
บ้านมีช่องแสง ตกแต่งด้วยงานไม้
บ้านพักตากอากาศแบบฉบับของออสติน ช่วงปี 1940’s หรือประมาณ พ. ศ. 2483 ที่ดูคลาสสิก แต่ทึมทึบไม่ค่อยมีจุดรับแสง ได้รับการออกแบบต่อเติมอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อเปลี่ยนห้องที่มีเพดานต่ำทำให้บ้านดูอึดอัด ให้กลายเป็นพื้นที่ต่อเนื่องโล่ง ๆ โปร่ง ๆ ที่รวม ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร และพื้นที่นั่งเล่นเข้าไว้ด้วยกัน ใส่ช่องแสงใต้หลังคาที่รายล้อมตัวบ้าน ช่วยดึงแสงธรรมชาติในช่วงกลางวันเข้ามาสร้างความอบอุ่นและสว่างภายในตลอดทั้งวัน และรับวิวท้องฟ้าให้ใกล้ตาเข้ามาอีกนิด เป็นการผสานเก่าใหม่ให้เดินไปด้วยกันอย่างลงตัว
ออกแบบ : murraylegge
เรียบเรียง : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพใดๆ เพื่อรับชมภาพในขนาดใหญ่
ความตั้งใจของนักออกแบบคือ การปรับปรุงอาคารใหม่ให้เข้ากันได้กับแบบอาคารที่มีอยู่ ซึ่งบ้านในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะนิยมติดตั้งกรอบไม้และคานไม้ใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นระบบการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่ใช้กันมากที่สุด และนำมาตกแต่งเพิ่มความสวยสง่างามสืบทอดมายุคต่อยุค ส่วนที่ปรับปรุงต่อเติมนี้จึงเน้นงานไม้ให้เห็นเด่นชัด
ช่องแสง เติมชีวิตชีวา
การกระจายตัวของไม้พาเลตที่วางตัวบนเพดานตามฟอร์มอาคาร เติมความรู้สึกละเอียดอ่อนและอบอุ่นของบ้านในยุคก่อน แต่แก้ไขจุดอ่อนของบ้านเก่าที่มักจะทึบและขาดแสงด้วยการเจาะช่องแสงบริเวณใต้หลังคา และติดประตูหน้าต่างขนาดใหญ่ เพื่อดึงแสงเข้ามาเติมความโปร่งสว่างภายใน การจัดการพื้นที่เน้นความโปร่งโล่ง ทีมงานจัดสัดส่วนการใช้งานแบบเปิด open plan รวมพื้นที่นั่งเล่น ครัว มุมทานอาหารเข้าด้วยกัน โดยไม่ใช้ผนังแบ่ง
พื้นไม้ลายสวย วางโต๊ะทานอาหารขนาด 4 ที่นั่ง ดีไซน์เรียบ คลาสสิค ทำจากไม้เช่นกัน กระจายกลิ่นอายของบ้านที่ดูละมุนอบอุ่นด้วยกลิ่นอายของยุคสมัยเก่าและใหม่ที่รวมกันอยู่ภายในอย่างไม่ขัดเขิน
มุมนั่งเล่น อ่านหนังสือ ดูทีวีในชั่วโมงผ่อนคลาย ใช้พรมเป็นสัญลักษณ์แสดงขอบเขตการใช้งาน มีอาร์มแชร์สีน้ำเงินสดเป็นจุดโฟกัส ดึงสายตาให้โดดเด่นออกมาจากผนังสีขาวสะอาด
ถัดจากส่วนนั่งเล่น เป็นครัวโทนสีขาวตัดด้วยเคาน์เตอร์สีเขียวตุ่น ๆ บิวท์เป็นรูปตัว U ตามรูปร่างพื้นที่ห้อง เปิดให้เดินจากส่วนอื่น ๆ ของห้องเข้ามาได้ง่าย ๆ สเปซที่กว้างขวางช่วยให้สะดวกในการเคลื่อนที่ขยับตัวหันซ้ายขวาหยิบจับของใช้ได้ง่าย แม้จะมีผู้ใช้งานทีละหลายคนก็ไม่ชนกัน
แต่ละส่วนของครัวแยกฟังก์ชั่นการใช้งานชัดเจนทั้งมุมเตรียมอาหาร โซนปรุงและเตา ซิงค์ล้างผัก ซึ่งจัดให้อยู่ใกล้ช่องแสง เพื่อให้แสงช่วยลดความชื้นและเพิ่มความสว่าง
รายละเอียดการใช้งานพื้นที่ในจุดเล็กจุดน้อย ทำให้บ้านมีฟังก์ชั่นใช้งานปลีกย่อยเพิ่มขึ้น โดยไม่ทำให้บ้านดูคับแคบลงไป
โซนของบ้านหลังเก่าโทนสีเทา ตามสไตล์บ้านในยุคหลังสงครามโลก ดูปิดทึบเป็นส่วนตัว ซึ่งเหมาะเป็นส่วนพักผ่อนที่ต้องการความเงียบสงบ เมื่อรวมเข้ากับพื้นที่ชีวิตรวมใหม่ ๆ ที่เปิดรับทั้งแสง ลม และสวน ทำให้บ้านมีพื้นที่รองรับการใช้งานครบพร้อมทุกรูปแบบ
แปลนบ้าน