เมนู

บ้านญี่ปุ่นความงามที่ฉาบพลังสงบปนสุข

บ้านสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านสไตล์ญี่ปุ่นปนกลิ่นโมเดิร์น

Kengo Kuma สถาปนิกชาวญี่ปุ่นวัย 65 ปี ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งงานไม้ สุนทรียะ และแสง สถาปัตยกรรมที่ผ่านมือเขาดึงดูดความสนใจของผู้ที่ผ่านมาพบเห็นเสมอ สำนักงาน Kengo Kuma Associates ของเขามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วโลกตั้งแต่ที่พักอาศัยส่วนตัว ศาลเจ้าอันเงียบสงบ ไปจนถึงห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และร้านค้าปลีกที่สวยงาม เช่น Starbucks ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในโตเกียว (ปี 2019) และ Victoria & Albert Dundee พิพิธภัณฑ์การออกแบบแห่งแรกของสกอตแลนด์ (ปี 2018) ก็เป็นตัวอย่างผลงานขนาดใหญ่ใหม่ล่าสุดของ Kuma สำหรับ Water Cherry Houseนี้ เป็นโปรเจ็คที่เล็ก (กว่าที่อื่น ๆ) Kuma ออกแบบในสไตล์ญี่ปุ่นผสมกับความโมเดิร์นในบางมุม และปลดปล่อยพลังของความงามเรียบง่ายท่ามกลางความร่มรื่นเงียบสงบได้อย่างน่ามหัศจรรย์

ออกแบบKENGO KUMA
ภาพถ่ายFrederic Ducout Photography
เนื้อหาบ้านไอเดีย

สำนักงานสถาปนิกในญี่ปุ่น

บ้านสองบุคลิกดึงดั้งเดิมผสมโมเดิร์น

Water Cherry House วิลล่าที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติริมชายฝั่งใกล้กับโตเกียว สร้างบนเนื้อที่ขนาดใหญ่ถึง 3.3 ไร่ เป็นตัวอย่างที่แสดงออกถึงสมบูรณ์แบบของการออกแบบที่เหนือกาลเวลา และการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร้รอยต่อ ดีไซน์และวัสดุที่พยายามสร้างความกลมกลืนที่เห็นได้ชัดในการนำสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมมาตีโจทย์ใหม่ให้ดูทันสมัย ภาพรวมของบ้านจึงมีทั้งสองบุคลิกรวมอยู่ด้วยกันอย่างงดงามและลงตัว ไม่มีอะไรต้องเพิ่มเติมเข้ามา ไม่ต้องหยิบจับตัดส่วนไหนออกไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมสถาปนิกรุ่นใหม่ ๆ ในญี่ปุ่นและต่างประเทศจึงเคารพคุมะมาก

บ้านสไตล์รีสอร์ทญี่ปุ่น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่


สวนและสวนน้ำสไตล์ญี่ปุ่น

แรงบันดาลใจในการสร้างบ้านรูปแบบนี้ มาจากเจ้าของบ้านที่หลงรักพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Nakagawa-machi Bato Hiroshige ซึ่งอุทิศให้กับศิลปิน Ukiyo-e Hiroshige Ando เป็นหนึ่งในผลงานที่ Kuma ออกแบบในปี 2000 จึงต้องการให้เขาออกแบบบ้านโดยใช้รูปแบบอาคารนั้นเป็นต้นแบบ หลังจากตกผลึกทางความคิดแล้วจึงออกมาเป็นกลุ่มอาคารพื้นที่ใช้สอย 765 ตร.ม. มีทั้งอาคารชั้นเดียวและ 2 ชั้น เชื่อมต่อกัน มีทั้งหมด 8 ห้องนอน ดีไซน์กลิ่นอายญี่ปุ่นแต่ลดทอนรายละเอียดลงให้เรียบง่ายและคมชัดขึ้น วัสดุใช้ไม้เป็นองค์ประกอบหลักผสมกับงานเหล็กและกระจก ทุกห้องล้วนแล้วแต่มีขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งานของมนุษย์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความถ่อมตัวและสดชื่นเขียวขจี

บ่อปลาคาร์พขนาดใหญ่

สวนกรวดสไตล์ญี่ปุ่นระหว่างอาคาร

สวนและสระคือหัวใจของบ้าน

สถาปนิกให้ความสำคัญกับการจัดภูมิทัศน์รอบบ้านและใจกลางระหว่างกลุ่มอาคาร โดยจัดพื้นี่ว่างเป็นสวนสไตล์เอเชียในแบบฉบับของญี่ปุ่น ที่นำเอาวัฒนธรรมและปรัชญาแนวคิดแบบ Zen ทั้งสวนต้นไม้ สวนกรวด สวนน้ำและบ่อปลาคาร์พ สร้างองค์ประกอบของธรรมชาตในพื้นที่ขนาดใหญ่ ให้บ้านเป็นที่พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ เหมือนรีสอร์ทส่วนตัว ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะได้รับความสงบ รื่มรื่น และเย็นสบาย

บ้านสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ

เชื่อมธรรมชาติให้ยิ่งชิดใกล้

จากด้านหน้าเข้ามาจะเป็นอาคารชั้นเดียวหลังคาจั่วที่มีหลังคากันสาดรอบบ้านอีกชั้น เหมือนบ้านญี่ปุ่นโบราณแต่เปลี่ยนจากกระเบื้องเป็นแผ่นเหล็ก ระหว่างชุดอาคารข้างหน้ากับอาคารสองชั้นด้านหลังมีทางเดินคลุมหลังคานำทางเชื่อมต่อกับห้องต่างๆ ทุกย่างก้าวมีธรรมชาติเป็นเพื่อน ให้ค่อย ๆ ซึมซับสีเขียวของต้นไม้และความฉ่ำเย็นของน้ำก่อนถึงจุดหมาย ตัวอาคารใช้ไม้สีอ่อนหลายชนิด อาทิ ซีดาร์และไซเปรสที่ตีเป็นเส้น ๆ แนวตั้ง ทำให้เกิดพื้นผิวที่หลากหลาย ในขณะที่ให้แสงทางอ้อมส่องผ่านแผ่นไม้และผนังกระดาษสาที่ช่วยเพิ่มความสงบเรียบง่ายอีกชั้น ส่วนของผนังบ้านในอีกหลาย ๆ จุดใช้วัสดุโปร่งแสงอย่างกระจก และใส่ช่องเปิดขนาดใหญ่ เชื่อมคนให้เข้ากับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

ห้องนอนผสมผสานโมเดิร์นกับญี่ปุ่น

บ้านตกแต่งไม้เปิดผนังชมสวน

เอกลักษณ์ที่ตีความให้ใหม่ขึ้น

เอกลักษณ์ของการดีไซน์บ้านของชาวญี่ปุ่นที่ยังคงเห็นได้ในบ้านนี้มีอยู่ทั่วไป อาทิ การใช้ไม้ระแนงซีกเล็กๆ เรียงกันเป็นแผง การพื้นยกสูงจากพื้นดินประมาณ 30-60 cm เพื่อสร้างช่องว่างใต้พื้น (En-noshita) ลดความชื้น การปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ และประตูเลื่อนแบบโปร่งแสง หรือโชจิ ที่เป็นบานทำจากไม้ขัดแตะเป็นตารางหุ้มด้วยกระดาษสาสีขาวโปร่งแสง และชานบ้านที่ยื่นออกมาทำหน้าที่เป็นทางเดินด้วยในตัว

ห้องอาบน้ำผนังกระจกชมวิว

หนึ่งในวัฒนธรรมที่หลายๆ คนชื่นชอบ คือ ออนเซ็นแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม (อ่างอาบน้ำ) ที่เป็นหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้ด้วยเช่นกัน สถาปนิกออกแบบอ่างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีรางส่งน้ำร้อนเหมือนออนเซ็นตามสถานที่ธรรมชาติ กรุด้วยไม้ระแนงทั้งพื้น ผนัง และเพดาน ดูอบอุ่น ผนังเปิดกว้างเห็นทิวทัศน์สวนกรวดภายนอก ระหว่างแช่น้ำร้อนไปก็สามารถชมวิวไปได้อย่างเพลิดเพลิน

สวนน้ำญี่ปุ่นล้อมบ้าน

บันไดขึ้นสู่ชั้นสอง

บันไดขึ้นสู่ชั้นสอง

บริเวณชั้นสองจะเต็มไปด้วยพื้นที่เปิด เพื่อเชื่อมต่อมุมมองลงมายังสระและสวน ช่องว่างเหล่านี้นอกจากจะเอื้อให้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างบนมีโอกาสได้รับความสดชื่นจากทิวทัศน์ธรรมชาติแล้ว ยังเอื้อให้แสงและลมไหลเข้าไปสร้างความสบาย ลดความร้อนสะสมในอาคารได้ดีด้วย สำหรับพื้นที่ใช้ชีวิตชั้นบนจะเป็นห้องพักผ่อน ห้องดื่มชา ซึ่งจะพบการผสมผสานเส้นสาย วัสดุ ฟังก์ชัน และดีไซน์ที่ลดทอนรายละเอียดให้ดูทันสมัยชัดเจน ท่ามกลางของตกแต่งที่แทรกไว้ซึ่งการสื่อสารความเป็นญี่ปุ่นอย่างชัดเจนเช่นกัน

ห้องพักผ่อนชั้นสองเปิดผนังทุกด้าน

ห้องดื่มชาตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบไทยหรือญี่ปุ่น จะมีข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่คล้ายกันบางจุด อาทิ มีฤดูฝนที่ทำให้พื้นผิวดินชื้นหลายเดือน การสร้างบ้านที่ติดกับพื้นดินจึงไม่เหมาะ เพราะความชื้นจะทำให้พื้นบ้านเกิดเชื้อรา ผุพัง เสียหายได้ การยกพื้นขึ้นสักเล้กน้อย จะช่วยให้ลมไหลเข้าไปข้างใต้ลดความชื้น ช่วยให้บ้านแห้งเร็วขึ้นในฤดูฝน และบ้านเย็นขึ้นในฤดูร้อน

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด