เมนู

คืนชีวิตให้บ้านเก่า 40 ปี เป็นเรือนหอหลังใหม่ของสองเรา @โคราช

บ้านไอเดียแฟมิลี่

เมื่อคุณมองเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง คุณเห็นอะไรบ้าง ? บางคนอาจเห็นดีไซน์ หลังคา ผนัง หน้าต่าง และสวน ที่รวมเป็นองค์ประกอบของบ้าน แต่สำหรับบางคนอาจเห็นภาพคุณพ่อที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ในสวน คุณแม่ทำอาหารกลิ่นหอมมาจากครัว และเด็ก ๆ ที่วิ่งเล่นสนุกสนานอยู่กับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด “บ้าน” จึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่พิเศษกว่าสถาปัตยกรรมอื่น ๆ เพราะไม่ได้เป็นแค่อาคารที่พักพิงหลบแดดฝนเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ชีวิตที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนในครอบครัวในทุกตารางเมตร อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี บ้านหลังเดิมอาจจะไม่ตอบโจทย์ชีวิตแบบใหม่ ๆ หรือพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานอีกต่อไป บางคราวก็อาจจะมาถึงทาง 2 แพร่งที่ต้องตัดสินใจว่าควรทุบรื้อสร้างใหม่ หรือจะคงเก็บไว้แล้วปรับปรุงให้ดูดี สำหรับครอบครัวคุณทวนชัย ชั้นกระโทก สมาชิกกลุ่ม “บ้านไอเดีย” ของเราเลือกอย่างหลัง ด้วยการคืนชีพให้บ้านเก่า เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ในงบประมาณเพียง 5 แสนปลาย ๆ

เจ้าของบ้าน | สถาปนิก :  คุณทวนชัย ชั้นกระโทก
เนื้อหาบ้านไอเดีย

รีโนเวทบ้านสองชั้น

– เก็บความรู้สึกของบ้านเก่า มาสร้างความทรงจำใหม่ ๆ –

PT HOUSE เป็นชื่อโปรเจกต์บ้านของคู่สามีภรรยา คุณพรรษธรณ์ รัชนาลักษณ์ และคุณทวนชัย ชั้นกระโทก คุณทวนชัยเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า “บ้านสองชั้นหลังนี้เป็นบ้านเก่าอายุมากกว่า 40 ปี ตั้งอยู่ ถนนสุรนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ปกติปล่อยให้เช่าและหลังจากให้เช่าแล้วก็ปิดบ้านทิ้งไว้หลายปี แต่ยังมีคุณพ่อของภรรยาคอยดูแลบ้านอยู่เป็นประจำ ที่นี่เต็มไปด้วยความทรงจำและความผูกพัน ทำให้เราคิดที่จะรีโนเวทแทนการรื้อสร้างใหม่ทั้งหมด ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ผมและภรรยากำลังจะแต่งงาน จึงวางแผนปรับปรุงบ้านเพื่อใช้เป็นเรือนหอของเราสองคนด้วยเลยครับ”

ก่อนปรับปรุงบ้าน

สภาพบ้านอายุกว่า 40 ปีก่อนปรับปรุง

ภาพรวมเป็นบ้านไม้ครึ่งปูนที่มีอายุมากทำให้ทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่โครงสร้างหลัก ๆ ของอาคารยังแข็งแรงดี จึงเห็นว่าควรคงโครงสร้างที่ดีไว้ แล้วทุบรื้อออกบางจุดและเพิ่มเติมในบางส่วน ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นสถาปนิกอยู่แล้ว ทำให้งานออกแบบเพื่อสร้างรูปแบบใหม่ให้กับบ้านภายใต้เส้นรอบรูปเดิมง่ายขึ้น เพราะรู้ถึงความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และสามารถดูแลงานได้เองทั้งหมดโดยมีคุณแม่เป็นที่ปรึกษา

“การออกแบบและปรับปรุงจึงเน้นคงรูปทรงของบ้านไว้เพื่อให้เหลือความทรงจำของบ้าน ที่มีการปรับเปลี่ยนจะมีแค่ปรับฟังก์ชันให้ดูทันสมัยหรือร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น และเสริมฟังก์ชันจำเป็นที่ขาดไปตามความเหมาะสมและพฤติกรรมของเจ้าของบ้าน เช่น จากเดิมมี 3 ห้องนอน ก็ปรับลดให้เหลือเพียง 1 ห้องนอน พร้อมเพิ่มห้องน้ำในชั้นบน ชั้นล่างถูกถอดผนังออกบางจุดให้กลายเป็นห้องโล่ง ๆ ใส่ส่วนจำเป็นเข้ามาแทนที่ เช่น ห้องครัว และส่วนรับประทานอาหาร ด้านหลังเป็นส่วนซักผ้า เดิมไม่มีห้องน้ำชั้นสองเพราะด้านบนอาคารเป็นไม้ เราจึงเสริมโครงสร้างจากเหล็กเข้าไปด้านหลัง เพื่อทำห้องน้ำให้ยื่นเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องลงมาใช้ห้องน้ำชั้นล่างเหมือนแต่เดิม”

บ้านโทนสีขาว-เทา

หลังจากปรับปรุงบ้านเรียบร้อย บ้านเก่าหลายห้องเล็กก็กลายมาเป็น บ้าน 1 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 120 ตร.ม. เคาะงบประมาณแล้วสรุปที่ 5 แสนกว่าบาทปลาย ๆ  ซึ่งครอบคลุมจนจบงานของตัวบ้าน คือ งานโครงสร้าง งานระบบสุขาภิบาล ระบบไฟฟ้า และงานสถาปัตยกรรม ไม่รวมงานตกแต่ง

มุขหน้าบ้าน

สีหลักของบ้านนี้เลือกใช้โทนสีขาว-เทา ซึ่งคุณพรรษธรณ์เป็นคนเลือกเพราะชอบโทนสี ด้วยเหตุผลที่ว่าสีเทาขาวเป็นสีกลาง จึงหาของตกแต่งที่เข้ากันง่ายและโทนสีเทายังช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้จิตใจสงบ มั่นคง เป็นสีที่ดูได้นานไม่เบื่อ เมื่อจับคู่กับสีขาวและผสมกับกระเบื้องลายไม้แล้ว ทำให้บ้านมีบรรยากาศ Homey

ปูพื้นกระเบื้องหน้าบ้านใหม่

– เหนื่อยนักกลับมาพักในบ้านและสวน –

แนวคิดในการปรับปรุงนอกจากจะคำนึงถึงเรื่อง ทิศทางของแสง ลม การระบายอากาศที่ดี เพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในเขตร้อนแล้ว ยังปรับปรุงโดยยึดความต้องการของผู้ใช้อาคารประกอบด้วย เช่น มีสมาชิกอยู่อาศัยกี่คน ไลฟ์สไตล์หรือกิจกรรมที่ชื่นชอบมีอะไรบ้าง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด จากการพูดคุยกันเองในครอบครัว ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า อยากให้บ้านหลังนี้เป็นเหมือนจุดพักผ่อน ไม่ใช่เพียงอยู่อาศัย แต่เป็นบ้านที่ช่วยบำบัดความเหนื่อยล้าหลังผ่านการทำงานมาทั้งวัน จึงออกแบบบ้านให้โปร่งโล่งสบายตา และมีสวนน้ำที่เชื่อมต่อกับบ้าน เมื่อกลับมาก็จะได้รับการต้อนรับด้วยความสดชื่นให้ผ่อนคลาย

ห้องนั่งเล่นรับแขก

ผนังกระจกมองเห็นวิวสวน

ส่วนงานภายในคือการปรับใหม่ทั้งหมดของตัวบ้าน ซึ่งบ้านในสมัยโบราณจะสร้างตามช่วงเสา ผนังของห้องก็วิ่งเข้าหาเสา ตำแหน่งคานก็ไม่หนีเสา ซึ่งงานแบบนี้จะทำให้เราอยู่อาศัยกันตามกรอบสี่เหลี่ยมของเสาและผนังที่ถูกวางไว้ แต่การปรับใหม่ จะรื้อหน้าต่างบานเกล็ดเก่าออกพร้อมกับทุบผนังเดิมออกบางส่วน (ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง) แล้วแทนที่ด้วยกระจกใส ทำให้บ้านโปร่งสว่างและมีอิสระทางสายตามากขึ้น สามารถเชื่อมต่อระหว่างภายในภายนอกได้ดีกว่าเดิม ในขณะที่เสน่ห์งานไม้ของช่างสมัยก่อนยังคงหลงเหลืออยู่

มุมนั่งเล่น

– Open Plan รวมที่ของฉัน ที่ของเธอ เป็นที่ของเรา –

ชั้นล่างเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนมาใช้งานร่วมกันได้ จัดผังบ้านตามสไตล์บ้านยุคใหม่แบบ open plan ให้มีความโปร่งโล่งสบายเชื่อมถึงกันแบบไร้ผนังกั้น จัดโซนใช้สอยที่แตกต่างเข้าไว้ด้วยกันในพื้นที่เดียว ประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และครัว โดยใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวกำหนดพื้นที่ใช้งาน ซึ่งเลือกแบบลอยตัวเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถเคลื่อนย้ายหรือปรับเปลี่ยนการใช้งานได้สะดวก พื้นบ้านปูด้วยกระเบื้องลายไม้ ให้ความรู้สึกอบอุ่น เข้ากันได้ดีกับผนังสีขาวและโซฟาตัวนุ่มสีเทา การตกแต่งนำเสนอแนวคิด Minimalism Style น้อยชิ้นแต่ประทับใจมากและใช้งานได้จริง

มุมทานอาหารโปร่งสว่าง

ห้องครัวและห้องทานอาหาร

โต๊ะทานข้าวสีไม้ธรรมชาติวางข้างหน้าต่างรับแสงสีทองอ่อน ๆ ยามเช้าให้บรรยากาศผ่อนคลาย เป็นมุมโปรดที่เจ้าของบ้านมักจะมานั่งดื่มกาแฟหลังอาหารเช้าเติมพลังก่อนคิดงานต่อ ถัดไปเป็นครัวรูปตัว L ตามรูปร่างห้อง ขนาดพอดีพอเหมาะสำหรับใช้งานจริง เคาน์เตอร์ซิงค์ล้างตรงกับหน้าต่างเปิดรับแสงและลมเข้ามาลดความชื้น

จัดบ้านแบบ open plan

จุดโฟกัสสายตาที่น่าสนใจในครัวที่ใครได้เห็นก็ต้องรู้สึกว่าแปลกตาคือฝ้าเพดานที่ตีปิดคานบ้านเดิมครึ่งหนึ่ง แล้วซ่อนไฟใต้ฝ้า ทำให้แสงกระจายออกมาสวยงามไม่เหมือนใคร ซึ่ง “บ้านไอเดีย” คิดว่าเป็นแนวคิดที่เท่มาก ๆ คุณทวนชัยอธิบายว่าเป็นปัญหาที่บังเอิญแก้ไขออกมาลงตัวพอดี

“ที่เห็นเท่คือ จริง ๆ แล้วเป็นการแก้ปัญหาครับ คือ ชั้นบนบริเวณที่ตรงกับส่วนนี้เป็นงานพื้นห้องน้ำโครงสร้างเหล็กที่ยื่นเข้ามา จึงทำฝ้าปิดและใส่ไฟดังที่เห็นครับ เท่ไปอีกแบบ แต่ทั้งนี้เราคิดไว้ก่อนนะครับว่าจะเป็นแบบนี้เลยออกมาค่อนข้างลงตัว”

บรรยากาศบ้านยามค่ำ

ครัวสีขาวตกแต่งบานไม้

ประตูรางแขวนสไลด์ข้าง

ข้าง ๆ ครัวเป็นประตูกระจก 9 ช่องดึงแสงเข้ามาในห้องครัวอีกทางหนึ่ง เดิมเป็นประตูหน้าบ้านบานเปิดธรรมดา เมื่อถอดออกก็ไม่ได้ทิ้ง แต่นำมาประยุกต์เอามาใส่รางเลื่อนแบบแขวน กลายเป็นบานเลื่อนหลบเข้าผนัง ทำให้การใช้สอยประหยัดพื้นที่กว่าบานเปิดผลักเข้า-ออก ที่จะเสียพื้นที่ด้านหน้าหรือด้านหลังประตูบางส่วนไป เป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าอย่างมีความคิดสร้างสรรค์

– โถงบันได จุดเล็ก ๆ ที่ทำให้บ้านดูดีได้ –

โถงบันไดเป็นอีกหนึ่งจุดเล็ก ๆ ที่ใคร ๆ มักคิดไม่ถึงว่าจะมีส่วนช่วยให้บ้านดูดีได้ โดยปกติบ้านทั่วไปมักจะตีผนังทึบทำให้ต้องบริเวณนี้ค่อนข้างมืด จึงต้องใช้โคมไฟช่วยส่องสว่างตลอดเวลา คุณทวนชัยจึงออกแบบเจาะช่องแสงติดเพดานด้านบนและใส่หน้าต่างบานกระจกเพิ่ม ทำให้แสงธรรมชาติลอดผ่านเข้ามากระจายสู่ภายในได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า  นอกจากนี้การใช้สีทาผนังและเพดานโทนสีขาวสว่าง ก็จะช่วยให้สามารถกระจายแสงได้มากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทาง และเพิ่มความปลอดภัยขณะเดินขึ้น-ลง

หน้าต่างบานผลัก

มุมมองโถงบันไดจากภายนอกจะเห็นหน้าต่าง 2 ช่องเล็ก ที่เป็นบาน fix ติดตายด้านล่าง ส่วนหน้าต่างตรงกลางเป็นบานกระทุ้งเปิดออกระบายอากาศได้ ช่องแสงบนสุดเป็นบาน fix เช่นกัน หลาย ๆ คนอาจจะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเพราะหน้าต่างเป็นกระจกใสและอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างต่ำ คุณทวนชัยคลายข้อสงสัยว่า “รอบ ๆ บ้านค่อนข้างสนิทและรู้จักกันดีจึงช่วยเป็นหูเป็นตาได้ และใช้งานตกแต่งรูปลักษณ์ธรรมดา ไม่ได้หรูหราให้สะดุดตามิจฉาชีพ จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาครับ”

ตกแต่งบนชั้น 2

ผ้าม่านม้วน

จากโถงบันได เดินขึ้นมาเรื่อย ๆ ถึงชั้น 2 จะเห็นพื้นบ้านที่เป็นไม้จริงทั้งหมด ผ่านกระบวนการขัดและทาสีเคลือบเงาให้ดูใหม่ขึ้น สำหรับผนังกั้นห้องเดิมถูกถอดออกเพื่อรวมพื้นที่ให้เป็นผืนเดียวกันกว้าง ๆ วัสดุผนังด้านหน้าและด้านหลังยังเป็นไม้เดิมบางส่วน แต่ในส่วนที่ไม้ผุพังเสียหายจนใช้งานไม่ได้แล้วเปลี่ยนมาใช้แผ่นเมทัลชีทสีขาวแทนที่ ซึ่งดูแนบเนียนไปกับผนังไม้ ด้านซ้ายมือของบันไดจะเป็นมุมสวดมนต์ไหว้พระ ถัดไปเป็นห้องน้ำ มีสเปซเล็ก ๆ ทำเป็นมุมแขวนเก็บเสื้อผ้า ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นห้องนอน

ตกแต่งบนชั้น 2

ห้องนอนชั้นบน

ห้องนอนไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเตียงนอนนุ่ม ๆ ติดพื้นแบบ  Floor Bed 1 หลังกับโซฟานั่งเล่นนอนเล่นอีกหนึ่งตัว ให้พื้นที่สำหรับพักผ่อนเต็มไปด้วยความโปร่งสบาย ชวนให้หลับสนิทตลอดทั้งคืน

ห้องน้ำผนังปูนขัดมัน

-มุมเซ็กซี่กับห้องอาบน้ำเอาท์ดอร์-

หมดเวลาเหนียมอาย มาเปลี่ยนบรรยากาศเปิดปล่อยร่างกายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ในมุมที่เซ็กซี่ที่สุดในบ้าน “ห้องอาบน้ำเอาท์ดอร์” ที่เปิดเพดานโล่ง ให้ผิวหนังสัมผัสสายลมที่เอื่อยมาปะทะ เปิดมุมมองสายตาอย่างเป็นอิสระชื่นชมแสงดาวบนท้องฟ้ายามค่ำ สร้างมิติใหม่ในการอาบน้ำให้เต็มไปด้วยความสุนทรี ซึ่งคุณทวนชัยตั้งใจออกแบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการห้องอาบน้ำสำหรับอาบลมชมดาวของภรรยา จนได้ผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ห้องอาบน้ำเอาท์ดอร์

เจ้าของบ้าน PT House

คุณพรรษธรณ์ รัชนาลักษณ์ และคุณทวนชัย ชั้นกระโทก เจ้าของบ้าน

บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า บางช่วงชีวิตคนเราต้องการการเปลี่ยนแปลงในชีวิตไปสู่สิ่งใหม่ ๆ  ที่ต้องมาถึงวันใดวันหนึ่ง แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลบอดีตทิ้งไปทั้งหมด  เพราะสิ่งที่มีอยู่เดิมใช้เวลาสั่งสมทีละเล็กทีละน้อยจึงทรงคุณค่ากับความรู้สึก การทะนุถนอมความทรงจำของกันและกัน ด้วยการปรับประยุกต์ปัจจุบันเข้ากับอดีตอย่างสมดุล อาจจะให้ผลลัพธ์ที่นำไปสู่อนาคตที่งดงามกว่าก็เป็นได้

สำหรับใครที่มีบ้านเก่า ๆ และกำลังลังเลใจว่าจะรื้อหมดทำใหม่ หรือรีโนเวทบางจุด เมื่อได้อ่านบทความนี้ก็อาจจะเทใจให้การรีโนเวท ทั้งนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างอาคารและงบประมาณก่อนตันสินใจนะครับ เพราะบ้านบางหลังหากรีโนเวทอาจจะใช้งบประมาณพอ ๆ หรือมากกว่าการสร้างใหม่ได้เลยทีเดยวครับ

แปลนบ้าน

http://credit-n.ru/zaymyi-next.html http://www.tb-credit.ru/zaimy-na-kartu.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด บ้านไอเดียแฟมิลี่


โพสต์ล่าสุด