สร้างบ้านสองชั้นสไตล์โมเดิร์น
เวลาที่อยู่ในบ้านหรืออาคารที่เพดานต่ำ ผู้อ่านรู้สึกเป็นอย่างไร มีความอึดอัดเหมือนหายใจไม่ทั่วท้อง ไม่สะดวกหรือเปล่า เหตุผลนี่เองที่หลาย ๆ บ้านตัดสินใจแจ้งสถาปนิกให้ออกแบบบ้านที่มีเพดานสูง หรือมี Double Volume ที่เปิดช่องโปร่งตั้งแต่พื้นจนเพดานชั้นสองแม้ต้องแลกมาด้วยค่าไฟที่แพงกว่าหรือต้นทุนการก่อสร้างที่สูงกว่า แต่เมื่อพิจารณาด้านความรู้สึกในทุก ๆ วันแล้ว ก็ยังรู้สึกคุ้มค่ากว่าอยู่ดี
ออกแบบ : Kinoto
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านสองชั้นที่มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นอย่างชัดเจน แม้ในอดีตบ้านในญี่ปุ่นจะนิยมออกแบบให้เพดานต่ำ ไม่สูงมาก เนื่องด้วยภูมิอากาศที่ค่อนข้างหนาว จึงต้องการให้บ้านเก็บความอบอุ่นเอาไว้นาน ๆ แต่เมื่อยุคสมัยภายไปค่านิยมในการออกแบบบ้านให้สูงโปร่งเพิ่มมากขึ้น บ้านหลายหลังจึงมีพื้นที่ Double Volume ตรงจุดศูนย์กลางภายในบ้าน
เช่นเดียวกับบ้านสองชั้นหลังนี้ เส้นสาย รูปฟอร์มภายนอกที่มีความโมเดิร์น ยังคงเก็บความอ่อนโยนซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเอาไว้เป็นอย่างดีด้วยวัสดุธรรมชาติและโทนสีสว่าง
ผนังภายนอกบางส่วน กรุด้วยไม้สีน้ำตาลอมเหลืองผสมผสานกับหินกาบ สีแดง เหลืองและดำ ไม่เพียงแค่ช่วยในเรื่องการเติมเต็มมิติเท่านั้น หินที่มีความแข็งยังช่วยสร้างสมดุลให้บ้านสีนุ่ม ๆ ดูแข็งแกร่งและสง่างามขึ้นด้วย ประตูทางเข้าหลักใช้ประตูไม้บานทึบสีเดียวกับที่ใช้ตกแต่งผนัง ด้านข้างประตูมีการเปิดโปร่งด้วยกระจก สำหรับใช้เป็นทางผ่านของแสง แต่ไม่มีปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะได้ดีไซน์ให้มีผนังทึบภายในปกปิดพื้นที่พักผ่อนไว้อยู่แล้ว
เข้าสู่ใจกลางของบ้านที่เปิดกว้างด้วยฟังก์ชัน Double Volume ความสูงจากพื้นจรดเพดานบนชั้นสอง ทำให้พื้นที่ส่วนนี้กลายเป็นส่วนรวมของสมาชิกในครอบครัวไปโดยปริยาย ปูพื้นด้วยงานไม้ มีเสากลมตรงกลาง ทำให้บ้านสไตล์โมเดิร์นเข้าใกล้กับธรรมชาติขึ้นอีกนิด เฟอร์นิเจอร์เน้นใช้ที่เคลื่อนย้ายได้ง่าย ปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นในทุก ๆ สถานการณ์
ครัวที่อยู่ถัดไป รวมพื้นที่ทานอาหารกับทำอาหารไว้ด้วยกัน ผนังด้านข้างใช้กระจกใสและมีประตูกระจกกรอบไม้ ทำหน้าที่เชื่อมโยงสวนนอกบ้านเข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งภายในบ้าน เคาน์เตอร์ทำอาหารใช้งานไม้สีน้ำตาลแดง ความแตกต่างของเฉดสีที่เข้มขึ้นมา ทำให้ห้องไม่ดูจืดชืดจนเกินไป
ห้องอเนกประสงค์ ปูด้วยเสื่อทาทามิ ไว้สำหรับนั่งชงชา รับแขก
ทางเดินบนชั้นสองที่เชื่อมโยงฟากหนึ่งไปสู่ฟากหนึ่ง ขณะเดินก้าวผ่านจะมองเห็นมุมนั่งเล่นด้านล่าง เป็นการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ชั้นล่างกับชั้นบน ไม่ให้รู้สึกห่างเหินกันจนเกินไป และยังพูดคุยกันได้ไม่ลำบาก
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยยังคงเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของญี่ปุ่นเสมอ ห้องซักล้าง ห้องทำงานของคุณภรรยาถูกตกแต่งไว้อย่างเป็นสัดส่วน ซักผ้า รีดผ้า ทั้งยังมีมุมเล็ก ๆ ไว้ให้นั่งทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบได้โดยไม่มีใครมารบกวน ส่วนห้องเก็บของอื่น ๆ ได้เพิ่มความสะดวกในการจัดเก็บและหยิบใช้ด้วยชั้นวางของ พื้นที่แนวตั้งเป็นประโยชน์แก่บ้านหลังนี้มากทีเดียว
ห้องน้ำแยกโซนเปีก โซนแห้ง และมีห้องแต่งตัวใกล้ ๆ
ห้องนอนรอบล้อมด้วยระเบียงด้านข้าง ประตูกระจกบานเลื่อน ทำให้ภายในห้องดูโล่งกว้างยิ่งกว่าเดิม เตียงนอนไม้โครงเหล็กแสนเรียบง่าย กับเก้าอี้สีน้ำเงินแค่หนึ่งตัว ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ มากนัก พยายามตกแต่งให้ห้องนอนเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนอย่างแท้จริง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การดูแลหินกาบที่นำมากรุผนังตกแต่งบ้าน เมื่อระยะเวลาผ่านไปประมาณ 2 – 3 ปี สีของหินอาจเปลี่ยนหรือมีคราบสกปรกมาเกาะ ควรทาน้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่ จากนั้นทาทับด้วยน้ำยาเคลือบหินหรือน้ำยาเคลือบเงาหินอีกชั้น เพื่อให้หินสร้างความสวยงามให้กับบ้านตามเดิม |