เมนู

ล้านนามหานคร บ้านใต้ถุนสูง วิถีไทยในเมืองกรุง

บ้านล้านนาประยุกต์ บุกมาต๊ะต่อนยอนในเมืองกรุง

ถ้าเอ่ยถึง “ล้านนา” ใคร ๆ ก็คงคิดถึงจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย ที่มีศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็น คำพูดคำจา การแต่งกาย การอยู่การกิน ตลอดจนลักษณะทางสถาปัตยกรรม ที่เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นมีดอยเขียว ๆ เป็นฉากหลัง ในความรู้สึกของผู้มาเยือนจะสัมผัสได้ถึงความเป็นบ้านที่รุ่มรวยธรรมชาติและโอบล้อมด้วยความอบอุ่น สร้างความประทับใจได้เสมอ เหมือนเช่นบ้านของ คุณบุษณี-โนอาห์ เชฟเพิร์ด ในกรุงเทพฯ หลังนี้ ที่ยังคงกลิ่นอายความ Slow Life ในแบบล้านนาเอาไว้ได้ดี ในขณะเดียวกันก็ประยุกต์ดีไซน์และวัสดุบ้านให้มีความทันสมัย เพื่อให้ฟังก์ชันภายในบ้านสามารถตอบสนองลักษณะพื้นที่และลักษณะอากาศที่แตกต่างจากภาคเหนือ ให้คนในบ้านได้ใช้งานง่าย ๆ เต็มไปด้วยสภาวะสบายครับ

เจ้าของบ้าน : คุณบุษณี – โนอาห์ เชฟเพิร์ด
ออกแบบ | ก่อสร้าง : ชนกานต์ วงศ์วัฒนะ และศริชัย ศรีมิ่งขวัญชัย บริษัท บ้านไทยล้านนา จำกัด

บ้าน Modern-Tropical ในกรุงเทพ

บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล จำลองเมืองเหนือมาใส่ข้างใน

บนพื้นที่ 84 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยประมาณ 142 ตารางเมตร เป็นผลงานการออกแบบโดยคุณชนกานต์ วงศ์วัฒนะ และคุณศริชัย ศรีมิ่งขวัญชัย จากบ้านไทยล้านนา ซึ่งเป็นสมาชิก “บ้านไอเดีย” และเราเคยแบ่งปันผลงานออกแบบ บ้านไม้โมเดิร์น ไปครั้งหนึ่งแล้ว สามารถคลิกชมรายละเอียดที่ภาพด้านล่างนี้ได้เลยครับ

มาครั้งนี้ก็ยังคงคอนเซ็ปต์บ้านไม้คล้ายเดิม เพิ่มเติมคือการใส่ฟังก์ชันและการจัดพื้นที่ใหม่ ๆ พร้อมรูปแบบการตกแต่งบ้านที่เก่าแต่เก๋ฝีมือของเจ้าของบ้านมาร่วมด้วย ภายในบ้านประกอบด้วย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำและ 1 ห้องฟิตเนส งบประมาณทั้งหมด 2.9 ล้านบาท (ไม่รวมตกแต่ง)

บ้านไม้ในเขตร้อน

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่

รั้วและประตูหน้าบ้านบ่งบอกขอบเขตดูอบอุ่นและมีเรื่องราว กำแพงสร้างจากอิฐมอญโบราณปั้นมือ เป็นอิฐใหม่ที่เจ้าของบ้านเลือกเองและสั่งลงมาจากเชียงใหม่ ส่วนประตูบานคู่โค้งสีฟ้าและชามสังคโลกเขียนลายปลา เก๋งจีนที่ประดับรอบ ๆ ทั้งหมดเป็นของเก่าที่เจ้าของบ้านสะสมเอาไว้ เมื่อมีโอกาสก็นำมาตกแต่งบ้านได้อย่างมีศิลปะ สำหรับสีเขียวของปูนที่รั้วและภายในบ้าน คุณชนกานต์อธิบายเป็นความรู้เพิ่มเติมว่า “สีที่ใช้จะเป็น Cement color คือผสมสีเข้าไปในเนื้อปูนเลยจะทำให้ได้อารมณ์ของ Texture มากกว่าการทาสีธรรมดาค่ะ”

สวนเล็ก ๆ ทางเข้าบ้าน

บ้าน Modern-Tropical

หากสังเกตจากอาคารแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบ้านและตึกหลายชั้น ทำให้บ้านล้านนาประยุกต์หลังนี้เหมือนอีกโลกหนึ่งซึ่งจำลองบรรยากาศจากเมืองเหนือเข้ามาเก็บไว้ในใจกลางกรุง โดยยึดคอนเซ็ปต์บ้านพื้นถิ่นเป็นหลัก ด้วยการทำอาคาร 2 ชั้นยกใต้ถุนสูง ใช้พื้นที่ใต้ถุนและชานระเบียงสำหรับพักผ่อนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ผสมผสานกับเส้นสายเรียบง่ายและวัสดุโมเดิร์น ซึ่งแนวความคิดในการออกแบบบ้านเป็นไปตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากได้บ้านที่มีกลิ่นอายไทย-ล้านนาแต่มีความทันสมัย และสามารถตั้งอยู่ในบริบทของสวนได้อย่างกลมกลืนตอบรับสภาพอากาศร้อนจัดของไทย

บ้าน Modern-Tropical

แนวคิดในการออกแบบอาคารและสเปซ

จากประตูบ้านย่างก้าวเข้าสูบริเวณบ้านจะเห็นตัวอาคารที่แสดงถึงอัตลักษณ์อันเป็นตัวตนของเจ้าของบ้านได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเจ้าของบ้านชื่นชอบสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอาย Tropical และเป็นคนรักต้นไม้ ดังนั้นระหว่างการก่อสร้างจึงไม่อนุญาตให้ตัดต้นไม้ภายในพื้นที่ ทีมงานแก้ไขปัญหาด้วยการตัดหลังคาด้านหน้าให้เป็นช่องล้อมให้ต้นไม้เติบโตได้

“ความโดดเด่นของบ้านหลังนี้นอกจากรูปทรงที่สวยงามแปลกตาจากอาคารโดยรอบแล้ว ยังมีความเป็นกันเองของ space โดยการเปิดพื้นที่เชื่อมต่อส่วนต่าง ๆ เช่น ส่วนทานอาหารกับบริเวณสวน  และห้องนั่งเล่นกับชานระเบียงด้านบน เสมือนภายในภายนอกเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเน้นการเข้าถึงธรรมชาติให้มากที่สุด และนอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุและโทนสีของบ้านอย่างโทนสีเขียวหม่นและไม้ ก็ช่วยส่งเสริมใภาพรวมให้เข้ากับบริบทธรรมชาติโดยรอบ และด้วยความที่เจ้าของบ้านทั้งคู่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว จึงนำของสะสมพื้นถิ่นที่ได้จากทั่วทุกมุมโลกมาเรียงร้อยเรื่องราวที่น่าสนใจในทุกจุดของบ้าน” คุณชนกานต์เล่าต่อ

บ้าน Modern-Tropical ในกรุงเทพ

ต้อนรับกลับบ้านด้วยบรรยากาศแบบ cozy แสนผ่อนคลายกับต้นไม้ น้ำ หิน กรวด และ “จ้อง” หรือ “ร่ม” ที่ให้กลิ่นอายเสน่ห์ของเมืองเหนือ

บ้านกึ่งปูนกึ่งไม้

ภาพจากภายนอกจะเห็นว่าตัวอาคารเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งไม้ครึ่งปูน  แต่จริง ๆ แล้วในโครงสร้างไม่ได้มีเพียงคอนกรีตและไม้ แต่ใส่วัสดุใหม่ ๆ อื่น ๆ เข้าไปด้วย

“โครงสร้างหลัก ๆ ของบ้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็ม Micro Pile ผนังก่ออิฐฉาบปูนและสกิมโค้ท (Skim Coat) หรือปูนฉาบแต่งผิวบางทับให้เรียบสวย ทำเสาลอยระเบียงด้านทิศตะวันออก-ตะวันตกจากโครงสร้างเหล็ก ส่วนระเบียงด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างไม้เนื้อแข็งแบบโชว์โครงสร้าง ส่วนหลังคาโครงสร้างเหล็กมุงด้วยเมทัลชีทบุฉนวน PE  พื้นบ้านใช้ไม้เนื้อแข็งตีเข้าลิ้น ฝาบ้านทำจากไม้สักตีบังใบกรุบนโครงเคร่าไม้  ทุกส่วนของบ้านรวมทั้ง ประตู-หน้าต่าง และวงกบเป็นไม้สักที่นำมาจากจังหวัดแพร่ ยกเว้นไม้พื้นและราวกันตกระเบียงที่ใช้ไม้เนื้อแข็ง ซึ่งมีระบบป้องกันปลวกจึงไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องปลวกกินไม้ให้บ้านเสียหาย”

เปลญวนนอนเล่นริมสระน้ำ

การออกแบบให้ตอบโจทย์เมืองร้อน ต้องใส่ใจเรื่องการออกแบบช่องเปิดเป็นพิเศษ เพราะต้องเน้นการระบายอากาศ ทีมงานจึงทำชั้นล่างให้โล่ง ในส่วนที่เป็นห้องก็ทำช่องลมขนาดใหญ่ บนชั้น 2 ออกแบบให้เปิดหน้าต่างและประตูได้กว้างให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้ถุนอาคาร สามารถระบายอากาศได้ดีตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังต้องใส่ใจกับการจัดภูมิทัศน์รอบ ๆ เพื่อช่วยให้บ้านเย็นขึ้น เช่น บริเวณที่ว่างจัดเป็นพื้นที่สีเขียวรายรอบ แนวของต้นไม้สูงทช่วยเป็นเกราะกำบังแสงแดด เมื่อความเย็นจากร่มไม้มารวมกับความสดชื่นจากไอเย็นของสระว่ายน้ำที่สร้างไว้ใกล้ ๆ กัน  ยิ่งทำให้บ้านโมเดิร์นทรอปิคอลเต็มไปด้วยสภาวะสบาย

บ้านมีใต้ถุน ศูนย์รวมกิจกรรมของบ้าน

ในชั้นล่างบริเวณถัดจากทางเข้าบ้าน เมื่อผ่านสวนเล็ก ๆ มาแล้วจะพบกับครัวไทยประยุกต์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ประตูทางเข้าเป็นครัวแบบเปิด บิวท์เคาน์เตอร์ปูนตามแนวผนังปูนเปลือยยาวเกือบ 3 เมตร มีฟังก์ชันเตาไฟฟ้า ซิงค์ล้าง ชั้นวางของ ตู้เก็บของด้านล่าง และพื้นที่เตรียมอาหารครบ ด้วยการออกแบบให้เปิดผนังรอบด้าน ทำให้อากาศหมุนเวียนได้ตลอดเวลา จึงสามารถทำอาหารกลิ่นฉุน หรือทำครัวหนักแบบไทย ๆ ได้สบาย ผนังปูนและเพดานปูนขัดมัน ใส่ความ Modern ลงไปในบ้านไม้สไตล์ไทย สร้างความขัดแย้งเพื่อให้เกิดความหลากหลายในพื้นที่เดียว

กระเบื้องพิมพ์ลายแบบโบราณสวยสะดุดตาที่ชั้นล่างบริเวณห้องครัวยาวไปถึงชานบ้านทั้งหมด

ในโซนครัวจะมีพื้นที่รับประทานอาหารที่วางต่อเนื่องกัน จากนั้นจึงเป็นชานโล่ง ๆ สำหรับนั่งเล่นเหมือนใต้ถุนบ้าน สามารถรับลมเย็น ๆ ได้ตลอดทั้งวัน

บันไดไม้ขึ้นชั้นบน

ชิงช้านั่งเล่นใต้ถุนบ้าน

บ้านสมัยก่อนที่มีใต้ถุนโล่งและค่อนข้างสูง ทำให้ลมพัดผ่านสบาย ๆ ผู้สูงวัยก็มักจะวางแคร่ตัวใหญ่เอาไว้นั่งคุยกัน ช่วยกันทำงานจักสาน ต้อนรับเพื่อนบ้านหรือทานข้าว ไม่เพียงเท่านั้นพื้นที่นี้เป็นศูนย์รวมความสนุกของเด็ก ๆ ที่จะมานั่งเล่นดินทราย หรือไม่ก็การนำเชือกและแผ่นไม้มามัดทำเป็นชิงช้าแกว่งไกวเล่นกัน ในบ้านนี้ก็เช่นเดียวกัน เจ้าของบ้านเพิ่มมุมสบายด้วยการแขวนชิงช้าตัวใหญ่เอาไว้ระหว่างเสาลอย ชวนให้นึกถึงความสนุกสนานในวัยเด็กได้เป็นอย่างดี

มุมนั่งเล่นใต้ถุนบ้าน

ในวันที่ไม่อยากไกวชิงช้าเล่น จะเลือกนอนในเปลญวนฟังเสียงโมบายจากไม้ไผ่ที่แขวนอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็เป็นอีกหนึ่งความสุขที่สร้างได้ง่าย ๆ แบบไม่ต้องออกไปหาซื้อ

ผนังบนชั้น 2 เปิดโล่ง

เคล็ดลับให้บ้านไม้อยู่สบายในเมืองร้อน

ตามขั้นบันไดไม้ขึ้นมาถึงชั้น 2 จะเห็นว่าทั้งพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน ทำจากไม้ทั้งหมด ในจุดนี้หลาย ๆ คนอาจจะมีคำถามว่าบ้านไม้ชั้นบนจะร้อนหรือไม่ คุณชนากานต์มีคำตอบพร้อมเคล็ดลับในการสร้างบ้านไม้แบบไม่ร้อนมากระซิบบอกกัน

“บ้านหลังนี้ใส่ฉนวนกันความร้อนตลอดพื้นที่หลังคา เพื่อช่วยชะลอความร้อนจากหลังคาลงสู่ตัวบ้าน เนื่องจากหลังคาค่อนข้างแบนตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่รับแสงได้มาก ส่วนชั้นบนที่เป็นไม้ เราใช้ไม้ปิดทับกับผนังปูนอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนและมีความคงทนระยะยาว และนอกจากนี้ชั้นบนมีระเบียงที่มีหน้าต่างยาวสามารถเปิดระบายอากาศได้ตลอดความยาวของตัวบ้าน ช่วยให้ระบายอากาศอบอ้าวได้ดียิ่งขึ้น”

บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล

ห้องนั่งเล่นกลิ่นสไตล์ไทย ๆ

การจัดวางส่วนใช้สอยต่าง ๆ ให้ตอบสนองการใช้งานของผู้อยู่อาศัย โดยให้พื้นที่ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกัน ประตูบานเฟี้ยมที่เก็บเข้าผนังได้หมดทำให้ห้องนั่งเล่นเปิดเชื่อมต่อกับระเบียง กลายเป็นพื้นที่ใช้งานที่โปร่งโล่งราวกับไร้ผนัง หน้าต่างบานเกล็ดไม้ที่อยู่ชั้นนอกทำหน้าที่เป็นฟาซาดช่วยกั้นกรองแสงและเพิ่มความเป็นส่วนตัวไปด้วยในตัว

ระเบียงเชื่อมต่อห้องนั่งเล่น

ระบียงกว้างบนชั้นสง

สิ่งที่ต่างไปจากบ้านไทยหรือบ้านล้านนาที่เราคุ้นเคยคือ การออกแบบระบบผนัง 2 ชั้น ผนังชั้นนอกเป็นหน้าต่างบานเกล็ด คั่นด้วยที่ว่างแล้วเป็นผนังบานเฟี้ยมชั้นใน วิธีการออกแบบลักษณะนี้จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า ในวันที่ไม่ต้องการแสงและลมมากก็เลือกปิดเฉพาะจุดได้ และยังตอบโจทย์สภาพความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ที่ยังต้องการความปลอดภัยสูงอยู่

ใส่เรื่องราวและตัวตนด้วยของสะสม

ในส่วนของการตกแต่งภายในสถาปนิกเลือกใช้วัสดุ ของตกแต่ง ที่มีกลิ่นอายไทย เช่น กระจกสีลายพิกุล และนำของเก่ามาประยุกต์ใช้ในบางส่วน อาทิ แผงกั้นส่วน shower ห้องอาบน้ำ หรือตารางไม้ติดผนังตรงเป็นช่องลมทางขึ้นบันได ทำให้บ้านดูมีเอกลักษณ์ที่แปลกตาไม่เหมือนใคร เพราะส่วนหนึ่งเป็นไอเดียและความชื่นชอบเฉพาะตัวของเจ้าของบ้านนั่นเอง

ห้องน้ำไทยประยุกต์

ห้องน้ำตกแต่งสไตล์ไทยประยุกต์ ที่รังสรรค์มาจากของเก่า ที่คุณบุษณีและโนอาห์เพียรหามาเป็นเจ้าของที่ละชิ้น ๆ ไม่ว่จะเป็นกรอบกระจก อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำทองเหลือง โต๊ะเคาน์เตอร์ทำจากจักรเก่า และฉากกั้นโซนเปียกโซนแห้ง ซึ่งเป็นของเก่าทำจากไม้จริงแล้วนำมาทำสีใหม่ ด้วยคุณสมบัติของไม้ที่ไม่ทนต่อความชื้น ทีมงานจึงเซ็ตตัวฉากกั้นให้ติดตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำที่สะสมบริเวณพื้น ส่วนเรื่องความชื้นจากน้ำที่กระเซ็นโดนโครงไม้นานๆ นั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบให้ไม้ผุพังได้ตามธรรมชาติ ซึ่งเจ้าของบ้านก็ยอมรับได้ในข้อจำกัดที่ว่านี้

ฉากกั้นกระจกสีเขียว

ในท้ายที่สุดของบทสนทนา เรามีข้อสงสัยที่ว่า การสร้างบ้านแบบเดียวกันในบริบทที่ต่างกันอย่างบริบทของเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ นั้นมีผลต่อการดีไซน์บ้านหรือไม่อย่างไร คุณชนากานต์ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ ต่างกันที่ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทัศนียภาพ ถ้าออกแบบที่เชียงใหม่ก็จะเน้นเปิดมุมมองไปที่ภูเขาหรือสิ่งแวดล้อมสวย ๆ แต่สำหรับกรุงเทพฯ เนื่องจากบริบทที่เป็นเมืองใหญ่และที่ดินค่อนข้างเล็ก เราจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เราต้องการเอง และเปิดมุมมองไปยังพื้นที่เหล่านั้นเพื่อให้สุนทรียภาพแก่ผู้อยู่อาศัย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งใหญ่ ๆ ก็ต้องออกแบบบ้านตามใจผู้อยู่ โดยที่เราก็จะแนะนำสิ่งดี ๆ เพื่อให้เจ้าของบ้านได้อยู่บ้านที่สวยและมีความสุขค่ะ”

โมเดลบ้าน

Modern-Tropical-House-Banthailanna-model-01

Modern-Tropical-House-Banthailanna-model-02

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด