สร้างบ้านเย็น
การออกแบบบ้าน ให้เย็นสบายประหยัดค่าไฟตลอดทั้งปี
เข้าสู่หน้าร้อนอย่างสมบูรณ์แบบ บางจังหวัดอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา อีกทั้งยังได้ข่าวมาว่า ความแห้งแล้งปีนี้จะยาวนานและรุนแรงกว่าทุกๆ ปี ซึ่งตรงกับคำบอกกล่าวของชาวบ้านแถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ที่ได้เล่าให้แอดมินฟังว่า ปีนี้ดอกทองกวาวบานเยอะ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า หน้าแล้งกำลังมาเยือนแล้วในไม่ช้า คงได้นั่งปาดเหงื่อคอแห้งกันอย่างถ้วนหน้า “บ้านไอเดีย” จึงขอต้อนรับฤดูร้อนกันด้วยเกร็ดความรู้ ที่ช่วยบรรเทาความร้อนได้เป็นอย่างยั่งยืน กับการออกแบบบ้านที่มุ่งเน้นการนำคุณค่าของธรรมชาติ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ และเข้าใจซึ่งกันและกัน
อ่านตอนที่ 2 : วัสดุป้องกันความร้อน
จุดเริ่มต้นของข้อมูลที่ได้เรียบเรียงมานี้ นานมาแล้วแอดมินได้มีโอกาสเยี่ยมชมบ้านหลังหนึ่งในช่วงฤดูร้อน ซึ่งก่อนจะเข้าบ้านเหงื่อไหลจนเริ่มมีกลิ่นตัว แต่เมื่อเข้ามาภายในบ้าน ความเย็นค่อยๆสัมผัสที่ผิวกาย ความสบายเนื้อสบายตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แรกเริ่มเข้าใจว่าภายในบ้านคงเปิดแอร์ จึงพยายามกวาดสายตามองหาเครื่องปรับอากาศ แต่แล้วก็หาไม่เจอ คิดในใจเค้าคงออกแบบซ่อนแอร์ไว้เพื่อความสวยงามมาอย่างแน่ๆ แต่เมื่อนั่งไปได้สักระยะ ความเย็นที่สัมผัสได้นั้นเป็นความเย็นที่ได้จากธรรมชาติมากกว่าความเย็นจากแอร์ จึงเอ่ยปากถามเจ้าของบ้าน ผลที่ได้คือ บ้านหลังนั้นไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศเลยแม้แต่เครื่องเดียว จึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้อยากรู้ อยากเห็น อยากทำเป็น วันนี้จึงขอนำข้อมูลมาสรุปรวมให้อ่านกัน โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อด้วยกัน ดังต่อไปนี้
ความร้อนจากภายนอกอาคาร
ขอเริ่มกันที่ภายนอก เนื่องจากสามารถทำได้ทันทีทุกบ้าน ทั้งบ้านเก่า บ้านใหม่ บ้านที่กำลังสร้าง ความร้อนโดยปกติจะมาจากผ่านแสงแดด สิ่งสำคัญชั้นแรกคือการป้องกันหรือกรองแสง ที่ดีที่สุดก็คือ การปลูกต้นไม้ ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ปลูกต้นไม้เนี่ยนะเขาก็รู้กันนานแล้วมาบอกทำไม ก็อาจจริงว่ารู้กันนานแล้ว คำถามมีอยู่ว่า แล้วเมื่อไหร่จะเริ่มปลูกกัน ? ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ต้นไม้เป็นสิ่งจำเป็นที่สามารถช่วยให้บ้านเย็นสบายได้จริง แต่จะปลูกมั่วก็อาจไม่ดีนัก โดยจุดสำคัญคือเลือกปลูกในตำแหน่งที่แสงอาทิตย์สาดส่อง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก และทิศใต้ ในทิศดังกล่าวเน้นเป็นไม้ยืนต้น อีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญคือไม้คลุมดิน เช่นหญ้า ไม้ลักษณะกอ ไม้คลุมดินปลูกไว้เพื่อป้องกันการรับแสงอาทิตย์โดยตรง ซึ่งพืชคลุมดินช่วยลดอุณหภูมิจากพื้นดินได้เป็นอย่างดี
กรณีบ้านฝั่งทิศตะวันตก และทิศใต้ ไม่สามารถปลูกต้นไม้เพื่อให้บดบังแสงได้ อาจใช้วิธีการต่อเติมระแนง เพื่อกรองแสงได้ระดับหนึ่ง และหากปลูกไม้เลื้อยเพิ่มไปแล้ว ยิ่งสามารถช่วยป้องกันแสงอาทิตย์โดยตรงได้เป็นอย่างดี วิธีนี้เหมาะกับบ้านในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด หรือบ้านที่สามารถปลูกต้นไม้ได้ ก็อาจต่อเติมระแนงเพิ่มด้วยได้เช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว บริเวณรอบตัวบ้าน หากให้ดี ควรลดพื้นที่ที่เป็นพื้นคอนกรีตให้เหลือน้อยที่สุด เนื่องจากคอนกรีตเป็นแหล่งสะสมความร้อน สังเกตุได้ว่า บ้านในอดีตมีแต่พื้นดิน ความร้อนจึงไม่มากเท่ากับบ้านในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะบ้านในตัวเมือง กรณีที่รอบบ้านได้เทพื้นคอนกรีตไปแล้ว อาจปลูกไม้กระถาง ก็สามารถป้องกันความร้อนโดยตรงได้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับพืชคลุมดินก็ตาม
ผังอาคาร โครงสร้างบ้าน
“ชีวิตที่ดี ควรเป็นชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติเสมอ” การออกแบบผังบ้านก็เช่นเดียวกัน หากเข้าใจธรรมชาติ ก็สามารถนำคุณค่าของธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ให้บ้านของเราได้สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆของธรรมชาติ ในหัวข้อที่ผ่านมา เราทราบกันดีแล้วว่า แสงจากดวงอาทิตย์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความร้อนจากภายนอก เพราะฉะนั้นการออกแบบผังบ้าน ไม่ควรหันขวางดวงอาทิตย์ อาทิเช่น หากผังบ้านมีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้หันด้านยาวไปแนวทิศเหนือและใต้เป็นหลัก เพื่อให้บ้านรับความร้อนจากแสงอาทิตย์น้อยที่สุด และรับลมได้ดีที่สุดนั่นเอง แต่หากผังบ้านดังกล่าว มีความจำเป็นไม่สามารถหันในทิศทางที่สอดคล้องได้ ให้นำเทคนิคดังกล่าว เลือกวางตำแหน่งห้องภายใน เช่น ห้องนอน เป็นห้องสำหรับพักผ่อน และใช้ระยะเวลานานที่สุดในการอยู่อาศัย ควรจัดห้องนอนให้อยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก เพื่อห้องนอนจะได้มีอากาศเย็นที่สุดในบ้านนั่นเอง ทั้งนี้อาจต้องสำรวจดูว่าปกติแล้วเราใช้ห้องไหนมากที่สุดเพราะแต่ละบ้านอาจใช้งานมากน้อยแตกต่างกัน
การกำหนดทิศทางลม เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยถ่ายเทความร้อนภายในบ้าน และเปิดรับอากาศใหม่จากภายนอก บ้านที่ดี จึงควรออกแบบให้โปร่ง มีช่องรับลม ไม่ให้มีมุมที่ปิดกั้นลม โดยทิศทางลมจะแปรผันตามสภาพอากาศของแต่ละฤดูกาล โดย เดือนกุมภาพันธ์ ถึงตุลาคมโดยประมาณ กระแสลมจะมาทางทิศใต้ และช่วงตุลาคมถึงเดือนมกราคม กระแสลมจะมาทางทิศเหนือ ซึ่งจะสอดคล้องกับการวางผังบ้านที่ให้ด้านยาว หันไปทางทิศเหนือและใต้พอดี นอกจากนี้แล้ว การออกแบบยังสามารถเปลี่ยนทิศทางลมให้หมุนเวียนได้เช่นกัน อาทิเช่น การปลูกต้นไม้ เพื่อให้ลมไหลไปตามทางที่กำหนดไว้
วัสดุป้องกันความร้อน
ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตวัสดุก่อสร้าง ได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้น หลายองค์กรจึงเลือกที่จะออกแบบวัสดุต่างๆ ให้สามารถป้องกันความร้อนได้ อาทิเช่น แผ่นฉนวนกันความร้อน ผนังกันความร้อน การต่อเติมระแนง ฟิมล์มติดกระจก เป็นต้น วัสดุดังกล่าว มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยป้องกัน สะท้อนความร้อนออกจากตัวบ้านได้ ซึ่งจะขอแยกรายละเอียดดังกล่าวนี้ไว้ในบทความถัดไปมาให้อ่านกันอีกครั้ง (อ่านบทความถัดไป วัสดุป้องกันความร้อน)
แม้กระบวนการดังกล่าว อาจจะไม่ได้ทำให้บ้านเย็นสบายเทียบเท่าการเปิดเครื่องปรับอากาศให้เย็นฉ่ำ แต่ก็ช่วยให้ผู้อยู่อาศัย อยู่ได้อย่างสบายโดยไม่รู้สึกว่าร้อนมากนัก หรือหากบ้านหลังดังกล่าวติดตั้งเครื่องปรับอากาศด้วย ก็ย่อมส่งผลให้ค่าไฟประหยัดลงไปมากกว่าบ้านที่ไม่ได้มีกระบวนการป้องกันใดๆอย่างแน่นอน ขั้นตอนเหล่านี้ เป็นวิธีการที่เราสามารถทำกันได้ทุกหลัง จงเลือกเอาว่า ยอมเหนื่อยลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่ได้อาศัยอยู่ภายในบ้านที่อากาศสบายไปตลอด กับขี้เกียจแล้วเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ แล้วค่อยหลอกตนเองไปว่า อากาศภายนอกไม่ได้ร้อนเลย ก็อยู่ที่จะเลือกปฏิบัติกันนะครับ ^_^
อ่านตอนที่ 2 : วัสดุป้องกันความร้อน
ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์ http://www.tb-credit.ru/znk.html