เมนู

ความชื้นในบ้าน อย่าปล่อยผ่าน ถ้าไม่อยากให้บ้านป่วย

ปัญหาบ้านชื้น

บ้านชื้น ปัญหาคู่บ้านที่ไม่ควรมองข้าม

สภาพอากาศในเมืองไทยที่สัมผัสได้ทุกวันมีทั้งความทั้งร้อนและชื้น ความร้อนสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตมากพอสมควร แต่ความชื้นก็ไม่น้อยหน้าเพราะถ้าในตัวบ้านสะสมความชื้นเอาไว้มาก ๆ นอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวบ้าน คือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในเนื้อวัสดุ ทำให้เกิดการสึกกร่อนของวัสดุ จนแตกร้าวได้แล้ว เชื้อราที่เกาะอยู่ตามผนังอาคารจะปล่อยสารพิษ Mycotoxin ออกมาทำให้ “ตึกป่วย” และ “คนป่วย” ได้

ความชื้นที่มีมากเกินไปส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายที่จะกระตุ้นให้โรคหอบหืดกำเริบได้ง่าย และยังทำให้เกิดสารก่อภูมิแพ้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา ไรฝุ่น เชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยนะครับ บทความในวันนี้จึงอยากจะพาผู้อ่านไปรู้จักกับความชื้น การป้องกัน และวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นกันเพื่อสุขภาพบ้านและสุขภาพกายที่ดีกันครับ

เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านชื้น

ภาพประกอบ : www.insider.com

ความชื้นที่เหมาะสมในบ้านควรจะเป็นอย่างไร จริงๆ แล้วความชื้นก็ไม่ได้แย่ไปทั้งหมด ในบ้านจำเป็นต้องความมีความชื้นอยู่เพื่อให้เกิดความสบายตัว ผิวหนังไม่แห้งแตก หายใจได้สะดวก แต่ก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยทั่วไปแล้วความชื้นภายในอาคารควรอยู่ระหว่าง 20- 50% ซึ่งปกติสภาพอากาศในเมืองไทยโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนมักจะมีความชื้นเกินกว่า 50 % อยู่แล้วจึงมักทำให้เกิดปัญหากับตัวอาคาร

เราจะทราบได้อย่างไรว่าบ้านมีความชื้นมากไป ถ้าที่บ้านมีอุปกรณ์ตรวจวัดความชื้น ที่เรียกว่าไฮโกรมิเตอร์ แถบวัดความชื้น หรือไซโครมิเตอร์ ก็สามารถบอกค่าความชื้นได้ แต่เครื่องมือเหล่านี้ราคาค่อนข้างสูงตั้งแต่ประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป บางบ้านอาจจะไม่สะดวกในการซื้อหามาติดตั้งก็ต้องลองสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบบ้านว่าเข้าข่ายลักษณะแบบนี้หรือไม่

  • สังเกตสีทาผนัง ปูน หรือวอลล์เปเปอร์ ว่ามีการลอกล่อน มีรอยน้ำ ความอับชื้น หรือเชื้อราดำๆ หรือไม่
  • มีเชื้อราเกิดขึ้นที่บริเวณฝ้าเพดาน
  • เฟอร์นิเจอร์ พรม ไม้ปาเก้ปูพื้น มีร่องรอยบวมน้ำหรือเป็นรา
  • สังเกตการรั่วซึมของน้ำที่พื้น รอยแตกของผนัง ขอบวงกบประตูหน้าต่าง
  • มีหยดน้ำเกาะตามท่อน้ำ
  • มีกลิ่นอับชื้น

ฝ้าทะลุ

ภาพประกอบ : www.insider.com


ความชื้นมาจากช่องทางไหนได้บ้าง ความชื้นในบ้านและในอาคารมาได้จากหลายทิศทาง อาทิ

  • ความชื้นจากน้ำที่มาสัมผัสกับผนังโดยตรง เช่น ถูกฝนสาดเข้าผิวหน้าของผนังอาคาร
  • เกิดจากการดูดซึมน้ำในดิน มักเกิดกับบ้านที่ไม่มีการระบายน้ำที่ดี หรือสร้างอยู่ในพื้นที่รับน้ำมากก่อน
  • เกิดจากฝน ไหล รั่ว ซึมเข้าสู่อาคารจากรอยร้าวรั่วของผนังหรือหลังคา
  • ความชื้นจากห้องน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความชื้นมากที่สุดในบ้าน จึงต้องระวังการรั่วซึมที่จะทำให้ผนังห้องน้ำ ฝ้าเพดาน ประตู เสียหาย และอาจจะลามไปส่วนอื่น ๆ ได้
  • รอยรั่วซึมจากระบบท่อประปา หรือท่อระบายน้ำต่างๆ ที่บกพร่องเสียหาย และไม่มีการระบายน้ำออกจากตัวบ้านลงสู่ท่อน้ำสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ
  • เกิดจากน้ำท่วมขังจากภัยธรรมชาติ
  • การระบายอากาศทำได้ไม่ดีพอ เนื่องจากไม่มีช่องลมในขนาดและจำนวนที่เหมาะสม มักเกิดกับห้องชุดหรือทาวน์เฮาส์ที่ไม่สะดวกเปิดหน้าต่าง อากาศจึงถ่ายเทได้ไม่เต็มที่
  • ช่องแสงในบ้านมีไม่เพียงพอ  การติดตั้งช่องแสงขนาดเล็กในทิศทางอับแสงและมีจำนวนน้อย ทำให้บ้านการระบายความชื้นทำได้ยาก

ปัญหาบ้านชื้น

ภาพประกอบ : www.insider.com

ป้องกันและแก้ไขบ้านจากความชื้นได้อย่างไร

กรณีที่ 1 บ้านที่วางแผนจะสร้างหรือกำลังก่อสร้าง การป้องกันเรื่องความชื้นในบ้านสามารถทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อที่ดิน การออกแบบบ้าน และการลงมือก่อสร้าง คือ

  • เลือกที่ตั้งที่เหมาะสม ไม่มีน้ำขัง ระบายน้ำได้ง่าย ไม่อยู่ต่ำกว่าถนน
  • ออกแบบบ้านให้มีกันสาดเพื่อป้องกันตัวบ้านจากละอองฝน
  • สร้างบ้านที่ยกพื้นสูงขึ้นจากระดับพื้นดินเพื่อให้มีพื้นที่ระบายความชื้น
  • สำหรับบ้านที่ฐานติดดิน ต้องใส่ใจขั้นตอนงานเทพื้นชั้นล่าง โดยเฉพาะดินที่ด้านล่างมีความชื้นหรือน้ำใต้ดินมาก คอนกรีตที่อยู่เหนือดินจะดูดความชื้นขึ้นมาสะสมไว้ทำให้พื้นชั้นล่างชื้น ดังนั้นบ้านที่เสี่ยงต่อการซึมของน้ำใต้ดินอาจจะต้องปูพลาสติกรองก่อนเทพื้น
  • ทำโครงสร้างเพดานหรือหลังคาด้วยวัสดุประเภท Vapor barrier หรือแผ่นวัสดุกันความชื้น
  • หลังคาควรทำให้ลาดเอียงเพื่อระบายน้ำออกจากหลังคาให้เร็วที่สุด
  • ออกแบบหลังคาให้มีรอยชนของผืนหลังคาน้อย ป้องกันน้ำรั่วซึมบริเวณรอยต่อต่างๆ ของหลังคา อย่างการทำปีกนกหล่อเตรียมตอนทำผนัง การทำ flashing หรือติดอุปกรณ์ยึดครอบผนัง สร้างด้วยวัสดุที่แข็งแรงทนแรงลม ติดช่องระบายอากาศบริเวณหลังคา มีฉนวนป้องกัน และทำระบบรางน้ำฝน
  • ออกแบบให้ตัวบ้านมีช่องแสงและช่องลมขนาดใหญ่ เลือกจุดติดตั้งที่เหมาะสมหลายๆ จุด เพื่อให้บ้านได้รับแสงแดดเข้ามากำจัดความชื้น และระบายความชื้นออกจากตัวบ้านได้ดี
  • รอยต่อทุกแห่งของกำแพง ต้องมีการออกแบบทำการเชื่อมปิด  เพื่อกั้นการแทรก ซึม ของน้ำและความชื้น โดยทำแผ่นกันน้ำหรือความชื้นที่ไหลย้อนขึ้นจากดิน หรือทำกำแพงสองชั้นเพื่อให้มีช่องว่างตรงกลางเพื่อจำกัดการดูดซึมของน้ำ
  • ไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้ตัวอาคารมากเกินไป เพราะต้นไม้เป็นตัวสะสมความชื้นและอาจบังทิศทางลม
  • เลือกใช้วงกบประตูหน้าต่างแบบบังใบ ซึ่งจะเข้ากันสนิทกว่าบานแบบตัดขอบตรง

ช่องหน้าต่างกระจก

ภาพประกอบ : KuDa Photography

กรณีที่2 บ้านที่สร้างเสร็จแล้ว การป้องกันความชื้นอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของบ้าน ร่องรอยการชำรุด แล้วปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมแซมแก้ไข แต่โดยหลัก ๆ แล้วการแก้ไขปัญหาความชื้นของบ้านจะมีจุดสำคัญหลัก ๆ เช่น

  • เพิ่มขนาดช่องแสงและช่องลม ถ้าที่บ้านมีจุดรับแสงและระบายอากาศน้อยก็ต้องเจาะเพิ่ม เพื่อให้แสงจากธรรมชาติและลมเข้ามาช่วยระบายความชื้นออกจากตัวบ้าน
  • ใช้พัดลมช่วยระบายในพื้นที่มีความชื้น เช่น ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องใต้ดิน
  • ไม่เพิ่มความชื้นในตัวบ้าน ปกติกิจกรรมที่เราทำประจำวันอาจเกิดความชื้นสะสมในบ้านได้ เช่น การอาบน้ำนาน ๆ การล้างจานแล้วทิ้งน้ำลงรอบ ๆ ตัวบ้าน การใช้ผ้าชุบน้ำเปียกๆ ถูพื้น โดยเฉพาะในพื้นปูนขัดมันจะดูดซับความชื้นได้ดี ให้ลองเปลี่ยนมาเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแทน ส่วนห้องที่ชื้นอยู่แล้วก็ไม่ควรมีตู้ปลา น้ำพุ หรือจุดตากผ้า เป็นต้น
  • อุดปิดรอยรั่วซึมของน้ำตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ผนัง กำแพง ฝ้าเพดาน ท่อประปา ห้องน้ำ ท่อแอร์
  • ติดกันสาดบริเวณประตูหน้าต่างในจุดที่ฝนอาจจะสาดถูกตัวบ้าน
  • ติดตั้งเครื่องซักผ้านอกตัวบ้าน หรือติดในจุดที่มีช่องระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี
  • หาสาเหตุของความชื้นในบ้าน ซึ่งอาจเกิดจากเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ที่เป็นไม้อัด ปาร์ติเกิ้ล หรือเส้นใยอย่าง พรม หมอน หรือที่นอน ถ้ามีก็ให้นำออกไปตากแดดจัดๆ เป็นเวลา 3-5 วัน แต่ถ้าเกินเยียวยาก็จำเป็นต้องทิ้ง
  • จัดการระบบระบายน้ำในบ้าน ไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังบริเวณรอบ ๆ ตัวบ้าน
  • ตัดต้นไม้ใหญ่ที่กีดขวางทิศทางของแสงแดดที่จะเข้ามาไล่ความชื้นออกจากตัวบ้าน
  • ติดเครื่องกรองอากาศหรือเครื่องดูดความชื้นในตัวบ้าน หรือถ้าเป็นห้องนอนขนาดเล็กลองใช้กล่องใส่สารดูดความชื้นหรือซิลิก้าเจลก็พอใช้ได้

รู้จักรู้ใจเรื่องความชื้นในบ้านกันพอหอมปากหอมคอกันแล้ว หลังจากอ่านจบแล้วคุณพ่อบ้านแม่บ้านก็ลองสำรวจรอบ ๆ บ้านดูกันนิดนะครับว่า ที่บ้านของเรามีร่องรอยความชื้นที่สร้างความเสียหายให้บ้านบ้างหรือเปล่า ถ้ามีก็ควรจะรีบแก้ไขกันนะครับ บ้านไอเดียเราอยากจะเห็นเพื่อนบ้านทุกหลังมีสุขภาพร่างกายที่ดี ในบ้านที่น่าอยู่กันทุก ๆ คนครับ http://credit-n.ru/zaymyi-v-ukraine.html http://www.tb-credit.ru/microzaim.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด