
พื้นที่เรียนรู้การเกษตรสำหรับเด็ก
แก่นแท้ของการเรียนการสอน บางทีไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่เป็นการแบ่งปันความรู้นอกห้องเรียนด้วย โรงเรียนประถมศึกษา Nanheps ก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน ที่นี่เป็นโรงเรียนประถมศึกษาทดลองที่ตั้งอยู่ในเทศมณฑลเหมียวลี่ ไต้หวัน โรงเรียนใช้แผนหลักสูตรสี่ฤดูกาล โดยผสมผสานเรื่องอาหารและการศึกษาด้านการเกษตรให้เด็กๆ และมอบประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น กิจกรรมหนึ่งที่โรงเรียนจัดให้มีคือการเลี้ยงไก่ไข่ที่เกษียณแล้ว ในเล้าไก่ที่ออกแบบใหม่ให้เด็ก ๆ อยากแวะเวียนเข้าไปเลี้ยงไก่มากๆ
ออกแบบ: studio whispace + architects
ภาพถ่าย : YuChen Chao Photography
เนื้อหา: บ้านไอเดีย
แม้ในโรงเรียนจะมีต้น Taiwanese raintree ที่สวยงาม แต่บางพื้นที่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่และขาดโซนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน อย่างเล้าไก่ดั้งเดิมตั้งอยู่ภายในกรงชั่วคราว ล้อมรอบด้วยโครงสร้างคอนกรีตที่ถูกทิ้งร้าง และมีกองปุ๋ยหมักถูกทิ้งไว้ดูสกปรก ส่งผลให้นักเรียนเข้าเล้าไก่น้อยลง ทางโรงเรียนตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ครู เด็กๆ และไก่อยู่ร่วมกัน แบ่งปันความคิดใต้ร่มไม้ จึงย้ายเล้าไก่จากมุมมืดๆ ไปใจกลางของพื้นที่เปิดโล่ง โดยใช้รั้วคอนกรีตและโลหะสีขาวโค้งเล็กน้อยรูปโอห์ม (Ω) ใต้ต้นไม้ เป็นการเชื่อมต่อต้นไม้สูง สวน และพื้นที่ทำปุ๋ยหมักเข้าด้วยกัน
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ป้ายแผ่นเหล็กฉลุรูปไก่ ไข่ และชื่อโรงเรือน เพิ่มความน่ารักน่าสนใจให้เล้าไก่อีกนิด พื้นลานปูด้วยกรวดทำให้เด็กๆ เดินง่ายไม่มีโคลนเลอะช่วงฤดูฝน
ในแปลนจะแบ่งเป็นเล้าไก่ พื้นที่สอนทำปุ๋ยหมัก และพื้นที่ปลูกสมุนไพร เล้าไก่ได้รับการออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายของแม่ไก่ และการดูแลนักเรียนที่ง่ายดาย ในพื้นที่ปุ๋ยหมัก จะแบ่งถังออกเป็นสี่ช่องสำหรับขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักที่แตกต่างกัน โดยมีช่องสังเกตการณ์สำหรับให้นักเรียนเฝ้าดู พื้นที่เพาะปลูกสมุนไพรมุ่งเน้นไปที่สมุนไพรที่รับประทานได้ เช่น โรสแมรี่ เสจ ลาเวนเดอร์ และเก๊กฮวย เพื่อเป็นอาหารและการศึกษาทางการเกษตร ช่วยเพิ่มประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสในสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ
เพื่อให้สอดคล้องกับการออกแบบหลักสูตรตลอดทั้งปีของโรงเรียน สถาปนิกจึงได้ออกแบบให้มีที่บังแดดและกันฝนสำหรับกิจกรรมต่างๆ และช่วยลดแสงแดดที่มากเกินไปในเล้าไก่ เพื่อให้มั่นใจว่าแม่ไก่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบาย ในตอนเย็น หลังคาเหล่านี้เป็นวัสดุโปร่งแสงที่ให้แสงนวลๆ ในเวลากลางคืน การออกแบบแสงสว่างใช้แสงทางอ้อม เพื่อลดการรบกวนของแสงประดิษฐ์ในสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์ของท้องถิ่นด้วย
กรงเล้าไก่ออกแบบให้มีพื้นที่ให้อาหารและน้ำ พื้นที่แขวนป้ายชื่อไก่ ชั้นวางไข่ และอื่นๆ อีกมากมาย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้การดูแลเล้าไก่ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรมของนักเรียน ที่เห็นได้ชัดและสำคัญที่สุดคือความเต็มใจที่จะใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตน้อยๆ นี้มากขึ้นด้วย เห็นแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กจะได้มาเลี้ยงไก่และดูแลสวนในโรงเรียนทุกวัน
แปลนอาคาร