ห้องสมุดชุมชนพลังงานธรรมชาติ Zero Energy
ห้องสมุด สำหรับเด็กในชนบทสมัยก่อนถือว่าเป็นแหล่งความรู้ใหญ่ๆ นอกระบบโรงเรียนที่เด็ก ๆ จะสามารถหาข้อมูลที่อยากรู้เพิ่มเติมจากหนังสือเรียน แม้ว่าปัจจุบันในไทยจะมีจำนวนห้องสมุดน้อยลงมาก เพราะคนรุ่นใหม่หาความรู้กันได้ง่ายขึ้นจากโทรศัพท์มือถือ แต่ในประเทศจีนที่ให้ความสำคัญกับการอ่านมาก ในปี 2023 ยังคงมีโปรเจ็คห้องสมุดขนาดใหญ่เอาไว้ให้เด็กมานั่งอ่านหนังสือสงบๆ และสามารถใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย
ออกแบบ : Wall Architects of XAUAT
ภาพถ่าย: Jinquan Kong
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ห้องสมุด Qinfeng แห่งนี้ตั้งอยู่ใน “โรงเรียนมัธยมต้นแห่งที่ 18 ของเขตไฮเทคซีอาน ซึ่งเป็น “ห้องสมุดโรงเรียนชนบท” แห่งที่สองของโครงการ Hope ในมณฑลส่านซี ที่สร้างเสร็จโดยทีมงานร่วมกับ “โครงการสวัสดิการสังคม Samsung (จีน)” ห้องสมุดแห่งนี้เป็นคลังความรู้ที่เต็มไปด้วยหนังสือมากมายชวนให้เด็กมาอ่าน แต่มีส่วนที่ต่างจากที่อื่นๆ เพราะใช้แนวคิดการออกแบบของการบูรณาการและการพึ่งพากันกับสิ่งแวดล้อม
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ไม่เพียงแต่จุดประสงค์หลักเท่านั้น แต่โครงการนี้ยังทดลองสำรวจการเปิดและการแบ่งปันกับชุมชนด้วย โดยสถานที่ก่อสร้างตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของโรงเรียน ติดกับถนนชนบทสายหลักสองสายทางทิศตะวันออกและทิศใต้ จุดประสงค์ของที่ตั้งอาคารหันออกภายนอก คือ เพื่อให้ตัวอาคารเป็นจุดเชื่อมต่อที่สามารถให้บริการทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนและเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านใกล้เคียงด้วย
พื้นที่กึ่งกลางแจ้งเปิดโล่งใต้ชายคาทางด้านทิศใต้ และพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่ชั้นล่าง มีไว้สำหรับให้เด็กนักเรียนมานั่งเล่น และกลายเป็น “พื้นที่ส่วนกลาง” สำหรับการโต้ตอบระหว่างชีวิตโรงเรียนและชาวบ้าน เพราะสามารถจัดใช้ที่นี่จัดกิจกรรมเสริมสร้างชีวิตทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของชนบทในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา นิทรรศการ การแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ การแสดง และความเป็นไปได้อื่นๆ ชดเชยการขาดพื้นที่โต้ตอบสาธารณะที่เหมาะสม
ปกติเราจะเห็นการวางชั้นหนังสือไว้ด้านในอาคาร เพื่อให้ห่างจากแสงแดดและฝนที่อาจทำให้หนังสือเกิดความเสียหายได้ แต่การเข้าถึงก็ยากกว่า และสำหรับเด็กที่ไม่ชอบคนพลุกพล่านในห้องสมุดก็ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือ แต่ที่นี่จะมีบางส่วนของตู้หนังสือที่จัดวางไว้ข้างนอกให้หยิบอ่านง่ายๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงแดดหรือฝน เพราะมีชายคายื่นออกมาค่อนข้างกว้าง
ภายในห้องสมุดจะเป็นอาคารสีขาวดูสงบ สว่าง สบายตา มีตู้หนังสือเรียงตามขอบผนัง เว้นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ตรงกลาง สามารถใช้ทำกิจกรรมพิเศษกับเด็ก ๆ นอกเหนือจากการอ่านหนังสือได้ การวางแนว รูปทรง ความลาดเอียง และช่องเปิดของอาคาร ออกแบบมาเพื่อให้ภายในได้รับแสงอาทิตย์มากขึ้นในฤดูหนาว และการระบายอากาศตามธรรมชาติที่ดีขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านและฤดูร้อน รูปแบบความลาดเอียงทางเดียวช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบของแสงแดดต่ออาคารทางทิศเหนือ และสกายไลท์บนหลังคาช่วยเสริมแสงธรรมชาติตลอดทั้งปี และการระบายอากาศในฤดูร้อนของพื้นที่ในร่มด้วย
การออกแบบอาคารนี้เน้นทั้งประโยชน์ในการใช้งานและมีความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา ด้วยการสนับสนุนทางเทคนิคของทีมวิจัยอาคาร Zero Energy & Zero Carbon จากมหาวิทยาลัยสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีซีอาน ซึ่งได้ประยุกต์ใช้และส่งเสริมเทคโนโลยีอาคารคาร์บอนต่ำ ดังนั้นระบบไฟส่องสว่าง อุปกรณ์มัลติมีเดีย ปลั๊กไฟ และหน้าต่างอัจฉริยะจึงใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้อาคารแห่งนี้ใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรงทั้งหมด โดยอุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ติดตั้งด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของชิ้นส่วนฝังตัวที่ผสานโครงสร้างและโครงเหล็ก เพื่อความสวยงาม ความปลอดภัย โดยห้องสมุดมีอุปกรณ์ตรวจสอบครบชุด และข้อมูลจะถูกส่งไปยังคลาวด์แบบเรียลไทม์
แม้ว่าห้องสมุด Qinfeng ซึ่งเป็นห้องสมุดโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่ำ จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการก่อสร้างภายใต้สภาพแวดล้อมชนบท แต่การส่งเสริมโครงการนี้อย่างต่อเนื่องจะเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาอาคารในชนบทและสวัสดิการสาธารณะในมณฑลส่านซีอย่างแน่นอน ซึ่งโครงการนี้เป็นผลลัพธ์ของโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติตาม “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14” ของจีน ที่ส่งเสริม “การวิจัยและสาธิตเทคโนโลยีหลักสำหรับอาคารปลอดคาร์บอนในพื้นที่ที่มีพลังงานแสงอาทิตย์สูง” และยังเป็นการตอบสนองเชิงบวกต่อนโยบายชุดหนึ่งของรัฐและมณฑลส่านซีเกี่ยวกับอาคารปลอดคาร์บอนและ BIPV ด้วย
แปลนอาคาร