เมนู

บ้านหลังแรก สำหรับเริ่มต้นครอบครัว ถึงเล็กเราก็รัก

บ้านหลังแรกของครอบครัว

บ้านหลังคาจั่วขนาดกะทัดรัด

“บ้านหลังแรก” ถึงจะเล็ก ๆ กะทัดรัด แต่ความอบอุ่นและสุขใจอาจจะใหญ่กว่าตัวบ้านเสียอีก เหมือนเช่นบ้านเดี่ยวที่ชื่อ Namyangju หลังนี้ ก็เป็นบ้านหลังแรกเพื่อเริ่มต้นครอบครัวของคู่แต่งงานใหม่ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินผืนเล็ก ๆ  เมื่อมองจากระยะไกลให้ความรู้สึกเหมือนกระท่อมน้อยแสนสบายบนเนินเขา แม้จะมีบ้านจัดสรรในชนบทและวิลล่าหรูในบริเวณใกล้เคียง แต่บริเวณรอบๆ บ้านยังคงถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้หนาทึบ สร้างบรรยากาศที่เงียบสงบและใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นบ้านเล็กที่ทำให้หัวใจพองฟูได้ง่าย ๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็น

ออกแบบ : SMxL Architects
ภาพถ่าย : Hanbit Kim
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านหลังคาจั่วสไตล์โมเดิร์น

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านชั้นเดียวเรียบง่ายน่ารัก

บ้านพื้นที่ใช้สอย 131 ตารางเมตรหลังนี้ สร้างอยู่ในนามยางจู, เกาหลีใต้ ความต้องการเริ่มต้นของเจ้าของ คือ บ้านชั้นเดียวขนาด  3 ห้องนอนเพื่อรองรับเด็กในอนาคต และอยากได้ลานนั่งเล่นบนดาดฟ้าที่สมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าถึงได้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม การทำตามโจทย์เหล่านี้ในขณะที่บ้านมีเค้าโครงแบบชั้นเดียวนั้นถือเป็นความท้าทาย ด้วยเหตุผลที่ว่าถ้าจัดสรรห้องทั้งสามห้องไว้ที่ระดับพื้นดิน จะส่งผลให้พื้นที่ทั่วทั้งบ้านมีขนาดเล็กลง แล้วยังมีคำถามต่อว่ารูปลักษณ์หลังคาจั่วจะใส่ดาดฟ้าได้อย่างไรตามมาอีกด้วย

หลังคาทรงจั่วผสมปั้นหยา

บทสรุปจึงออกมาเป็นอาคาร 2 หลัง หลังที่เป็นหลักทำรูปลักษณ์หลังคาจั่วเหมือนเป็นปริซึมสามเหลี่ยมวางบนปริซึมสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งพิเศษตรงที่ทีมงานเพิ่มพื้นที่ใต้หลังคาให้มากขึ้นเกือบเท่ากับความสูงของชั้นล่าง แต่เมื่อมองไกล ๆ จะเหมือนเป็นบ้านชั้นเดียวหลังคาจั่วธรรมดา แล้วจัดให้ห้องนอนสองห้อง ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องน้ำอยู่ที่ชั้นหนึ่ง และยกห้องนอนที่เหลือขึ้นไปอยู่ใต้หลังคาลาดเอียงเป็นห้องใต้หลังคา เพื่อสร้างพื้นที่ใต้หลังคาที่สะดวกสบาย ส่วนอีกอาคารที่ติดกับส่วนหลังทรงกล่องหลังคาแบนได้รับการออกแบบให้อยู่เหนือห้องนอนหลักเพื่อรองรับลานบนชั้นดาดฟ้า

ผนังคอนกรีตหล่อในที่

ภาพรวมของบ้านจะแบ่งออกได้เป็น 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่สาธารณะภายนอก พื้นที่ส่วนตัวภายนอก พื้นที่สาธารณะภายใน และพื้นที่ส่วนตัวภายใน อันดับแรก พื้นที่สาธารณะด้านนอกนั้นครอบคลุมลานทางเข้าซึ่งจะมีที่ว่างสำหรับจอดรถก่อนเข้าบ้านและสนามหญ้าเขียวขจี ทำหน้าที่เป็น Buffer Zone หรือกันชนระหว่างถนนกับตัวบ้าน ด้านหน้านี้จะมีกำแพงคอนกรีตที่มีความสูงต่างกันล้อมสนามหญ้าป้องกันบ้านจากมุมมองของผู้สัญจรไปมาบนถนนที่ลาดเอียง

ห้องนั่งเล่นตีฝ้าเพดานตามแนวหลังคา

ห้องนั่งเล่นประตูกระจกผนังโค้ง

เมื่อผ่านประตูหน้าเข้ามาจะพบกับห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะหลักภายใน ห้องนั่งเล่นมีหลังคาทรงจั่ว ตีฝ้าตามแนวหลังคาทำให้เพดานสูงโปร่ง หน้าต่างบานใหญ่ที่หันไปทางทิศใต้ให้ทัศนียภาพอันน่าทึ่ง ในขณะที่หน้าต่างที่ยกสูงไปทางทิศเหนือทำให้มองเห็นป่าที่อยู่ด้านหลัง รวมทั้งช่องระบายอากาศข้างบน การไม่มีผนังกั้นระหว่างส่วนนี้กับห้องครัวช่วยส่งเสริมแนวคิดแบบเปิด ให้ความรู้สึกกว้างขวาง และทำให้ครอบครัวสามารถใช้ห้องครัวเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีความต่อเนื่องกันทั้งหมด

ห้องนั่งเล่นตีฝ้าเพดานตามแนวหลังคา

ที่ชั้นล่างเมื่อผ่านห้องนั่งเล่นและเดินไปตามโถงทางเดิน จะพื้นที่ภายในส่วนตัว ซึ่งประกอบด้วยห้องเล็กและห้องนอนใหญ่ ทั้งสองห้องมีหน้าต่างกว้างที่หันไปทางทิศใต้ สามารถเข้าถึงระเบียงได้ มีลานเล็กๆ อยู่ระหว่างห้องหลักและห้องน้ำ ช่วยให้ครอบครัวได้เพลิดเพลินกับธรรมชาติในขณะที่ยังคงความรู้สึกเงียบสงบ

เสากลมรองรับน้ำหนักหลังคา

ย้ายจากห้องนั่งเล่นและห้องครัวออกไปด้านนอก เมื่อเปิดบานเฟี้ยมออกจนสุดสามารถขยายพื้นที่ภายในออกไปยังระเบียงหน้าบ้านได้ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวภายนอกเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับทัศนียภาพโดยรอบ  ในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยจะออกมานั่งชมวิว ปาร์ตี้ หรือเปลี่ยนบรรยากาศรับประทานอาหารกลางแจ้งบนเฉลียงก็ได้ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยสถาปนิกจึงทำม้านั่งคอนกรีตเป็นหลุมลงไปให้นั่งเล่น ข้างๆ เจาะพื้นคอนกรีตปลูกต้นไม้เอาไว้รอวันเติบโตสร้างร่มเงาให้สบายขึ้นเมื่อออกไปนั่งเล่น จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางแจ้งที่ขยายพื้นที่ภายในได้อย่างลงตัว

โถงบันไดตกแต่งไม้

ห้องนอนใต้หลังคามี skylight

ห้องนอนใต้หลังคามี skylight และผนังวัสดุโปร่งใส

ด้านหนึ่งของบ้านจะมีโถงบันไดทางขึ้นมายังห้องใต้หลังคา ซึ่งจะใช้วิธีกรุฝ้าเพดานเฉียงตามแนวหลังคา เพื่อสร้างความรู้สึกโล่งแม้เพดานจะค่อนข้างต่ำ พร้อมทั้งติดตั้งสกายไลท์ไว้ที่ส่วนบนของห้องใต้หลังคา ทำให้ได้รับแสงแดดเพียงพอในตอนกลางวันและมองเห็นท้องฟ้ายามค่ำคืนเมื่อนอนบนฟูก ผนังห้องด้านหนึ่งติดตั้งกระจกใสที่เชื่อมต่อห้องใต้หลังคากับห้องนั่งเล่นและห้องครัว ช่วยให้สามารถสื่อสารด้วยภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัวในระดับต่างๆ ได้ดีขึ้น

ห้องน้ำโทนสีเทา

มุมนั่งเล่นเจาะช่องชมวิวบนดาดฟ้า

ดาดฟ้าจะอยู่ในกล่องด้านหลังตรงกับห้องนอนใหญ่ชั้นล่าง เจาะผนังออกเป็นช่องเปิดชนมุม 90 องศา เปิดให้เห็นวิวทั้งสองด้านได้แบบพาโนรามาไม่มีอุปสรรคกั้นสายตา ในวันที่อากาศดี ๆ ก็ขึ้นมานั่งเล่นชมท้องฟ้าสวย ๆ เก็บบรรยากาศก่อนนอนให้สบายใจ แล้วเตรียมตัวนอนหลับฝันดี

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านหลังคาแบน (slab) มีข้อดีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ที่ทันสมัย สามารถใช้พื้นที่ข้างบนเป็นดาดฟ้า สวน หรือใช้งานอเนกประสงค์อื่นๆ  แต่ข้อจำกัดของหลังคาแบนคือเรื่องการระบายน้ำที่ด้อยกว่าหลังคารูปแบบอื่น เพราะมีลักษณะเป็นพื้นเรียบไม่มีองศาลาดเอียงในการให้น้ำระบายออกจากหลังคา  มีความเสี่ยงในเรื่องของการรั่วซึมหากระบบกันซึมทำพื้นไม่ดี  อีกทั้งพื้นหลังคาจะโดนความร้อนตลอดทั้งวัน ทำให้บ้านร้อนได้มากกว่าหลังคารูปแบบอื่นๆ จึงต้องปรึกษานักออกแบบเพื่อเตรียมจัดการก่อนที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด