เมนู

วัสดุป้องกันความร้อน จากพื้นบ้านจรดหลังคา

วัสดุป้องกันความร้อน

รวมเรื่องวัสดุก่อสร้าง สร้างบ้านเย็นอย่างมืออาชีพ

เดือนเมษายนปีนี้อากาศทวีความร้อนรุนแรง และมีแนวโน้มจะเพิ่มระดับความร้อนสูงขึ้นกว่าเดิม การแก้ปัญหาด้วยเครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่ครั้นจะมารอแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเรื่องโลกร้อนเพียงอย่างเดียว ก็ดูเหมือนจะไม่ทันการ และได้ผลช้า การแก้ปัญหาที่ดีจึงควรเริ่มทำไปพร้อม ๆ กัน ทุก ๆ ด้าน จากบทความก่อนหน้านี้ “บ้านไอเดีย“​ ได้นำเสนอเทคนิคการสร้างบ้านเย็น ด้วยการคำนวณทิศทาง ลม แสงแดด และทริปต่าง ๆ เพื่อให้บ้านที่เราอยู่อาศัยสอดคล้องกับหลักธรรมชาติ สำหรับวันนี้เป็นบทความต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องราวของวัสดุกันความร้อนกันแบบครบเครื่อง จากพื้นบ้านจรดหลังคาเลยครับ

อ่านตอนแรก : สร้างบ้านเย็นเป็นสุข

วัสดุป้องกันความร้อน สร้างบ้านเย็น

หลังคาบ้าน : หลังคาเป็นส่วนที่รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากที่สุด การเลือกซื้อหลังคาที่มีคุณสมบัติสะท้อนรังสีความร้อนและไม่อมความร้อน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ในด่านแรก นอกจากนี้แล้วการออกแบบหลังคาในลักษณะที่สูงโปร่งก็สามารถลดอัตราการเก็บสะสมความร้อนภายในได้เช่นกัน หากต้องการให้บ้านเย็นควรหลีกเลี่ยงหลักคาประเภทเมทัลชีทเพราะโลหะจะนำความร้อนได้ดีกว่าวัสดุอื่น ๆ

แผ่นฉนวนสะท้อนความร้อน :  เป็นแผ่นที่ติดใต้แผ่นกระเบื้องหลังคาคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนที่เข้าผ่านหลังคา สะท้อนออกสู่ภายนอก ไม่เข้ามาสะสมพื้นที่ใต้หลังคา แผ่นสะท้อนความร้อนจะติดตั้งพร้อมกับหลังคา จึงเหมาะกับบ้านสร้างใหม่ ทั้งนี้แผ่นสะท้อนความร้อนมีอายุการใช้งานอย่างจำกัด เมื่อใช้ไปนาน ๆ คุณสมบัติของแผ่นสะท้อนอาจลดลงไปได้ หากบ้านไหนเคยติดตั้งไว้นานแล้ว ลองตรวจเช็คกันดูว่าแผ่นฉนวนที่ใช้อยู่นั้น ยังสามารถสะท้อนความร้อนได้อีกหรือไม่

แผ่นฉนวนกันความร้อน : แม้แผ่นสะท้อนความร้อนจะป้องกันความร้อนเข้าสู่บ้านได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แค่ช่วยให้ความร้อนเบาบางลงเท่านั้น แผ่นฉนวนกันความร้อนจึงเป็นอีกส่วนที่จะเป็นเกราะป้องกันความร้อนเข้าสู่ฝ้าเพดานของบ้าน โดยแผ่นดังกล่าวใช้ในการติดตั้งบนฝ้าเพดาน สามารถติดตั้งเพิ่มได้โดยทันที จึงเหมาะกับนำมาใช้ทั้งบ้านเก่าและบ้านใหม่ครับ

*ทั้งนี้ ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ควรเลือกแบบไหนดี ? โดยปกติแล้วหากเป็นบ้านสร้างขาย บ้านโครงการ มักลดต้นทุนการสร้าง ทางโครงการอาจระบุไว้ว่า ได้มีการติดตั้งฉนวนกันความร้อน แต่ส่วนใหญ่จะติดตั้งกันเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพลดลงมา กรณีที่สร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง แนะนำให้ติดตั้งทั้งสองชนิดครับ ซึ่งช่วยป้องกันได้ดีกว่าและคุ้มค่าต่อการลงทุนอย่างแน่นอน

ฉนวนกันความร้อน ผนังป้องกันความร้อน

ฝ้าชายคา : วัสดุดังกล่าวมักเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม สำหรับฝ้าชายคาในอดีต นิยมใช้แผ่นสมาร์ชบอร์ดแบบปิดทึบ ซึ่งจะทำให้ความร้อนใต้โถงหลังคาถูกปิดขัง ระบายออกได้ช้า ปัจจุบันฝ้าชายคารุ่นใหม่ มีการฉลุลาย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก การออกแบบดังกล่าวนี้หากให้ได้คุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ควรสร้างบ้านโดยการใช้หลักการทิศทางลม ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายเถอากาศได้ดี [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม]

ผนังกันความร้อน :  เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากการออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติด้านทิศทางลมและแสงแดดไปแล้ว เราจะทราบได้โดยทันทีว่า ด้านที่ร้อนมากที่สุด เป็นทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งพระอาทิตย์จะส่องตรงเข้าสู่ทิศนี้ตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงยามเย็น เพราะฉะนั้นเพื่อการป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดี ผนังบ้านฝั่งทิศตะวันตกและทิศใต้จึงควรติดตั้งฉนวนกันความร้อน บริเวณรอบบ้านควรมีไม้ยืนต้นช่วยกรองแสงแดด นอกจากนี้การเลือกวัสดุในการก่อผนังช่วยลดความร้อนได้เช่นกัน กรณีก่ออิฐมอญแดงแนะนำให้ก่ออิฐ 2 ชั้นในด้านดังกล่าว จะช่วยกันความร้อนได้ดีมากครับ

พัดลมระบายอากาศ : ภายในห้องพื้นที่แคบ อุดอู้ ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น ภายในห้องน้ำ ความร้อนจะสมสมสูงมาก การติดตั้งพัดลมระบายอากาศ สามารถช่วยได้ในระดับที่ดีมาก ตรงส่วนนี้เป็นการลงทุนน้อย ๆ แต่คุ้มค่า เนื่องด้วยห้องน้ำ เป็นส่วนสำคัญต่อชีวิตประจำวัน บางบ้านร้อนมาก อาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ เหงื่อก็แตก ติดพัดลมระบายอากาศช่วยแก้ปัญหาได้แน่นอนครับ

พื้นบ้าน : การเลือกวัสดุพื้นบ้าน เป็นส่วนสำคัญที่ลดการอมความร้อนได้เป็นอย่างดี วัสดุแต่ละประเภทให้อุณหภูมิที่แตกต่างกัน มีคุณสมบัติในการอมความร้อนที่แตกต่างกัน อาทิเช่น วัสดุพื้นคอนกรีต มีคุณสมบัติอมความร้อนสูงกว่าวัสดุประเภทไม้ การเลือกซื้อวัสดุปูพื้น จึงควรต้องศึกษารายละเอียดให้มากเป็นพิเศษ อีกทั้งความเย็นของพื้น ยังเป็นส่วนสัมผัสโดยตรงจากฝ่าเท้า หากพื้นเย็น ร่างกายก็เย็นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

อิฐตัวหนอน บล็อกพื้นปูหญ้า

พื้นรอบบ้าน : บ้านชนบทในอดีต บริเวณรอบบ้านส่วนใหญ่เป็นพื้นดินและสนามหญ้า แต่บ้านในเมืองยุคใหม่ นิยมใช้พื้นคอนกรีต ทั้งรูปแบบเทคอนกรีตทั่วไป คอนกรีตพิมพ์ลาย วัสดุเหล่านี้มีคุณสมบัติสะสมความร้อนสูง แตกต่างจากพื้นดิน พื้นหญ้า ซึ่งสามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า ทั้งนี้ดินและสนามหญ้า อาจเป็นปัญหาด้านความเปียกแฉะในหน้าฝน การแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ อาจเลือกวัสดุประเภท พื้นอิฐตัวหนอน บล็อกปูหญ้า แผ่นพื้นทางเดินสำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากวัสดุประเภทดังกล่าวนี้ มีช่องว่างระหว่างช่วงรอยต่อ และสามารถเว้นระยะการปูพื้นสลับกับสนามหญ้าได้โดยง่าย ทำให้การสะสมความร้อนลดน้อยลงไปมากกว่าการเทพื้นคอนกรีตทั้งหมด

จบกันไปสำหรับวัสดุป้องกันความร้อน ท่านใดกำลังสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน อย่าลืมมองข้ามวัสดุเหล่านี้ แน่นอนว่างบในการสร้างบ้านย่อมสูงขึ้น แต่สิ่งที่ได้มานั้น เกินความคุ้มค่า เพราะจะช่วยลดค่าไฟฟ้าในการเปิดแอร์ ช่วยให้เครื่องปรับอากาศทำงานเบาลง อายุการใช้งานนานขึ้น บางบ้านป้องกันทุกจุดใช้ร่วมกับเทคนิคการสร้างบ้านเย็นที่เคยนำมาให้อ่านกัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศเลยก็มีครับ อากาศเย็นลง ช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดใจร้อน ทำให้ผู้อยู่อาศัย มีความสุขมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ การลดพลังงาน ย่อมส่งผลระยะยาวของปรากฏการณ์โลกร้อนให้เบาบางลงไปได้ในอนาคต มาร่วมด้วยช่วยกัน ประหยัดพลังงาน ปลูกต้นไม้กันเยอะๆ นะครับ

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์ http://credit-n.ru/informacija.html http://www.tb-credit.ru/return.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด