เมนู

บ้านขั้วตรงข้าม สีขาวดำ ใส่ที่ว่างตรงกลางสร้างพื้นที่สมดุล

บ้านสีขาวดำ

บ้านโมเดิร์นโทนสีทูโทน

เชื่อหรือไม่ครับว่าบางครั้งความรู้สึกขัดแย้งก็เป็นเรื่องดี เพราะเราไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันหมดหรือเหมือนกันทั้งหมด การมีสิ่งที่แตกต่างกันบ้างก็ทำให้เกิดความน่าสนใจและทางเลือกใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ การสร้างบ้านก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้สึกว่าวัสดุหรือสีที่เหมือนกันทั้งหลังดูกลืนกันไปหมดจนไม่มีจุดโฟกัสสายตา ก็ลองเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติ ผิวสัมผัส และสีที่ต่างกันลงไปสักจุด ก็จะเกิดความงามในความแตกต่างได้ในทันที เหมือนเช่นบ้านสีทูโทนดำขาวหลังนี้ที่ตัดกันแบบสุดขั้ว แต่เมื่อมารวมกันกลับสมดุลเหมือนหยินหยางที่ลงตัวพอดี

ออกแบบ : DELUTION
ภาพถ่าย : Fernando Gomulya
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นสีทูโทนขาวดำ

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านสีขาว-ดำ มีกล่องโปร่งใสคั่นตรงกลาง

Noid House  สร้างใน Pesanggrahan ทางใต้ของจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เจ้าของบ้านมีที่ดินขนาด 23 x 8 เมตร แต่กลับไม่ต้องการใช้ที่ดินทั้งหมด พวกเขาต้องการบ้านที่มีขนาดกะทัดรัด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้งานได้จริงและมีพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ ซึ่งโจทย์ที่ขัดแย้งกันเองนี้ทำให้ความคาดหวังของเจ้าของที่ต้องการมีช่องว่างขนาดใหญ่นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม สถาปนิกได้พยายามใช้มุมมองใหม่ๆ มาจัดการแก้ปมปัญหาจนออกมาเป็นอาคารสองสีที่เต็มไปด้วยความโปร่งโล่งได้สำเร็จด้วยดี

บ้านโมเดิร์นสีดำถนนปูนขัดมัน

สนามหญ้าหน้าบ้าน

สถาปนิกวิธีการแก้ปัญหาเรื่องความรู้สึกโปร่งท่ามกลางพื้นที่ใช้สอยน้อยๆ โดยการสร้าง Mass หรือมวลทึบเป็น 2 ส่วนแยกเป็นสีขาวกับสีดำและวางส่วน Void คือ พื้นที่เปิดโล่งไว้ตรงกลางอาคารสูงจากพื้นจรดเพดานสร้างความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน ช่องว่างนี้นอกจากจะแบ่งขอบเขตอาคารออกเป็นสองส่วนด้วยมิติทางสายตาจากภายนอกแล้ว ยังเป็นพื้นที่รับแสงเข้าสู่ภายในไปพร้อมกัน

ห้องนั่งเล่น ทานข้าว และครัว

บ้านมี skylight แยกสัดส่วนด้วยพื้นยกระดับ

พื้นที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร และพื้นที่ Powder room  สิ่งที่เราจะสังเกตเห็นได้คือ บ้านที่ดูโปร่งโล่งจากแปลนแบบ open plan ไม่มีผนังแบ่งกั้นห้อง จะมีเพียงพื้นที่ยกระดับขึ้นในบริเวณนั่งเล่น (อยู่ในด้านอาคารสีดำ) แยกขอบเขตใช้งานอย่างหลวม ๆ จากครัวและมุมทานอาหาร (อยู่ในโซนอาคารสีขาว) บ้านรับแสงที่มาจากผนังและช่องแสงสกายไลท์กลางอาคาร ซึ่งก็คือส่วนของ Void ที่แบ่งบ้านออกเป็นสองตึก ทำให้นอกจากจะเชื่อมต่อชั้น 1 กับชั้น 2 ได้แล้ว ยังทำให้ไหลเวียนของอากาศและการไหลเวียนของแสงอย่างอิสระมากขึ้นจากด้านล่างขึ้นบน และในทางแนวนอนของบ้านด้วย

บันไดเหล็กฉีกสีขาวมีชายพัก

ช่องแสง skylight

ช่องว่าง (Void) ทะลุสูงขึ้นไปถึงชั้นบนสร้างความเชื่อมต่อเป็นโถงสูงได้ก็จริง แต่อาจจะทำให้เสียพื้นที่ใช้งานตรงที่ว่างระหว่างผนัง และสร้างความรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย จึงปูแผ่นพื้นด้วยวัสดุเหล็กปั๊มรูกลมพรุน ๆ ทำให้สามารถเดินข้ามไปมาได้ และเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นต่างๆ ในบ้านได้ แผ่นพื้นเจาะรูยังทำหน้าที่ช่วยกรองแสงที่ลงสู่พื้นที่ใช้ชีวิตข้างล่างให้สัมผัสได้ถึงแสงสว่างแต่ไม่ร้อนจนใช้ชีวิตไม่สบาย

ห้องนอน

จากบันไดเหล็กปั๊มรูกลมสีขาวนำสายตาขึ้นมาที่ชั้นบนพื้นที่ด้านขวาของอาคารจะเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัวคือบริเวณห้องนอนแขกและมีห้องน้ำรวม ย้ายไปทางด้านซ้ายของอาคารจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวซึ่งประกอบด้วยห้องนอนใหญ่และห้องเด็ก

บ้านโทนสีขาว-ดำ

ส่วนในเรื่องของโทนสีและการเลือกใช้วัสดุ เนื่องจากความต้องการของลูกค้าที่ต้องการดูแลรักษาง่าย สถาปนิกจึงใช้วัสดุพื้นๆ คือ สีทาบ้านและปูนปลาสเตอร์ใช้เทคนิคสร้าง Texture แล้วเลือกขาวดำ การเลือกใช้โทนสียังสื่อถึงความเรียบง่าย ตรงประเด็น และต้องการให้มวลฟังก์ชั่นของอาคารดูเด่นชัดขึ้น

บรรยากาศบ้านยามค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านยุคใหม่ในเขตร้อนชื้นเริ่มนิยมใส่ฟังก์ชันช่องแสง skylight ตามบ้านเขตหนาว ซึ่งจะใช้วัสดุโปร่งใสติดตั้งบนหลังคาสลับกับแผ่นวัสดุมุงชนิดทึบแสง เพื่อดึงแสงสว่างเข้าบ้านให้มากขึ้นจากด้านบน ทำให้บ้านรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นที่เพิ่มขึ้นในฤดูหนาว เมื่อนำมาใช้ในบ้านเขตร้อนจึงต้องปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้เหมาะสมไม่ให้บ้านร้อนจนอยู่ไม่สบาย โดยอาจเลือกวัสดุ skylight ที่เป็นกระจกตัดแสงหรือสะท้อนความร้อน วัสดุโปร่งแสงแบบสีขุ่น การติดตั้งแนวเฉียงตามหลังคาทำให้แสงองศาของแสงไม่ลงสู่ตัวบ้านตรงๆ การใส่วัสดุช่วยกรองแสงภายใน อาทิ เหล็กดัด อิฐบล็อกช่องลม แผ่นเหล็กปั๊มรู และควรติดตั้งในบริเวณที่ไม่มีคนใช้ชีวิตบริเวณนั้นนาน ๆ เช่น ทางเดิน เหนือบันได ซิงค์ล้าง ห้องน้ำ เป็นต้น

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด