กฎหมายรั้วบ้าน
ออกแบบรั้วบ้านให้ถูกต้อง รั้วบ้านดีมีมิตรกับชุมชน
รั้ว หรือกำแพงบ้าน เป็นส่วนกั้นขอบเขตของความเป็นส่วนตัว การออกแบบรั้วบ้านแต่ละหลังอาจให้รูปลักษณ์ สีสัน ที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นภายในหมู่บ้านจัดสรรที่มีการควบคุมความปลอดภัยดี หรืออยู่อาศัยในชุมชนที่ไม่ค่อยมีข่าวโจรกรรมมากนัก รั้วบ้านจะเน้นความปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสวยงามด้านภูมิทัศน์โดยรวมของชุมชนนั้น ๆ แต่หากสร้างบ้านไว้ในพื้นที่ชุมชนที่ดูแล้วไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก โดยส่วนมากนิยมออกแบบให้มีลักษณะทึบสูง เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยมากขึ้น แต่การออกแบบทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของข้อกฎหมาย เพื่อไม่ให้รั้วบ้านของเราไปส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของผู้คนรอบข้าง จะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง อ่านกันต่อเลยครับ
เนื้อหา | ภาพ : บ้านไอเดีย
กฎหมายรั้วบ้าน
- กรณีบ้านอยู่แปลงหัวมุมถนนสาธารณะ หากรั้วหรือกำแพงกั้นมีความกว้าง 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกำแพงกั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทำมุมกับแนวถนนสาธารณะเป็นมุมเท่า ๆ กัน กฏหมายข้อนี้ออกมาเพื่อให้เกิดการใช้ทางร่วม สามารถเลี้ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยเจ้าของที่ดินต้องเสียสละให้ชุมชนในการใช้งานแต่ที่ดินยังคงเป็นเจ้าของต่อไป จะว่าไปแล้วเจ้าของที่ดินก็ไม่ได้เสียเปรียบหรอกครับ อยู่อาศัยแปลงหัวมุม ได้ใช้ถนนถึง 2 ด้าน ได้เปรียบกว่าบ้านอื่นเยอะเลย
- รั้วหรือกำแพงบ้าน ให้มีความสูงได้ไม่เกิน 3 เมตร โดยนับจากระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ โดยจะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวทั้งด้านหน้า ด้านข้างและหลังบ้านครับ แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว รั้ว 3 เมตรนับว่าสูงมาก หากสูงมากไปบ้านจะดูอึดอัด อากาศไม่ถ่ายเทได้เช่นกันครับ
คำถามที่พบบ่อย
ถาม : แปลงที่ดินติดกับเพื่อนบ้าน สามารถใช้ที่ดินร่วมกันได้ไหม ?
- กรณีรั้วติดกับที่ดินเพื่อนบ้าน สามารถสร้างรั้วโดยใช้ที่ดินร่วมกันได้ อาจทำรั้วคร่อมหมุดโฉนดไว้ เจ้าของทั้ง 2 หลังจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หรือแม้แต่กรณีที่เราเป็นผู้มาอยู่หลัง หากเจ้าของที่ดินข้างเคียงสร้างรั้วบนที่ดินร่วมกันแล้ว ผู้เข้ามาอยู่ใหม่ก็สามารถใช้รั้วเดิมได้ทันที ยกเว้นจะไม่ถูกใจในรูปแบบรั้ว อาจนำแบบใหม่เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของรั้วเดิมเพื่อการปรับเปลี่ยน แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้เข้ามาอยู่ใหม่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดครับ มิเช่นนั้นก็ใช้รั้วเดิมต่อไป หรือทำรั้วใหม่บนที่ดินของผู้มาอยู่ใหม่เอง
ถาม : กรณีสร้างรั้วบนที่ดินตนเองทั้งหมด เพื่อนบ้านมีสิทธิ์ใช้ไหม ?
- สิทธิของรั้วบ้านในกรณีสร้างบนที่ดินส่วนตัวทั้งหมด จะเป็นสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน 100% เพื่อนบ้านสามารถใช้งานได้ แต่ไม่สามารถกระทำการใด ๆ บนรั้วบ้านได้ หากเพื่อนบ้านไม่ชื่นชอบรั้วดังกล่าว แก้ไขปัญหาโดยสร้างรั้วใหม่บนที่ดินตนเอง
ถาม : สร้างรั้วหลังสร้างบ้าน ต้องขออนุญาตหรือไม่ ?
- รั้วนับเป็นสิ่งปลูกสร้าง อาคาร กรณีรั้วหน้าบ้านติดถนนหรือที่ดินสาธารณะ ต้องทำการขออนุญาตครับ แต่หากเป็นรั้วข้างบ้าน ติดกับที่ดินเอกชน ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต
ถาม : กรณีที่ดินข้างรั้ว เป็นที่ดินสาธารณะ สร้างรั้วร่วมแบบที่ดินเอกชนได้ไหม ?
- กรณีเป็นที่ดินสาธารณะ ไม่สามารถสร้างล้ำเขตได้ เจ้าของบ้านต้องสร้างไว้บนที่ดินตนเองเท่านั้นครับ รวมทั้งไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ยื่นออกมานอกรั้วด้วย
Tip : รั้วบ้านที่ดี ควรออกแบบให้โปร่ง ไม่ทึบจนเกินไป ให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาได้ หลายท่านอาจเข้าใจว่าการออกแบบรั้วบ้านให้สูงทึบนั้นจะปลอดภัยจากการโจรกรรม แต่ในอีกมุมหนึ่งของรั้วทึบ เมื่อโจรปีนป่ายเข้าไปได้สำเร็จแล้ว รั้วที่เคยเป็นส่วนกั้นจะกลายเป็นจุดซ่อนตัว ช่วยให้โจรทำงานได้สะดวกขึ้น การมีเพื่อนบ้านไว้เป็นมิตรคอยสอดส่องดูแลให้แก่กันนับเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ หรือการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกัน เช่น สัญญาณนิรภัย, กล้องวงจรปิด และอุปกรณ์อื่น ๆ ช่วยป้องกันได้ดีกว่ารั้วที่สูงทึบครับ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้รั้วทึบ แนะนำให้ทำรั้วต้นไม้แซมไว้ จะช่วยให้รั้วบ้านดูผ่อนคลาย ไม่อึดอัดจนเกินไป ต้นไม้ที่ได้รับความนิยม เช่น ต้นโมก, ไทรเกาหลี, คริสติน่า, ชาฮกเกี้ยน, ไผ่ และอีกหลาย ๆ สายพันธุ์ กรณีที่เป็นรั้วโปร่งหากมีรั้วต้นไม้อีกชั้น ก็จะช่วยเรื่องความปลอดภัยและบ้านสวยเย็นอีกด้วยครับ
อ้างอิง : กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัณณัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522