บ้านสไตล์ทรอปิคอลร่วมสมัย
บ้านในอินเดียหลังนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวคิดของการสร้างที่อยู่อาศัย ที่พยายามผสมผสานความแตกต่าง ทั้งจากบริบทของไซต์ รูปแบบพฤติกรรมของผู้ใช้ซึ่งมีลักษณะเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว (แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เปิดเผยมาก) และยังมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมพราหมณ์ที่ร่ำรวย อยู่ใกล้กับวัด Padmanabhaswamy, Trivandrum โครงสร้างบ้านจึงได้รวมเอาองค์ประกอบต่างๆ จากสิ่งที่แตกแยกย่อยดังกล่าวเข้ามารวมกัน แล้วตีโจทย์ออกมาเป็นบ้านอย่างร่วมสมัยที่เข้ากันได้กับบรรยากาศพื้นถิ่นได้เป็นอย่างดี
ออกแบบ : ARK Architecture Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
หลังจากทำความเข้าใจและศึกษาธรรมชาติของสมาชิกในบ้าน ก็วางแผนออกแบบโดยมีเป้าหมายให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขา เริ่มจากภายนอกตัวบ้านจะค่อนข้างปิดเพื่อความเป็นส่วนตัวจากสายตาของคนที่ผ่านไปมา และเปิดพื้นที่ให้โปร่ง โล่ง กว้างภายใน ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการสนทนาระหว่างสเปซกับคน และเอื้อให้สื่อสารระหว่างสมาชิกในบ้านเป็นไปได้อย่างราบรื่น ฟังก์ชันการใช้งานแต่จะจุดจะแทรกความเป็นธรรมชาติทั้งภายนอกภายใน ผสมวัสดุบ้าน ๆ อย่างอิฐแดง อิฐเซรามิค กระเบื้องดินเผาที่อบอุ่น เพิ่มองค์ประกอบการออกแบบ เช่น ประตูโค้ง กันสาดตรงๆ ที่เข้ากันได้กับชุมชนเมือง
มุมนั่งเล่นหน้าบ้านที่จำลองพื้นที่สวนเอาไว้ใต้ชายคา แม้จะอยู่นอกตัวบ้าน แต่มีแนวต้นไม้และรั้วอิฐช่องลมเตี้ยๆ ทำหน้าที่กั้นขอบเขตและบังสายตาเล็กน้อย แต่ยังสามารถมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กับบ้านข้างเคียงได้ ดูมีความเป็นมิตรไม่ให้ความรู้สึกปิดตัวเองจากชุมชนอย่างสิ้นเชิง
ซุ้มโค้งเส้นสวยหน้าบ้าน ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องภายใน ทั้งประตูหน้าบ้าน ซุ้มทางเดิน หรือแม้กระทั่งบานตู้ในห้องนอน ซึ่งเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมในบ้านโมเดิร์นมินิมอลที่กำลังเป็นเทรนด์ในตอนนี้ ถูกนำมาใช้งานกับบ้านที่มีกลิ่นอายพื้นถิ่นอินเดียได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยก เพราะมีหลายๆ จุดของบ้านที่นำเสนอเส้นสายเรขาคณิตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะกลาง โซฟาไม้ หรืออาร์มแชร์
ชุดสีภายในของที่อยู่อาศัยทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงสไตล์โบฮีเมียนเขตร้อน อาทิ สีส้มอมแดง สีเขียวใบไม้ สีเหลืองมัสตาร์ด ซึ่งเป็นการปรับการตกแต่งภายในสไตล์ทมิฬที่ทันสมัยขึ้น เสริมด้วยลวดลายที่สวยงามของกระเบื้อง athangudi ลายสวยงาม งานทำมือขึ้นชื่อในรัฐทมิฬนาฑู กระเบื้องลายโบราณที่ตกแต่งส่วน back splash ครัว นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบของดินเผาให้สีตามธรรมชาติ และโทนสีไม้เข้มที่ผสมผสานกับเฉดสีขาวอบอุ่นยิ่งช่วยขับเน้นความงามภายใน
จากห้องนั่งเล่นจะมีโถงทางเดินเชื่อมต่อมายังห้องครัวและพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งถูกรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพื้นที่ที่กะทัดรัดแต่มีประสิทธิภาพ เป็นการรวมกิจกรรมของผู้ใช้สองกิจกรรมที่มีความรักในการทำอาหารได้ในพื้นที่เดียว การผสมผสานโซนหลักในการใช้ชีวิตของบ้านเข้าด้วยกันนี้ ยึดหลักจากการพูดคุยถึงรูปแบบการใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ผู้อยู่อาศัยมักใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้านและใช้เวลานั่งเล่น ดื่มชา ทำขนม ทำกับข้าวด้วยกัน
ในระหว่างกลางของบ้านสถาปนิกใส่ช่องว่างเชิงพื้นที่ในแนวตั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนบรรยากาศของบ้านให้รู้สึกถึงความโปร่งสบาย และยังช่วยปรับประสิทธิภาพในการปกป้องอาคารจากแสง การระบายอากาศผ่านช่องลมที่เรียงสูงหลายเมตร รวมถึงการเชื่อมต่อกับธรรมชาติทั้งลมเย็นที่พัดผ่านพื้นที่ลานภายใน แสงธรรมชาติที่สาดส่องผ่านรูพรุน และสวนเขียวๆ ได้ในจุดนี้ แม้จะไม่ได้ออกไปนอกบ้านก็ยังชิดใกล้ธรรมชาติได้อย่างเป็นส่วนตัว
ในพื้นที่รอบๆ โถงสูงนั้นจัดเป็นชั้นลอยใช้เป็นพื้นที่อ่านหนังสือ โดยจะมีการค่อยๆ เล่นระดับขึ้นไปเล็กน้อย ทำให้บริเวณนี้อยู่คนละระดับระหว่างพื้นที่ส่วนตัว ในตำแหน่งที่มีมุมมองต่อเชื่อมลานสีเขียว และได้รับลมจากแผงอิฐช่องลมสร้างสภาวะสบายให้บ้าน พื้นที่เปิดโล่งที่สร้างขึ้นเชื่อมต่อกับชั้นลอยนี้ จึงช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์และการสนทนาที่ราบรื่นยิ่งขึ้นภายใน ไม่ว่าจะอยู่ชั้นไหนก็ยังสื่อสารและมองเห็นกันได้
ชั้นบนมีห้องนอน 2 ห้อง และพื้นที่โฮมเธียเตอร์ตามบรีฟ ห้องนอนทั้งสองห้องมีหน้าต่างบานใหญ่เปิดออกสู่ลานภายในและพื้นที่ชั้นลอยได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของการสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายในอีกครั้ง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การตกแต่งผนังด้วยอิฐช่องลมนั้นมีข้อดีหลายประการ อาทิ เป็นช่องเปิดรับลมเย็น ระบายอากาศ รับแสงธรรมชาติ พร้อมกับกรองแสง ควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านไม่ให้ร้อนเกินไป รูพรุนสลับทึบยังช่วยพรางสายตาให้บ้านดูเป็นส่วนตัวขึ้นจากสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมา แต่ข้อเสียของช่องว่างรูพรุนเล้ก ๆ นี้ก็มี เช่น เป็นช่องทางให้สัตว์เล็ก ๆ ฝุ่น ควัน ฝน และเสียงรบกวนเข้าสู่ภายใน และทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ติดค้างในช่องเล็ก ๆ ได้ยาก ดังนั้นจึงควรมองหาทิศทางติดตั้งที่ฝนไม่สาดหรือมีชายคากว้าง มีมุ้งลวดชั้นในกันแมลง หรือจะทำระบบผนังสองชั้นเป็นบานกระจกเลื่อนได้ด้านใน เปิดระบายอากาศหรือปิดกันฝุ่นควันก็ได้ |