บ้านหันหน้าทางทิศใต้ลดร้อนรับลม
มีคำกล่าวของคนโบราณว่า “ถ้าจะสร้างบ้านให้หันหน้าไปทางทิศใต้” นี่คือหนึ่งองค์ความรู้ที่คนรุ่นก่อนๆ ได้รับสืบทอดมาจากการสร้างบ้านแบบดั้งเดิม บ้านที่อยู่สบายต้องไม่ลืมคำนึงถึงทิศทางของบ้าน และตำแหน่งช่องลมช่องเปิดประกอบกันด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ เส้นทางที่ลมพัดผ่าน ทำให้บ้านเย็นสบายในฤดูร้อนและอบอุ่นในฤดูหนาว หากไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็จะทำให้บ้านไม่ได้รับแสงและลมอย่างที่ควรจะเป็น เนื้อหานี้เรามีตัวอย่างบ้านเรียบๆ ง่ายๆ กลางทุ่งหญ้า มองดูไม่หรูหราแต่มีสิ่งพิเศษเป็นตั้งใจให้ใช้ประโยชน์จากทิศทาง เพื่อให้บ้านยังคงมีสภาวะสบายในบริบทของเขตร้อนมาฝากกันครับ
ออกแบบ : Cuong building workshop
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
โครงการนี้อยู่ในเขตบ๋าวก จังหวัดทานห์ฮวา ห่างจากกรุงฮานอย ประมาณ 200 กม. ที่ดินล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำและทิวเขาสงบสวยงาม แต่มีข้อด้อย คือ หันไปทางทิศตะวันตก-ใต้ ซึ่งเป็นข้อเสียอย่างมากในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นการทำให้บ้านเย็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ กระบวนการออกแบบเริ่มต้นด้วยการศึกษาพื้นที่ พบว่าหากผังบ้านวางตามแนวของที่ดิน ในช่วงฤดูร้อนอากาศจะร้อนอบอ้าวมาก เนื่องจากผนังบ้านมากกว่า 70% จะได้รับแสงแดดจัดในฤดูร้อน นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมตัวบ้านจึงถูกวางในลักษณะทแยงมุมกับที่ดิน แล้วแบ่งเป็น 2 อาคารขนานกัน เพราะด้านที่สั้นที่สุดของบ้านจะหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ส่งผลให้พื้นที่บ้านได้รับรังสีความร้อนน้อยลงนั่นเอง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
นอกจากประสบการณ์การดูทิศทางแสงลม ที่ได้ส่งต่อเพลิดเพลินกับสภาพอากาศสบายในเขตร้อนมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว การก่อสร้างของคนในท้องถิ่นทางตอนเหนือของเวียดนามก็มีฝีมือไม่แพ้ใคร และบ้านหลังนี้ก็ใช้วัสดุพื้นถิ่นอย่างอิฐแดง แผ่นหิน มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้านผสมผสานกับวัสดุใหม่ๆ
หลังคาที่บ้านที่มีองศาต่ำและยื่นออกมาอย่างมากจากผนังนั้น ทำขึ้นเพื่อให้สร้างร่มเงาให้บ้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง และเช่นเดียวกับบ้านแบบเวียดนามดั้งเดิม บ้านหลังนี้ยังมีเฉลียงหน้าบ้านลึกและยาวที่หันไปทางทิศใต้ ซึ่งบริเวณนี้เป็นส่วนที่มีศักยภาพในการสร้างร่มเงาได้มากกว่าส่วนอื่นๆ ในบ้าน ชวนให้ออกมานั่งเล่นได้สบายๆ นอกจากนี้ วิธีแก้ปัญหานี้ยังสามารถลดแสงสะท้อนที่ดวงตาซึ่งทำให้เกิดความไม่สบายตาได้อีกด้วย
ด้วยรูปร่างของบ้านที่ตัดทแยงกับที่ดิน ทำให้เกิดมุมสามเหลี่ยมขึ้นหลายๆ จุด ในส่วนของการจัดภูมิทัศน์หน้าบ้านจึงทำสระน้ำขนาดใหญ่รูปทรงสามเหลี่ยมตามรูปร่างที่ดิน และลานหน้าบ้านปูด้วยอิฐแดง นอกจากจะเป็นพื้นที่พักผ่อนระหว่างวันแล้ว ยังเป็นหนึ่งวิธีช่วยระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก เนื่องจากสระสามารถกักเก็บความชื้นไว้ภายในได้ นอกจากนี้ รั้วยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ แทนที่จะปิดทึบ รั้วกลับทำด้วยอิฐก่อเว้นช่องว่าง เพื่อให้ลมผ่านเข้าไปในแปลงได้ และรั้วยังเย็นลงเร็วขึ้นเนื่องจากมีพื้นผิวให้สัมผัสกับอากาศมากขึ้น
เส้นสลิงแนวตั้งที่ติดเรียงตัวยาวตลอดแนวสระน้ำนี้ ทำขึ้นเพื่อให้ต้นไม้เลื้อยไต่ขึ้นมาเมื่อเติบโตขึ้น เป็นทั้งสวนแนวตั้งประดับบ้านและทำหน้าที่กรองแสง พรางสายตาพื้นที่ภายในจากผู้คนที่ผ่านไปมาด้วย
ข้างบ้านเป็นส่วนของโรงรถที่มุงด้วยวัสดุโปร่งแสง ไม่ให้ภายในรู้สึกมืดเกินไป จากจุดนี้จะมีโถงทางเดินเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวบ้านได้จากด้านหลัง ในบริเวณนี้จุดเดียวจะเห็นความหลากหลายของผิวสัมผัสอันหลากหลายของวัสดุ ทั้งอิฐแดงก่อโชว์แนว ตัดด้วยผนังอิฐโชว์แนวทาสีขาว ผนังบล็อกแก้ว ซึ่งให้บรรยากาศที่แตกต่างกับตัวบ้าน
ในสภาพอากาศร้อนชื้น การมารวมกันของอุณหภูมิที่สูงและความชื้นสูงให้ห้องที่ไม่มีทางระบายอากาศ ทำให้เกิดความอบอ้าวไม่สบายตัว ดังนั้นการทำช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่ในทิศทางที่อากาศไหลเวียนไดไ้ดี จะช่วยระบายความร้อนด้วยการพาความร้อน ในบ้านนี้จึงพยายามสร้างการระบายอากาศตามธรรมชาติ โดยติดตั้งประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่เปิดออกได้กว้างมาก เพื่อนำความชื้นและความร้อนในอากาศออกไปจากบ้าน การหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ยังได้รับลมเย็นที่พัดมาจากทิศนั้นบ่อยครั้ง ภายในบ้านจึงเย็นสบายตลอดทั้งวัน
การจัดแปลนบ้านแบบ open plan รวมฟังก์ชันใช้ชีวิตส่วนรวมหลัก ๆ อย่างห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว มุมทำงานไว้ด้วยกันในห้องโถงใหญ่ๆ พร้อมตกแต่งง่ายๆ เฟอร์นิเจอร์หลัก ๆ ที่ใช้งานไม่กี่อย่าง ยิ่งทำให้บ้านดูโปร่งโล่ง สัญจรง่าย อากาศและแสงไหลได้ดี แต่ในขณะเดียวกันผู้อยู่อาศัยก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัวและปิดบ้านป้องกันแสงบางเวลา จึงติดตั้งผ้าม่านบางๆ เอาไว้ให้เลือกใช้งานตามสถานการณ์
เนื่องจากนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ มักจะเคลื่อนที่ตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ เราจะง่วงนอนเมื่อฟ้ามืดและอากาศเย็น และจะอยากตื่นเมื่อฟ้าสว่าง ดังนั้น การจัดวางฟังก์ชันในบ้านจึงควรบอกได้ว่ามนุษย์ปรับตัวกับแสงแดดอย่างไร อย่างบ้านนี้จะจัดตำแหน่งให้ห้องนอนอยู่ทางทิศเหนือ เนื่องจากต้องการแสงแดดน้อยกว่า ห้องนั่งเล่นและห้องครัวอยู่ทางทิศใต้ เนื่องจากต้องการแสงมากกว่าสำหรับกิจกรรมในเวลากลางวัน เพื่อการกันความร้อนที่ดีขึ้น ส่วนห้องน้ำทั้ง 2 ห้องถูกวางไว้ทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก เพื่อใช้เป็นพื้นที่กันชนสำหรับห้องนอนและทางเดิน แถมยังได้รับแสงเพื่อลดความชื้นให้ห้องน้ำแห้งอยู่เสมอ