทาๆ ออกแบบส่วนหน้าให้เหมือนโรงนาสูง ๆ จากภายนอกจะเห็นเพียง 2 ชั้น แต่ภายในแบ่งออกเป็นชั้นย่อย ๆ ถึง 4 ชั้น
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
พื้นที่ในบ้าน Verde House แบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามแนวนอน คือ พื้นที่ส่วนกลางอยู่หน้าบ้านมีพื้นที่เปิดโล่งโถงสูงตรงกลางที่แบ่งพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง พื้นที่ส่วนตัวจะอยู่ด้านหลัง และชั้น 2 ที่เป็นการเล่นระดับขึ้นไปเป็นห้องนอน ชั้นล่างสุดจะเป็นที่จอดรถ เข้ามามีห้องเก็บของ แล้วตามบันไดขึ้นมาสู่ชั้นแรกประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น มุมทานข้าว และครัวอยู่บริเวณเดียวกัน จากนั้นจะเป็นบันไดไปสู่ห้องนอนและชั้นบน สำหรับส่วนที่กรุวัสดุเมทัลชีทด้านหน้าเพิ่มฉนวนกันความร้อนทั้งผนังและหลังคา บ้านจึงคงความเย็นสบายไม่ร้อน ส่วนหน้าจะไม่ใช่โซนใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ค่อยมีคนใช้งานช่วงกลางวัน จึงไม่มีปัญหาในการใช้งาน
ตกแต่งมุมนั่งเล่นและครัวด้วยโทนสีเทา เขียวกำมะหยี่ ทำให้บ้านดูแข็งแกร่งด้วยโครงสร้างคอนกรีตเปลือย แต่คลาสสิคหรูหรากับงานผ้าและสีดำ พร้อมใส่ความเป็นธรรมชาติด้วยงานไม้ ชุดสี 3 สีนี้จับคู่เมื่อไหร่รับรองว่าไม่พลาด
ความสูงของพื้นที่มักทำให้มีการแบ่งแยก ตัวอย่างง่ายๆ ของบ้านที่มีตั้งแต่สองชั้นทั่วไป จะเทพื้นเพดานแบ่งระหว่างชั้นบนและชั้นล่างให้ตัดขาดออกจากกัน กว่าจะมาพบกันแต่ละครั้งก็ต้องเดินขึ้นลงบันไดไปที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่สถาปนิกเลือกใช้วิธีการเล่นระดับบ้านให้ค่อย ๆ สูงขึ้นไปทีละสเต็ป ทำให้แต่ละชุดการใช้งานมีความเชื่อมต่อกันได้แบบไม่สูงเกินไป เหมือนมีชั้นลอยที่มองเห็นกันได้และใช้งานสะดวก แล้วสร้างช่องว่างเชื่อมต่อในแนวตั้งเพื่อลดอุปสรรคในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
ลานภายในที่ตั้งอยู่ตรงกลางของบ้านมีสเต็ปบันไดที่นั่งเล่นได้ บิลท์ดิดกับกระถางคอนกรีตปลูกต้นไม้เขียวๆ ให้ความรู้สึกสดชื่น ขยับขึ้นไปจากส่วนนี้จะเป็นห้องนอนประตูกระจกและชั้นสอง เหนือลานเป็นโถงสูงและมี skylight ดึงแสงลงมาช่วงกลางอาคาร บ้านจึงเหมือนมีพื้นที่กลางแจ้งภายใน โดยพื้นฐานแล้วบ้านจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนกลางของบ้านนี้ เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ใช้งาน เพิ่มความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยให้อากาศภายในอาคารไหลเวียนได้ดีขึ้นโดยไม่ทำให้รู้สึกร้อน ด้วยการเร่งการไหลของอากาศร้อนออกจากบ้านผ่านช่องเปิดที่ออกแบบรับกันอย่างดี
ห้องนอนถูกจัดวางด้านหลังให้ความเป็นส่วนตัว ในแต่ละชั้นจะสามารถมองเห็นสวนที่คอร์ทยาร์ดกลางบ้านได้ ชั้นล่างมองขึ้นมาเห็นชั้นบน ส่วนคนที่อยู่ชั้นบนก็ไม่ถูกตัดขาดจากพื้นที่อื่นๆ ของบ้าน เอกลักษณ์ของบ้านแบบนี้ทำให้อยู่ได้อย่างสนุกสนานไม่มีเบื่อ ลืมบ้านสองชั้นสามชั้นแบเดิมๆ ไปได้เลย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านเนื้อที่แคบแต่ลึก เหมาะจะจัดแปลนแบบเล่นระดับ (Split Level) เพราะลักษณะของพื้นที่ใช้สอยภายในจะลดหลั่นกัน เนื่องจากการเทพื้นจะมีการเหลื่อมของพื้นที่เป็นการแบ่งฟังก์ชันอย่างเป็นสัดส่วน โดยไม่มีพื้นเพดานหรือผนังปิดทึบจึงไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด และใช้บันไดเป็นตัวเชื่อมระหว่างพื้นที่ สร้างช่องว่างใจกลางอาคารให้แสงและอากาศไหลเวียนภายใน ลดข้อจำกัดเรื่องแสงของบ้านหน้าแคบได้ดี นอกจากในเรื่องการใช้งานแล้ว บ้านเล่นระดับยังทำให้บ้านมีลูกเล่น เติมมิติของพื้นที่ใช้งานให้ดูน่าสนใจกว่าการวางระดับพื้นในระนาบเดียวกัน
|
แปลนบ้าน