บ้านพื้นถิ่นอินเดียประยุกต์
รากเหง้า คำนี้ก็มีส่วนสำคัญในสถาปัตยกรรม เพราะในแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีที่มาและลักษณะเฉพาะต่างกัน แม้ว่าทุกวันนี้ยุคสมัยจะมีส่วนกลืนกินวัฒนธรรมเก่า ๆ ให้ค่อยๆ เลือนจางลง แต่ก็มีบางคนยังระลึกถึงและนำมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับบ้านยุคใหม่ บ้านหลังนี้ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่านั้น ด้วยความที่ตั้งอยู่ท่ามกลางย่านที่พักอาศัยในเมืองเชนไน ประเทศอินเดีย ซึ่งละแวกใกล้เคียงมีความเจริญของเมืองขยายเข้ามา ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมมากมายกลายเป็นแปลงเชิงพาณิชย์ ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญ โครงการบ้านหลังนี้จึงไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงการย้อนกลับไปมองรูปแบบการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงกับรากของตัวเองให้ออกมาแบบร่วมสมัย
ออกแบบ : Triple O Studio
ภาพถ่าย : Triple o PIXEL
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านขนาด 232.25 ตารางเมตรนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ดินที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อเทียบกับขนาดบ้าน จึงทำให้มีระยะย่นค่อนข้างมาก จึงจัดรูปทรงบ้านเป็นสี่เหลี่ยมผืนบ้านในใจกลางที่ดิน เพื่อให้เหลือที่ว่างรอบ ๆ จัดเป็นพื้นที่สีเขียวตามจุดต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบมากมาย เพื่อให้มั่นใจถึงความตั้งใจในการเชื่อมต่อกับธรรมชาติอย่างแท้จริง อย่างเช่น ด้านหน้าจะเป็น ‘Agri-patch’ หรือพื้นที่การใช้ที่ดินสำหรับการเพาะปลูก ขนาด 20 x 60 ฟุต ทำหน้าที่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก พร้อมต่อเติมครัวเป็นสวนสมุนไพร ย้อนให้รำลึกถึงวันที่บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมาก่อน
ผนังอิฐที่ก่อเป็นกรอบสี่เหลี่ยมอยู่ด้านหนึ่งของบ้าน มอบความงามที่เรียบง่ายแต่โดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล นอกจากอิฐที่เป็นวัสดุบ้าน ๆ พื้นฐานที่ใช้มาตั้งแต่โบราณในชุมชนแล้ว ยังมีศิลาแลง โครงไม้ และความดิบของซีเมนต์ที่ไม่แต่งแต้มสี เป็นจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ในการผสมผสานรากวัฒนธรรมในความรู้สึกที่ทันสมัยขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้
ในอีกด้านของตัวบ้าน เราจะเห็นสิ่งที่โดดเด่น คือ ช่องเปิด Arch โค้งที่สูงสองชั้น รอบๆ ล้อมกรอบด้วยอิฐดินเผาหลากสี ที่มาจากต่างดินต่างที่มาและอุณหภูมิในการเผา ระแนงที่ตแต่งช่องเปิดใส่ลูกเล่นวางแนวนอนข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเป็นแนวตั้ง ส่วนอาคารชั้นเดียวข้าง ๆ ผนังสีขาวสะอาดตากลายเป็นผืนผ้าใบสำหรับพืชที่ผลิบานทั่วบริเวณพื้นที่
ทั้งวัสดุ เส้นสาย สี ทุกองค์ประกอบรวมกันเป็นความสวยที่มีความสง่างาม เพิ่มความน่าดึงดูดด้านสุนทรียะเมื่อเวลาผ่านไป ความร่วมสมัยทำให้ดูอย่างไรก็ไม่เชย
สำหรับฟังก์ชันการใช้งาน จะมีโฮมออฟฟิศตั้งอยู่ด้านหน้ากั้นจากโซนส่วนตัว แต่พื้นที่ใช้สอยส่วนรวมและห้องนอน ก็ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน โดยผ่านช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่ซึ่งทำหน้าที่เป็นเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างโซนต่างๆ ภายในบ้านส่วนทานข้าวจะเป็นโถงสูงดูโอ่โถงโปร่งตา ช่องเปิดขนาดใหญ่โค้งๆ ข้างบนมีตะแกรงนิรภัยที่เข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มความรู้สึกเบาตัดกับอิฐที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นคง ส่วนพื้นบ้านจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ของคอนกรีตแต่งด้วยสีฝุ่น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาหนึ่งในบ้านแบบอินเดีย กระเบื้อง Athangudi และประตูไม้วีเนียร์สีน้ำเงินช่วยเพิ่มสีสันให้สวยงาม
ลักษณะของบ้านที่มีโถงสูง Double Space ซึ่งเป็นการออกแบบอาคารในยุคหลัง ๆ ช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ในแนวดิ่ง ทำให้บ้านมีระยะความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานมากขึ้น ซึ่งเอื้อให้อากาศร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูงและระบายออกจากบ้านได้ดี พื้นที่ข้างๆ ช่องว่างนี้ยังทำเป็นชั้นลอย ที่สามารถมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กันง่ายขึ้น บ้านในอินเดียหลังนี้จึงมีส่วนที่แสดงถึงความเป็นพื้นถิ่นที่ปรับประยุกต์เข้ากับวิธีการออกแบบใหม่ๆ ให้กลมกลืนเข้ากันอย่างสวยงาม และยังใช้งานได้ดีขึ้นด้วย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับอิฐทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเป็นวัสดุพื้นถิ่นในหลาย ๆ ชุมชน ศิลาแลงก็เช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะภูมิอากาศร้อนชื้นเท่านั้น ศิลาแลงจึงเป็นวัสดุธรรมชาติเฉพาะถิ่น แต่ในในเมืองไทยไม่นิยมสร้างบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นวัตถุดิบที่ใช้สร้างวัด ไม่ควรนำมาก่อสร้างอาคาร ประกอบกับเนื้อมีรูพรุน จึงกลังวลเรื่องการซึมน้ำ และการผุกร่อนง่าย จริง ๆ แล้วศิลาแลงสามารถสร้างได้เหมือนกับการใช้อิฐแดง เพียงแต่มีขั้นตอนเพิ่มเล็กน้อย เช่น ถ้าเกิดรูพรุนก็สามารถอุดด้วยยาแนวได้ การก่อเหมือนก่ออิฐ ควรมีเสาเอ็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และ ทับหลังคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่วยเสริมให้ผนังมีความแข็งแรง เพราะศิลาแลงมีน้ำหนักค่อนข้างมาก |
แปลนบ้าน