เมนู

บ้านอิงกาย พักพิงใจในบั้นปลายของชีวิต by ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์

บ้านวัยเกษียณ

บ้านโมเดิร์นวัยเกษียณ 

ความคุ้นเคย มีจากการได้พบ เห็น หรือทำอะไรซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน หากต้องเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน บางครั้งความแปลกใหม่อาจจะทำให้รู้สึกแปลกแยก แม้สิ่งนั้นจะดีกว่าแต่กลับไม่มีความสุข “บ้าน” ก็เช่นเดียวกัน หลาย ๆ กรณีที่เห็นได้ชัดในผู้สูงวัยที่ติดสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ทำให้เมื่อต้องการปรับปรุงหรือสร้างใหม่ แล้วไม่มีความทรงจำเดิมเหลืออยู่เลย ก็ทำให้ยากต่อการปรับตัว สถาปนิกธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ ทราบตระหนักดีถึงจุดนี้จึงออกแบบบ้าน เพื่อให้เจ้าของที่เคยอยู่ในตึกแถวมาตลอด ด้วยการใส่ประสบการณ์เดิมเข้าไปในบางส่วน เพื่อผสมผสานความสบายใหม่ ๆ เข้ากับความรู้สึกที่คุ้นชิน

ออกแบบธีรชัย ลี้สุรพลานนท์
ภาพถ่ายรุ่งกิจ เจริญวัฒน์
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นวัสดุอิฐ

บ้านสัจจะวัสดุ ผสมเก่าในใหม่อย่างสมดุล

“สมดุลและผสมผสาน” (Balance & Blend) คือแนวความคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้ และเป็นหลักในการสร้างสรรค์ในบ้านทุก ๆ หลังที่สถาปนิกยึดเป็นหลักมาโดยตลอดโดยตลอด  สำหรับบ้านขนาด 420 ตร.ม ชื่อน่ารัก“ บ้านอิงกาย” (Lean House) ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคุณชำนาญ ชัชวาลยางกูร ชาวไทยเชื้อสายจีนอายุ 73 ปี ผู้ใช้เกือบทั้งชีวิตในอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น บริเวณตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ภายใต้บริบทของผนังที่ปิดล้อมทุกด้าน ประตูเหล็กและหน้าต่างเหล็กดัด ซึ่งการเปลี่ยนความคิดและความรู้สึกเพื่อปรับให้เข้ากับบริบทใหม่หมดย่อมเกิดความขัดเขิน ดังนั้นการออกแบบจึงคำนึงถึงความสมดุลและการผสานระหว่าง “Convention vs Science” หรือความรู้สึกปลอดภัยเหมือนที่เคยอยู่ในตึก และความสะดวกสบายของพื้นที่ชีวิตใหม่ ๆ แบบเปิดโล่ง รวมไปถึงการหยิบจุดเด่นของสถาปัตยกรรมจีนเข้ากับไทยไปพร้อม ๆ กัน

บ้านวัสดุธรรมชาติ

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่


บ้านวัสดุธรรมชาติ

ที่ตั้งของบ้านอยู่บริเวณชานเมืองอ่างทอง ที่ยังคงแวดล้อมด้วยบรรยากาศแบบบ้าน ๆ ที่สงบและเป็นธรรมชาติ จึงเลือกวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น อาทิ คอนกรีต ไม้ เหล็ก และอิฐแดง มาประกอบเข้าด้วยกันแบบไม่ต้องเติมแต่งมากมาย แสดงเนื้อแท้ของพื้นผิววัสดุให้สะท้อนคุณค่าและความงามที่แท้จริงออกมา โดยข้อแม้ส่วนตัวว่า “จะไม่ใช้สีขาวกับงานภายนอกอาคารเลย เพื่อความกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์แบบชนบทรอบข้าง” ส่วนรูปลักษณ์อาคารเน้นรูปทรงและเส้นสายพื้นฐานเรียบง่ายชัดเจนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเส้น ระนาบแนวตั้งแนวนอน เส้นเฉียง จัดองค์ประกอบให้สมดุล พร้อม ๆ กับวางจังหวะช่องปิด-ช่องเปิด

โถงทางเข้าบ้าน

บ้านผู้สูงวัยใส่ฟังก์ชันโมเดิร์น

จากการเดินขึ้น-ลงบ้าน 4 ชั้น มาเป็นบ้านชั้นเดียวดีไซน์เรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยลูกเล่นของ Facade ที่ใช้อิฐ บ.ป.ก. วางสลับให้เกิดช่องว่างด้วยแพทเทิร์นเก๋ ๆ ที่นักออกแบบคิดเอง ซึ่งให้ประโยชน์กับบ้านหลายต่อ นอกจากจะช่วยลดทอนความทึบและหนักของผนัง ทำหน้าที่ช่องแสงช่องลมไปด้วยในตัวแล้ว ยังเป็นปราการให้บ้าน ด้านในซ้อนหน้าต่างบานเลื่อนกระจกใสบานใหญ่ กลายเป็นผนังสองชั้นเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยที่คุ้นเคยจากอาคารแบบเดิม

ทางลาดลงจากตัวบ้าน

ทางลาดหน้าบ้าน เชื่อมต่อกับโรงจอดรถโดยตรง ที่สามารถใช้กับวีลแชร์ขึ้น-ลงได้ในอนาคต วัสดุใช้งานเหล็ก ไม้ อิฐ สอดประสานกันอย่างมีจังหวะน่ามอง

เฉลียงกว้าง

นักออกแบบใส่ระดับความเป็นส่วนตัวของบ้านเป็นลำดับชั้นตามความสนิทสนมของผู้มาเยือน จากพื้นที่ต้อนรับโถงมุขหน้าบ้าน จะเชื่อมต่อเข้าไปยังโถงกึ่งโปร่งเป็นพื้นที่ Semi-private ซึ่งซ้อนถัดเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เพิ่มความซับซ้อนของการต้อนรับแขกจากไม่สนิท เข้าไปสู่หัวใจของบ้าน คือ “โถงกลางบ้าน” ที่เป็นโซน Private พื้นที่พิเศษสำหรับเพื่อนที่รู้ใจ

บ้านวัสดุธรรมชาติ

ช่องว่างระหว่างผนังและหลังคา

สถาปัตยกรรมไทยกลิ่นอายจีน

ไทย VS จีน สอดแทรกรายละเอียดรอยต่อไม้ที่ประยุกต์จากโครงสร้างไม้แบบจีน เก่าผสานใหม่ด้วยการใช้โครงสร้างไม้รับบีมเหล็กใส่ดีเทลตรงจุดที่เจอกัน ซึ่งคุณธีรชัยประยุกต์จากงานชาวบ้านที่ได้พบเห็นมาจึงเก็บมาเป็นแรงบันดาลใจในการดัดแปลงใช้งาน วางไม้กลอนที่เป็นแผ่นแบนขวางเสา ส่วนค้ำยันชายคาที่อยู่บนเสา เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมจีนมีชื่อเรียกว่า “โตว่กง” (斗拱:DOU GONG) แต่ลดทอนรายละเอียดให้มีความโมเดิร์นขึ้น


บ้านหลังคาเพิงหมาแหงน

บ้านยกพื้นให้ใต้ถุนโล่งระบายอากาศ สร้างพื้นที่เว้นว่างในอาคารตามแบบอย่างเรือนชาวบ้านที่พบเห็นทั่วไป รอบ ๆ บ้านโรยกรวดเเม่น้ำแทนลานดิน เพื่อให้เกิดเสียงดังเมื่อมีคนย่ำลงไปบนพื้นกรวด เป็นอีกหนึ่งสัญญาณป้องกันภัยที่นำจุดเด่นของธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบ้าน

บ้านยกสูงจากพื้น

เพิ่มลอยลดหนัก ปิดแต่เปิดโปร่ง

“หนักแต่ลอย  ปิดแต่ต้อนรับ” คำนิยามของบ้านที่บรรยายให้เห็นถึงการวางสมดุลของบ้านได้อย่างชัดเจน ด้วยลักษณะโครงสร้างที่มีบางส่วนเป็นคอนกรีตบ้านจึงดูหนาหนักและแข็งกระด้าง ต้องใช้ไม้มาเป็นตัวช่วยลดทอนความกระด้าง และยกพื้นบ้านขึ้นสูงให้ลมลอดผ่านได้ดี และใช้กระจกกับอิฐ บล็อกช่องลมที่มีช่องว่างเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเติมความโปร่ง เบา ทำให้บ้านที่ดูปิดเป็นส่วนตัวยังคงมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้และให้ความรู้สึกเป็นมิตร สถาปนิกใส่พื้นที่ใช้งานน่ารัก ๆ เข้าไปเป็นระเบียงน้อยที่ยื่นออกมาจากอาคาร ให้เจ้าของบ้านออกมาซึมซับบรรยากาศในวันว่าง

ระเบียงและชานเล็กๆ

บ้านคอนกรีตผสมอิฐ

ผนังติดช่องลมโปร่ง ๆ

ช่องใต้อาคารปิดด้วยตะแกรงเหล็กฉีก สถาปนิกตั้งใจเลือกแบบที่บางที่สุดและทาสีดำเพื่อพรางตา และเพื่อประหยัดงบประมาณ หากมองจากด้านนอกจะดูโล่ง ๆ เหมือนไม่ได้ปิด

บ้านยกพื้นสูง

โถงกลางบ้าน

ห้องโถง “อิงกาย” สบายเพราะเปิดโปร่ง

แม้ว่าเจ้าของบ้านจะมีความอาวุโสอยู่มาก แต่ยินดีต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ เป็นคนรุ่นก่อนที่ทันสมัย ทั้งนี้ในฐานะคนไทยเชื้อสายจีนก็ยังไม่มองข้ามความเชื่อในฮวงจุ้ย ที่ใช้เป็นหลักประกอบการวางแนวของบ้านในขอบเขตที่ค่อนข้างกว้าง รวมไปถึงทิศทางการหันหน้าบ้านและที่ตั้งของห้องนอนหลักด้วย นอกจากนี้สถาปนิกยังใช้ข้อมูลภูมิอากาศและการวิเคราะห์ของพื้นที่ เพื่อวางตำแห่นงโถงกลางซึ่งเป็นหัวใจของบ้าน โดยให้หันหน้าไปทางทิศใต้ที่มุมมองที่ดีที่สุดของบริเวณนี้เพื่อจะสามารถชมวิวและรับความสดชื่นจากต้นยางใหญ่ได้เต็มที่นี่ ผนังห้องโถงที่เปิดได้กว้างเปิดระบายอากาศและให้ความสะดวกเติมความสบายในมุมพัก “อิงกาย” แบบที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเมื่ออยู่ในอาคารพาณิชย์

โต๊ะทานอาหารไม้ฉำฉา

ผนังติดช่องลมทั้งผืน

เว้นจังหวะช่องเปิดได้อย่างสมดุล ทำให้เกิดความสวยงามและคล้องจองกัน พร้อมๆ กับใส่ฟังก์ชันที่บ้านต้องการ

ช่องแสงเล็กๆ ที่รายล้อมอยู่ทั่วบ้านและช่องแสง skylight เป็นการเปิดโอกาสให้แสงเดินทางผ่านเข้า เกิดเป็นมิติของแสงและเงาตกกระทบลงบนระนาบภายในของสถาปัตยกรรม ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาของวัน สร้างคุณค่าให้แก่ที่ว่างภายในด้วยพลังธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้วัสดุหรูหราราคาแพง

จัดแสงไฟในบ้าน

นอกจากการใส่ความพิถีพิถันลงในทุก ๆ รายละเอียดภายนอกภายในแล้ว สิ่งที่ทำให้บ้านยิ่งพิเศษขึ้นไปอีกระดับคือการจัดเรื่องของแสงด้วย ทำให้ยามค่ำคืนตัวบ้านมีมิติที่แตกต่างไปจากช่วงกลางวันอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้ที่นี่เป็นบ้านสำหรับพักใจอิงกาย เติมเต็มความสมบูรณ์ในบั้นปลายของชีวิตอย่างมีความสุข

แปลนบ้าน

http://credit-n.ru/blog-listing.html http://www.tb-credit.ru/articles.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด