
บ้านฟาซาดอิฐช่องลม
ใครที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ของดีไซน์บ้าน คงเบื่อกับรูปทรงอาคารแบบพื้นที่ฐานที่เป็นเรขาคณิตสี่เหลี่ยมกันแล้วใช่ไหมครับ ถ้าหากใช่แล้วหล่ะก็ บ้านโมเดิร์นสามชั้นที่มีพื้นผิวดิบๆ หลังนี้คงจะเข้าไปอยู่ในใจของใครหลายคนได้อย่างง่ายดาย ไม่ใช่เพียงแค่การจัดวางให้เกิดเหลี่ยมมุมของบ้านที่ไม่เป็นระนาบเดียวกันเท่านั้น แต่การออกแบบจับคู่และจัดเรียงวัสดุบ้านๆ ให้มี texture เหมือนสวมเสื้อลายสวยให้บ้านด้วย ทำให้เกิดนิยามใหม่ๆ ของคำว่าบ้านที่มองไปมุมไหนก็แตกต่างจากบ้านข้างเคียงครับ
ออกแบบ : Realrich Architecture Workshop
ภาพถ่าย : Eric Dinardi
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านสี่ชั้นพื้นที่ใช้สอย 600 ตารางเมตร หลังนี้ สร้างอยู่ในเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยลักษณะที่ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย ค่อนข้างหนาแน่น อาคารตั้งอยู่ที่ปลายถนน หันหน้าไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้ การออกแบบ Sarang Nest House จึงต้องกำหนดนิยามใหม่ให้กับแบบแผนของบ้าน เพื่อตอบสนองต่อข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมที่หันเข้าหาทิศแสงแดดทั้งวัน จึงวางอาคารชั้นซ้อนบิดเหลื่อมกันให้เกิดมุมลดการปะทะโดยตรงของแสงและผนัง พร้อมกับทำฟาซาดโปร่งๆ เป็นรูพรุนเพื่อช่วยกรองแสงกันความร้อน วัสดุมีทั้งที่เป็นอิฐแดงแบบดั้งเดิมและโลหะที่ให้ลุคแบบอินดัสเทรียล
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
พื้นที่ชั้นล่าง 250 ตร.ม. เป็นพื้นที่จอดรถและส่วนบริการ ซึ่งใช้พื้นที่บางส่วน 1 ใน 3 ถมดินขึ้น เพื่อกันความทรุดของอาคารและจัดเป็นสนามหญ้าเหมือนสวนลอยอยู่บนกำแพงบ้าน จากบันไดมาถึงโถงทางเข้าหน้าบ้านจะมีแผงผนังอิฐก่อวางแพทเทิร์นทึบสลับโปร่ง เกิดเป็นช่องรูพรุนเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่กรองแสงโซนหน้าบ้านที่รุนแรงในช่วงกลางวัน แต่ยังคงให้แสงสว่างเข้ามาในพื้นที่และปล่อยให้ลมไหลผ่านหมุนเวียนได้ ฟาซาดแบบนี้ยังให้ผลพลอยได้เป็นระดับความส่วนตัวที่มากขึ้น โดยที่ไม่รู้สึกว่าบ้านทึบชวนอึดอัด
เปิดประตูไม้สีน้ำตาลเข้มเข้าสู่ภายใน จะพบกับห้องนั่งเล่นเชื่อมต่อกับห้องรับประทานอาหารและครัว ในพื้นที่เปิดโล่งขนาด 80 ตร.ม. ปูพื้นด้วยแผ่นหินสีครีมๆ เพดานใช้ไม้ตีฝ้าเพดานสร้างบรรยากาศภายในให้ความรู้สึกร่วมสมัย เพิ่มความอบอุ่นสร้างความบาลานซ์กับความดิบแข็งของผนังปูนเปลือยที่แทรกอยู่เป็นระยะๆ ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นมิติของแสงเงาสวยๆ ส่องลอดผ่านช่องว่างของผนังอิฐตกกระทบลงสู่พื้นบ้าน ซึ่งรูปร่างและองศาของเงาจะเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของแสงในแต่ละช่วงของวัน
พื้นที่ชั้นนี้จะถูกแต่งแต้มด้วยสวนทำเป็นเนินปูหญ้าเขียวๆ และเฉลียงรอบๆ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่กลางแจ้งที่ห่อหุ้มด้วยผนังช่องลมรอบด้าน เท่านั้นยังไม่พอกลางอาคารยังมีสวนในร่มขนาด 3 ตร.ม. ปลูกต้นไม้อยู่ในลานกรวดที่เจาะเป็นโถงสูงขึ้นไป ช่วยให้ส่วนกลางเชื่อมต่อกับชั้นบนและทำหน้าที่เป็นช่องว่างสำหรับดึงแสงและอากาศให้เข้ามาไหลเวียนภายใน
ภายในอาคารจะจัดพื้นที่ห้องเป็นมุม ซึ่งมุมเหล่านี้สร้างระยะห่างระหว่างผนังด้านนอกของบ้านกับเพื่อนบ้าน นอกจากจะช่วยให้อากาศไหลเวียนได้อย่างอิสระรอบ ๆ บ้านแล้ว ยังรักษาความเป็นส่วนตัวระหว่างห้องต่างๆ ด้วย ทุกห้องจะมีพื้นที่กลางแจ้งส่วนตัวของตัวเอง สำหรับห้องนอนใหญ่ 40 ตร.ม. ห้องนอน 21 ตร.ม. และห้องเด็กเล่น ผนังส่วนใหญ่ปิดล้อมด้วยผนังทึบและฉากโลหะเจาะรูเพื่อให้เป็นส่วนตัว แต่พื้นที่ปิดทึบอย่างห้องน้ำก็จะมีวางตำแหน่งพื้นที่รับแสงที่เหมาะสม
สำหรับบันไดหลักขนาดใหญ่ในบ้านทำด้วยไม้และเพดานก็ตีด้วยไม้เช่นเดียวกับชั้นล่าง ในขณะที่ผนังหลัก ๆ เป็นปูนเปลือยขัดมัน แทรกด้วยหน้าต่างกระจกใสขนาดใหญ่เหนือขึ้นไปมีช่องแสง skylight ที่ให้ทั้งความสว่าง เพิ่มความปลอดภัย ประหยัดพลังงานไฟฟ้าช่วงกลางวันแล้ว ยังเป็นจุดระบายอากาศออกจากอาคาร พร้อมกับให้วิวสวยๆ ทุกครั้งที่เดินขึ้นลงบันได
ชั้นสามเป็นชั้นบนสุดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง 48 ตร.ม. สามารถเชื่อมต่อลานกลางแจ้งสำหรับทำปาร์ตี้บาร์บีคิวได้ และมีห้องทำสมาธิแบบปิดด้วยผนังกระจก ซึ่งทำให้เหมือนกำลังนั่งในศาลาที่โล่งๆ ที่สงบสบายมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกได้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ลักษณะการทำงานของฟาซาดช่องลม ไม่เพียงแต่เพิ่มความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับอาคารเท่านั้น ยังสามารถนำแสงจากธรรมชาติและลมผ่านช่องว่างเข้าไปสู่พื้นที่ใช้งานในอาคารได้ ช่วยลดความอับ ชื้น ควบคุมการใช้พลังงานภายในอาคาร ทำหน้าที่กรองแสงในด้านที่หันรับแดด เช่น ทิศตะวันตก และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับบ้าน แต่ก็มีข้อควรระวังคือแมลงและฝนอาจจะลอดผ่านช่องว่างเหล่านี้เข้าสู่ตัวบ้าน อาจจะต้องทำระบบผนังชั้นในอีกชั้นเป็นประตูกระจกบานเลื่อน หรือติดมุ้งลวดเพิ่มเพื่อความสบายสูงสุดในการใช้งาน
|
แปลนบ้าน