บ้านโมเดิร์นกลางธรรมชาติ
เมื่อพูดถึง ‘ภูมิทัศน์’ ของการออกแบบที่อยู่อาศัย เรามักจะนึกภาพว่าในบ้านมีสวน มีสระน้ำ มีที่ว่าง ใส่ชิงช้า โต๊ะนั่งเล่น เพิ่มความน่าอยู่ภายใน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการจัดสรรองค์ประกอบขึ้นมาภายหลังให้เข้ากันได้กับบ้าน ในความเป็นจริงนั้นตัวภมิทัศน์รอบ ๆ บ้านที่มีมาก่อนแล้ว ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดรูปแบบและวัสดุที่จะมาประกอบเป็นบ้านเช่นกัน หนึ่งในโปรเจ็คบ้านที่แสดงให้เห็นตามแนวคิดที่ว่านี้ได้ชัดเจน อยู่ในจังหวัดที่งดงามที่สุดในอิตาลี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการดีไซน์อาคารจากสถานที่ธรรมชาติอันแสนโรแมนติคนี่เอง
ออกแบบ : Peter Pichler Architecture
ภาพถ่าย : Gustav Willeit
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านคอนกรีตทรงเหลี่ยมที่หล่อหลอมให้เข้ากับภูมิทัศน์บนเทือกเขาสูงตระหง่านใน South Tyrol ทางตอนเหนือของอิตาลี ท่ามกลางภูมิประเทศแบบอัลไพน์ที่สวยงามของ Termeno ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของไวน์ Gewürztraminer ที่นี่ออกแบบโดย Peter Pichler Architecture ซึ่งชนะการแข่งขันออกแบบวิลล่าใหม่ ในปี 2018 เพื่อแทนที่โครงสร้างเดิมที่มีอยู่บนไร่องุ่น “Kastelaz” ซึ่งเป็นเจ้าของโดยครอบครัวผู้ผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ ด้วยภูมิประเทศที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา ไร่องุ่น แวดล้อมด้วยป่าไม้ และใกล้ทะเลสาบ Caldaro ให้ทัศนียภาพ 360 องศา สถาปนิกจึงนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์มากที่สุด จนได้ผลงานเป็นบ้านชั้นเดียวที่ซุ่มซ่อนแต่เด่นสง่าอยู่บนเนิน
คลิกที่ภาพเพื่อชมภาพขยายใหญ่
“รูปทรงของวิลล่ามีวิวัฒนาการมาจากสภาพพื้นที่” เจ้าของสตูดิโอออกแบบกล่าว ด้วยตัวไซต์ที่เป็นเนินและมีที่ว่างที่ค่อย ๆ ลาดลงมา ทำให้สถาปนิกทำลานจอดรถเป็นเหมือนถ้ำบริเวณด้านล่าง แล้วทำบันไดทางเดินเป็นเส้นตรงที่กลมกลืนกับภูมิทัศน์ธรรมชาติขึ้นไปสู่ตัวบ้าน เลียนแบบภูมิประเทศแบบเนินเขาที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม ตัวบ้านก็เป็นรูปทรงเรขาคณิตที่มองดูคล้ายทั้งริบบิ้น เกือกม้า หรือแม้กระทั่งปีกนก (ตามแต่จินตนาการ) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ลื่นไหลและกลมกลืนกับภูมิประเทศ อาคารที่ไม่สูงจึงแทบจะสังเกตไม่เห็นเมื่อมองขึ้นมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง
โครงสร้างบ้านที่ดูเหมือนโผล่ออกมาจากธรรมชาติ แบ่งออกเป็น ‘ปีก’ สามส่วนโอบล้อมลานภายในหรือคอร์ทยาร์ดอยู่ ซึ่งมีเหตุผลในการออกแบบนี้เพื่อป้องกันลมแรงที่มาจากทะเลสาบการ์ดา ส่วนพื้นผิวภายนอกของอาคารเลือกใช้คอนกรีตมวลเบาเพื่อสะท้อนสีและพื้นผิวของกำแพงกันดินหินชอล์คที่ล้อมรอบไร่องุ่น ผนังด้านในอาคารเลือกวัสดุกระจกใสช่วยเสริมแสงธรรมชาติและการเชื่อมต่อระหว่างในร่มและกลางแจ้ง โดยมีลานภายในเป็นตัวกลางสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ทั้งสามปีกเข้าด้วยกัน
ภายในบ้านที่จัดเป็นสามปีกเชื่อมต่อกัน จะแบ่งพื้นที่ใช้งานปีกข้างหนึ่งมีพื้นที่ใช้สอยหลัก ประกอบด้วย ห้องพักผ่อน ห้องครัว และพื้นที่รับประทานอาหาร ขณะที่ปีกอีกสองปีกรองรับห้องนอน ส่วนหน้าเบาและโปร่งสบายด้วยผนังติดกระจกกว้างสูงจากพื้นจรดเพดาน ที่ออกแบบมาเพื่อเปิดมุมมองออกไปยังธรรมชาติที่ล้อมรอบและดึงภูมิทัศน์เข้าสู่พื้นที่ในร่ม ในขณะที่ยังคงความเป็นส่วนตัวของครอบครัว ด้วยวิธีนี้ ผู้อยู่อาศัยสามารถเพลิดเพลินกับทัศนียภาพที่หลากหลาย ตั้งแต่ระเบียง ไร่องุ่น ป่าด้านหลัง ไปจนถึงทะเลสาบแคลดาโรที่อยู่ไกลออกไป
วัสดุเลือกใช้ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น คอนกรีต หินขัด และไม้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นแต่เรียบง่าย พร้อมกันนี้ยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าพื้นที่ในร่มและกลางแจ้งจะมีความสอดคล้องกันทั้งหมด
นอกจากลานภายในส่วนกลางแล้ว ยังมีช่องทางขึ้นไปยังระเบียงขนาดใหญ่ชั้นบน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับการพักผ่อนกลางแจ้งและเชื่อมต่อกับเลานจ์ในชั้นลอย ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายตามอารมณ์และสถานการณ์
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ข้อดีของการออกแบบบ้านรูปทรงตัว U คือ จะมีพื้นที่กลางแจ้งส่วนกลางทำหน้าที่แบ่งกั้นขอบเขตการใช้งานแต่ละปีกของบ้านให้ลงตัว และยังทำให้ทุกห้องมองเห็นซึ่งกันและกันได้ง่าย พร้อมกับเข้าถึงมุมมองลานตรงกลางได้เท่า ๆ กัน แต่ข้อเสียของรูปทรงนี้ก็มี เช่น ตัวอาคารด้านใดก้านหนึ่งอาจจะปิดบังทิศทางแสงหรือแรงลม ดังนั้นจึงต้องศึกษาทิศทางลม แสง ให้ดี พร้อมกับใส่ช่องเปิดให้เหมาะสม เพื่อให้บ้านตอบโจทย์ทั้งการใช้งานและสภาพภูมิอากาศด้วย
|
แปลนบ้าน