เมนู

บ้านคอนกรีตทรอปิคอล ส่วนผสมของไม้และอิฐที่ลงตัว

บ้านโมเดิร์นในอินเดีย

บ้านเขตร้อน

หากสถาปัตยกรรมและธรรมชาติใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไร หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าได้เห็นบ้านหลังนี้ที่ก่อร่างสร้างมาจากคอนกรีต ไม้ และอิฐแดง ก็คงจะทำให้เห็นได้ชัดเจนขึ้นมาว่าบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลัก แล้วนำมาตีความใส่ฟังก์ชันหรือรูปแบบให้เกิดอัตลักษณ์ในรูปแบบใหม่ ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น ผ่อนคลาย เรียบง่าย แต่ทันสมัยควบคู่กันไปได้อย่างไร นอกจากนั้นตัวบ้านยังถูกออกแบบมาให้ธรรมชาติถูกยกเข้ามาเก็บไว้ในตัวบ้านเหมือนกลายเป็นส่วนเดียวกัน บ้านจึงได้ทั้งความสว่าง เย็น สดชื่น แต่จะเป็นในรูปแบบไหนต้องลองตามไปดูกันครับ

ออกแบบ : Kamat & Rozario Architecture
ภาพถ่าย : Arjun Krishna Photography
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านคอนกรีต อิฐ ไม้

บ้านสองชั้นที่นำวัสดุบ้าน ๆ อย่างคอนกรีต อิฐ และไม้มาใส่ดีไซน์โมเดิร์นเส้นสายคมชัดหลังนี้ สร้างอยู่ในเมืองบังคาลอร์ เมืองเอกและเมืองใหญ่สุดในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย บนที่ดินกว้าง 12 เมตร ลึก 23 เมตร ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นความพยายามในการเพิ่มบทสนทนาระหว่างคน บ้าน กับกิจกรรมกลางแจ้งเข้าด้วยกัน ในขณะที่ลักษณะที่ดินมีความลึกมากกว่าความกว้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขัดจังหวะความลึกของพล็อต ด้วยการใส่ช่องว่างเพิ่มพื้นที่รับแสงแดดและอากาศในหลายๆ จุด

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ฟาซาดครีบไม้

เมื่อเปิดประตูรั้วบ้านเข้ามาทางซ้ายมือจะผ่านสวนหน้าบ้านขนาดเล็ก เป็นสวนแรกที่จะเชื่อมต่อไปยังส่วนนั่งเล่นและรับประทานอาหารที่เปิดโล่งข้างใน เพียงโซนแรกของบ้านก็ทักทายด้วยพื้นที่สีเขียวให้รู้สึกสดชื่น และยังใช้สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมกลางแจ้งที่เชื่อมต่อกับชุมชนรอบข้างได้

บ้านสไตล์ทรอปิคอล

ในส่วนของภายใน จะพบกับห้องนั่งเล่นโล่งๆ ต่อเนื่องไปยังพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งเป็นหัวใจของบ้าน เมื่อเข้ามาถึงที่นี่ จะเห็นว่าโซน living ที่ออกแบบโทนสีเรียบเย็นและโปร่งโล่ง ถูกขนาบข้างด้วยลานภายในและสวนขนาดเล็กทางด้านซ้าย เป็นสวนที่สองและสาม เมื่อมีสวนแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ชิงช้า เพื่อให้บรรยากาศสบายๆ เราจึงเห็นชิงช้าไม้ตัวใหญ่ที่แขวนจากเพดานลงมาให้นั่งแกว่งไกวภายใน จำลองความรู้สึกของการอยู่ในสวนที่มีชิงช้าห้อยใต้ต้นไม้ที่เคยคุ้นตา

ห้องนั่งเล่นและห้องทานอาหาร

คอร์ทยาร์ดกลางช่องว่างโถงสูง

ด้านหลังชิงช้าเป็นจุดที่สถาปนิกเจาะพื้นเพดานขึ้นไป เป็นลักษณะโถงสูงสองชั้นสร้างเป็นลานภายในที่ปลูกต้นไม้เอาไว้ใจกลางบ้าน ซึ่งอยู่คู่ขนานไปกับบันไดหลัก เงยหน้าขึ้นไปจะมี Skylight ซึ่งเปิดรับแสงระยิบระยับและอากาศบริสุทธิ์ให้ไหลเวียนได้ดีภายใน รอบ ๆ บันไดมีราวระเบียงช่วยให้สามารถมองลงมาที่สวนได้ ธรรมชาติจึงแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของบ้าน เหมือนยกพื้นที่กลางแจ้งเข้ามาอยู่ในบ้านแบบ inside out- outside in ในรอบๆ กรอบผนังโถงสูงนั้นตกแต่งด้วยแผ่นอิฐสีส้มอมแดง ให้ความรู้สึกอบอุ่นที่เข้ากันได้ดีกับคอนกรีตดิบ ๆ งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ และต้นไม้

พื้นที่โถงสูงใจกลางบ้าน

โต๊ะไม้นั่งเล่นในบ้าน

สวนขนาดเล็กทางด้านซ้ายเป็นอีกหนึ่งจุดที่สมาชิกในบ้านจะเลือกออกมานั่งชิลๆ กับบรรยากาศนอกตัวบ้านได้อย่างเป็นส่วนตัว เพราะมีกำแพงรั้วอิฐสูง ๆ กั้นบังสายตา บ้านนี้เป็นบ้านที่มีทางเลือกของสวนให้เลือกใช้งานได้ตามใจ สามารถใกล้ชิดกับสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้าได้ในทุกฤดูกาลและทุกสภาพอากาศ

ครัวโทนสีขาวตกแต่งไม้สีน้ำตาล

บันไดแบบหักกลับ

เจ้าของบ้านหญิงมาจากปัญจาบ (ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน)  ดังนั้นจึงนำเอาภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งอ้างอิงมาจากงานปักพื้นบ้านของชาวปัญจาบ ที่รู้จักกันในชื่อ phulkari เป็นเทคนิคของงานเย็บปักถักร้อยประกอบเป็นผืนผ้าลวดลายสีสันสดใน เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะสำหรับโพกผม คลุมไหล่ ซึ่งเธอสวมใส่ด้วยความภาคภูมิใจ ให้เข้ามาแทรกอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ของบ้านจนเกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม

ผนังอิฐโชว์แนวหลังคาสกายไลท์

สำหรับชั้นบนจะเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวขึ้น อย่างเช่น  ห้องนอนของลูกสาวเมื่อก้าวออกไปจะลงไปที่ระเบียงเปิดโล่งขนาดใหญ่ มองเห็นถนนทางด้านทิศเหนือ ห้องนอนอีกห้องมองเห็นสวนทางเข้า ตรงบริเวณนี้จะมีฟาซาดเป็นแผงครีบไม้เรียงยาวที่ทำหน้าที่แทนผ้าม่านกรองแสงและบังสายตาได้อย่างสนุกสนาน

ฟาซาดบานไม้

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  สำหรับบ้านที่มีลักษณะความลึกมากกว่าความกว้าง หากออกแบบตำแหน่งช่องแสงช่องลมไม่ดี อาจทำให้บ้านขาดแสงในช่วงกลางอาคารได้ สถาปนิกจึงนิยมแก้ไขด้วยการใส่พื้นที่ว่างตรงกลางให้บ้านได้หายใจและรับแสงได้ เช่น การทำโถงสูงเชื่อมต่อพื้นที่ในแนวตั้ง จากนั้นจึงทำหลังคา skylight ดึงแสงเข้าสู่ตัวบ้านจากด้านบน และยังช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวไหลเวียนระบายออกไปนอกบ้านได้ดี สำหรับบ้านบางหลังอาจให้วิธีแบ่งอาคารเป็นสองส่วนแยกจากกันโดยมีสวนคั่นกลางก็จะทำให้เกิดพื้นที่เปิดออกสู่ท้องฟ้าให้บ้านได้รับแสงและลมได้เช่นกัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด