บ้านสองชั้นรวมเข้ากับธรรมชาติ
Hosono House เป็นบ้านสองชั้นที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ถ้าเข้าไปชมในรายละเอียดจะเห็นว่าด้วยดีไซน์ที่เปิดรับและเข้ากับธรรมชาติ ทำให้ที่นี่เหมือนอัญมณีที่หาได้ยากในสภาพแวดล้อมแบบเมือง ให้กลายเป็นที่หลบภัยในบ้านที่คาดไม่ถึง Ryan Leidner Architecture สถาปนิกทำงานโดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างที่สร้างขึ้นที่ด้านหลังของที่ดินในย่าน Bernal Heights ซึ่งเป็นเนินเขาของซานฟรานซิสโก เพื่อสร้างบ้านของครอบครัวที่ให้ความรู้สึกเงียบสงบที่ไม่เหมือนใคร
ออกแบบ : Ryan Leidner Architecture
ภาพถ่าย : Joe Fletcher
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คำว่า ‘โอเอซิส’ คงเป็นหนึ่งคำที่บรรยายถึงโครงการ Hosono House ได้เป็นอย่างดี เพราะดีไซน์และการตกแต่งเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ สำหรับพื้นที่นี้จะโดดเด่นด้วยวิวเส้นขอบฟ้าของเมืองที่น่าอิจฉาและรายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ โครงสร้างเดิมตั้งอยู่ค่อนข้างไกลจากถนนจึงมีความรู้สึกเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงใช้จุดนี้ผสานเข้ากับจินตนาการนำมากำหนดรูปแบบบ้านโดยสร้างลำดับการเข้าใหม่ สร้างทางเดินที่เหมือนสะพานลิงลอยตัวนำทางจากถนน ให้เดินมาที่อาคารด้านในถึงประตูบ้านชั้นบนได้ บ้านมีช่องเปิดขนาดใหญ่รับแสงและลมได้เต็มที่ วัสดุโทนธรรมชาติเรียบง่าย สะท้อนต่อการออกแบบที่รวมบ้านเข้ากับบริบทได้อย่างสวยงาม
ลานภายในบ้านข้างใต้สะพานตกแต่งไล่ระดับ มีไม้พุ่มและไม้ใบที่ห้อยย้อยลงมาพลิ้วๆ คล้ายน้ำตกที่กระแสน้ำไหลลดหลั่น ทีมงานเลือกวางเก้าอี้ Swisspearl Willy Guhl Loop ไว้บนแผ่นหินทำให้ดูคล้ายเป็นงานศิลปะที่วางโชว์กลางแจ้ง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
จากทางเดินมาถึงตัวบ้านผนังสีไม้ซีดาร์โทนสีถ่าน เข้ามาภายในจะพบกับโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยความโปร่ง สว่าง จากสีขาวนวลๆ ของผนัง กระจกขนาดใหญ่ที่เปิดมุมมองไปที่สะพาน และช่องแสง Skylight เหนือศีรษะที่พร้อมต้อนรับกลับบ้านอย่างอบอุ่น
ภายในชั้นนี้จะออกแบบให้เป็นโถงสูง Double Space พื้นที่นั่งเล่น-รับประทานอาหาร-ห้องครัวหลัก ที่สามารถมองเห็นวิวเส้นขอบฟ้ากว้างไกลและให้ความรู้สึกโปร่งสบาย ผ่านช่องแสงขนาดใหญ่รูปทรงเรขาคณิตทั้งสี่เหลี่ยมและวงกลม ส่วนตั้งอยู่ที่ชั้นล่าง เปิดออกสู่ลานภายในที่มีภูมิทัศน์สวยงาม สำหรับการตกแต่งบ้านหลัก ๆ บริเวณผนัง พื้น และเพดานที่ต้องการเน้นสายตาจะกรุด้วยไม้โอบล้อมพื้นที่ด้วยความอบอุ่น เหนือโซนนี้มีชั้นลอยที่ตกแต่งด้วยไม้ประดับและไม้เลื้อยใบเขียวสดตัดกับสีขาว สร้างความมีชีวิตชีวาภายในได้เป็นอย่างดี
โต๊ะอาหารเป็นผลงานสั่งทำพิเศษโดยผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ในท้องถิ่น Nobuto Suga ซึ่งจับคู่กับชุดเก้าอี้ Tucroma แบบวินเทจ และเก้าอี้อาร์มแชร์ Poltronova Locus Solus Tubular เชิงเทียนทองเหลืองสไตล์วินเทจ ที่ออกแบบโดย Florian Schulz แขวนอยู่ด้านบน หน้าต่างทรงกลมนำแสงและความขี้เล่นมาสู่พื้นที่ ส่วนมุมนั่งเล่นที่อยู่ถัดไปใช้ชุดโซฟาหนังแท้ทั้งหมดที่ใช้งานยิ่งนานก็ยิ่งดูมีเสน่ห์
การจัดแปลนบ้านแบบ open plan วางฟังก์ชันเรียงกันแบบไม่มีผนังแบ่งกั้น เพดานที่เฉียงสูงทำให้ระยะห่างจากพื้นถึงเพดานค่อนข้างมาก เมื่อรวมเข้ากับช่องแสงใต้หลังคาขนาดใหญ่ จะช่วยลดความรู้สึกอึดอัดออกจากบ้านได้ทั้งหมด ไม่เฉพาะพื้นที่นั่งเล่นและทานข้าวเท่านั้นที่เห็นวิวภายนอกได้ แม้แต่ในห้องครัวก็สามารถเพลิดเพลินกับทัศนียภาพกว้างไกลของเส้นขอบฟ้าเมืองได้เช่นเดียวกัน
ไอเดียการตกแต่งผสมผสานอิทธิพลแบบวินเทจของอิตาลี ญี่ปุ่น และแคลิฟอร์เนียสมัยใหม่ ที่มารวมกันได้แบบไม่ขัดแย้ง
คำว่า ‘ขี้เล่น’ มักจะแทรกแฝงในการตกแต่ง แสง และงานศิลปะ ที่สะท้อนถึงตัวตนของเจ้าของในบ้านแต่ละหลัง สำหรับบ้านนี้ก็จะพบกับรายละเอียดที่หลากหลาย เช่น โต๊ะทำงานรูปสามเหลี่ยม โคมไฟตั้งโต๊ะทรงอวกาศ โครงเตียงปูกระเบื้อง หรือโซฟาเบดรูปทรงนวมชกมวย (De Sede Boxing Glove) ในห้องนอน บ่งบอกความเป็นแฟนกีฬามวยที่ให้ความรู้สึกสนุกสนานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
เลานจ์หรือห้องพักผ่อนสังสรรค์ได้รับแรงบันดาลใจจากบรรยากาศอบอุ่นของบาร์วิสกี้ในโตเกียว สถาปนิกกรุทุกด้านด้วยไม้โอ๊คสีขาว ขึ้นบันไดไปเล็กน้อยจะพบเครื่องเล่นแผ่นเสียงและพื้นที่บาร์แบบสบายๆ สิ่งอำนวยความสะดวกสองอย่างที่ตั้งใจให้เพลิดเพลินขณะนั่งบนโซฟากำมะหยี่สีเขียวใบมะกอกสั่งทำพิเศษ ทั้งโทนสี วัสดุ และการเปิดผนังได้กว้าง ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจริงๆ
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การใส่ช่องแสงเป็นตัวช่วยให้บ้านได้รับความสว่างตามธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ โดยส่วนมากบ้านเราจะเป็นช่องแสงประตูหน้าต่างที่ติดตั้งบนผนัง แต่ในบ้านฝั่งซีกโลกตะวันตกมักจะเพิ่มช่องแสง Skylight ที่เป็นพื้นที่รับแสงได้จากด้านบน อาจทำไว้บนหลังคาหรือส่วนที่อยู่จั่วบ้าน บนผนังส่วนที่ติดกับใต้หลังคา ใานรูปแบบที่ติดแบบเจาะบนหลังคาแสงจะส่องลงมาตรงๆ หากต้องการติดตั้งในบ้านเขตร้อนต้องพิจารณาให้อยู่ในจุดที่ไม่ทำให้ร้อนจนอยู่ไม่สบายหรือแสบตา เช่น โซนซักล้าง เป็นต้น ส่วน Skylight ที่อยู่บนผนังใต้หลังคาจะให้แสงสว่างในมุมสูง แต่จะไม่ค่อยส่งผลกระทบเรื่องความร้อนมากเท่าแบบที่ติดบนหลังคา |