ราคาเหล็ก
ตลาดเหล็กมีแนวโน้มราคาดิ่งลง
เหล็ก นับเป็นวัสดุสำคัญสำหรับงานก่อสร้าง โครงสร้างบ้านและอาคารเกือบทุกประเภท จำเป็นต้องใช้เหล็ก ช่วยให้บ้านเกิดความแข็งแกร่ง คงทนมากขึ้นกว่าเดิม ในอดีตเหล็กมีราคาสูงกว่าวัสดุโครงสร้างอื่น ๆ มาก การนำเหล็กมาใช้จึงนิยมใช้เฉพาะส่วนสำคัญเท่านั้น สำหรับบ้านโครงสร้างเล็กยังคงเป็นตัวเลือกเฉพาะกลุ่มผู้มีงบประมาณสูง แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งอนาคตมีแนวโน้มว่า ราคาเหล็กจะถูกลงมาก ซึ่งเป็นผลให้เทคโนโลยีการก่อสร้างต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงในภาพรวม รวมทั้งผลกระทบของผู้ประกอบการเหล็กในไทยและทั่วโลก ในเนื้อหาชุดนี้ “บ้านไอเดีย” ขอหยิบยกข่าวตลาดเหล็ก จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจมาให้อ่าน เพื่อได้ทราบแนวโน้มกันครับ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
ต้องลุ้นกันเป็นระยะสำหรับราคาเหล็กชนิดต่าง ๆในตลาดโลก เพราะการเคลื่อนไหวของราคาในวันนี้จีนมีบทบาทนำ ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ของโลกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ด้วยความได้เปรียบในแง่ขนาดกำลังผลิตเต็มเพดานที่ 1.10 พันล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตได้จริง 800.52 ล้านตันต่อปีถือว่ามากสุดเมื่อเทียบกับกำลังผลิตเหล็กใน ญี่ปุ่น อินเดีย และอเมริกา อีกทั้งเวลานี้จีนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ยิ่งส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศของจีนลดลง ทำให้มีปริมาณเหล็กส่วนเกินจากจีนยิ่งไหลสู่ตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลต่อราคาเหล็กที่ผันผวนไปในทิศทางดิ่งลงต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้
ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) ระบุว่า สถิติปี 2558 จีนมีกำลังผลิตเหล็กจริงจำนวน 800.52 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในจีนมีราว 748.96 ล้านตันต่อปี ทำให้มีเหล็กส่วนเกินอยู่ที่ 51.56 ล้านตันต่อปี และเมื่อรวมกับสต็อกเก่าของจีนอีกราว 58.04 ล้านตัน จึงมีเหล็กส่วนเกินรวมทั้งสิ้นจำนวน 109.6 ล้านตันต่อปี ที่ต้องเร่งระบายออกสู่ตลาดโลก โดยการทุ่มตลาดไปยังประเทศต่าง ๆ ในราคาถูกกว่าที่ขายในประเทศตัวเอง โดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน อาทิ ค่าพลังงาน เงินปันผลไม่ต้องส่งคืนรัฐ การอุดหนุนจัดหาเงินกู้ และได้รับเงินคืนจากรัฐบาลเฉลี่ย ตั้งแต่ 17-30% ของมูลค่าสินค้าเหล็กที่มีการส่งออกโดยผู้ประกอบการจีน
ระบายเหล็กสู่ตลาดโลก
จากปริมาณเหล็ก 109.6 ล้านตัน ต้องเร่งระบายไปสู่ตลาดโลก มีเป้าหมายหลัก 1.ระบายเหล็กไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างกลุ่ม 10 ประเทศในอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) เป็นการเด้งรับหลังจากอาเซียนเปิดกว้างด้านการลงทุนและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2.ประเทศที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่อย่างอเมริกา และยุโรปยังมีความต้องการใช้เหล็กต่อเนื่อง
สำหรับประเทศที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่ การนำเข้าเริ่มยากขึ้นโดยเฉพาะอเมริกา ดูจากปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาประกาศอุดหนุนเบื้องต้นสินค้าเหล็กแผ่นเคลือบจากจีนในอัตราสูงถึง 26.26-235.66%
การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า นับจากนี้ไปโอกาสที่จีนจะระบายเหล็กออกสู่ตลาดอาเซียนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีก เพราะเป็นโซนที่มีกำลังซื้อกว่า 600 ล้านคน อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเหล็กมีการขยายตัวตามอีกมากมาย ขณะที่แต่ละประเทศมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งมาตรการปกป้องหรือคุ้มครองโดยภาครัฐในกลุ่มอาเซียนยังขยับตัวล่าช้า ทำให้จีนส่งเหล็กชนิดต่าง ๆ เข้าไปทุ่มตลาดได้ง่ายกว่า
สอดคล้องกับสถิติตัวเลขนำเข้าเหล็กจากจีนเจาะรายประเทศในอาเซียน พบว่า มียอดรวมกันเกือบ 40 ล้านตันต่อปี (ดูตารางจีนส่งออกเหล็กไปอาเซียนรายประเทศ) แต่ละปีเติบโตสูงขึ้น
ราคาร่วงตํ่าสุดในรอบ 10 ปี
การทุ่มตลาดของจีนส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกบิดเบือนไปจากความจริง เพราะราคาขายไม่สะท้อนต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น ราคาที่ร่วงลงเกิดจากการเดินสายทุ่มตลาดของจีน ที่ขายเหล็กในราคาถูก จนทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง ดูจากราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนเมื่อปี 2551 อยู่ที่ 1,090 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปี2552 ช่วงหลังโอลิมปิกและวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ราคาร่วงลงมาที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่อมาปี 2554 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนดีดตัวขึ้นมาที่ 730 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
จากนั้นมาระหว่างปี 2555-2556 ราคาเริ่มดิ่งลงต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยไต่ระดับอยู่ที่ 630 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่อมาปี 2557 เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวบวกกับเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น จึงกดราคาเหล็กร่วงต่อเนื่องลงมาอยู่ที่ 555-453 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน พอมาเดือนธันวาคมปี2558 ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนลงมาแตะที่ระดับ 265 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ราคาเหล็กร่วงลงแรงครั้งนี้ เกิดจากที่จีนออกมาทุ่มตลาดเหล็กอย่างหนักหน่วง สอดคล้องกับข้อมูลจาก Global Trade Atlas ที่ระบุว่า เมื่อปี 2556 มีปริมาณเหล็กจากจีนส่งออกทั่วโลกอยู่ที่ 59.6 ล้านตัน ปี 2557 เพิ่มเป็น 90.5 ล้านตันและปี 2558 เพิ่มเป็น 109.6 ล้านตัน
ทุบวงการเหล็กโลกระส่ำ
นอกจากราคาเหล็กไม่สะท้อนต้นทุนจริงแล้ว การทุ่มตลาดเหล็กของจีนยังทำให้ตลอดปี 2558 ทุกตลาดที่จีนส่งเหล็กไปขายต้องเผชิญกับโจทย์หิน! จากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังแบกภาระขาดทุน สุดท้ายผู้ผลิตเหล็กหลายรายต้องออกมาลดกำลังผลิต ลดคน กระทั่งปิดสายพานการผลิต หรือปิดกิจการลง ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเหล็กโลก ไล่ตั้งแต่ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น บริษัท ยู.เอส.สตีล คอร์ปฯ ต้องออกมาประกาศปลดคนงาน 2 รอบ รวมเกือบ 3 พันคน บริษัท Nucor ผลิตเหล็กที่ louisiana หยุดผลิตชั่วคราวจนกว่าราคาเหล็กจะปรับตัวดีขึ้น หรือแม้แต่บริษัท อาร์เซอลอร์-มิตตัล (ArcelorMittalis) ของนายลักษมี มิตตัล มหาเศรษฐีเชื้อสายอินเดียผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ออกมาประกาศปิดโรงงานที่ Indiana โดยปลดคนงานราว 5 พันคน เพื่อรักษาสายพานการผลิตสาขาอื่นไว้ หลังยอมรับว่าเผชิญปัญหาขาดทุนจากการขายเหล็ก
เช่นเดียวกับโรงงานผลิตเหล็กที่บราซิล บริษัท ซี เอส เอ็น ที่ Rio de Janeiro ประเทศบราซิล 1 ใน 10 โรงงานเหล็กที่มีต้นทุนในการผลิตเหล็กต่ำที่สุดในโลก สุดท้ายต้องหยุดเตาถลุงไป 1 เตา บริษัท อาร์เซอลอร์-มิตตัล เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่งประกาศหยุดการผลิตเหล็กไป 50% รวมถึงผู้ผลิตเหล็กที่อังกฤษ โดยกลุ่ม ทาทา สตีล ต้องลดคนงานไปกว่า 1 พันคน หลังจากที่ปิดสายพานการผลิตไป 1 แห่ง และที่คนไทยรู้จักดีคือ SSI UK กิจการเหล็กของกลุ่มสหวิริยาในอังกฤษ ต้องหยุดโรงถลุงเหล็กพร้อมปลดคนงานราว 2 พันคนก่อนหน้านี้
แม้แต่บริษัทชั้นนำในจีนที่ผลประกอบการ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.ปี 2558) มียอดขายรวม 2.67 ล้านล้านหยวนลดลง 19.3% และขาดทุนถึง 53,130 ล้านหยวนหรือราว 265,650 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 มียอดขายรวมในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 3.26 ล้านล้านหยวน มีกำไร 24,390 ล้านหยวน
รวมถึงสถานะของผู้ผลิตไทยที่แต่ละรายอยู่ในสภาพผลประกอบการขาดทุนจากการขายเหล็กโดยเฉพาะผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อย่างบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ ที่ก่อนหน้านี้นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ ยอมรับว่า สภาวะตลาดเหล็กโลกที่มีกำลังการผลิตล้นความต้องการของตลาดอย่างรุนแรง อุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลอย่างหนัก ตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา ราคาเหล็กยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะจากธุรกิจโรงถลุงเหล็ก อย่างไรก็ตามในไตรมาส 3/58 สภาวการณ์ดังกล่าว ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ในทางตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและส่งผลให้การดำเนินงานของธุรกิจโรงถลุงเหล็กขาดทุนเพิ่มขึ้นมาก จนเป็นเหตุให้บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด หรือ SSI UK ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในอังกฤษของ SSI ประกาศหยุดการผลิตเหล็กแท่งแบนชั่วคราวไปก่อนหน้านี้และบริษัมแม่ บมจ.เอสเอสไอต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
แนวโน้มราคาอาจร่วงอีก
สอดคล้องกับที่นายกรกฎ ผดุงจิตต์ นายกสมาคมหลังคาเหล็กไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเวลานี้จะพูดว่าเหล็กจีนถล่มโลกก็น่าจะได้แล้ว เนื่องจากจีนมีกำลังผลิตคิดเป็น 50% ของผู้ผลิตเหล็กในโลก อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่ก็ยังไม่มีนโยบายที่จะลดการผลิตในประเทศลง ขณะเดียวกันกลับเพิ่มยอดส่งออก และทุ่มตลาดเหล็กอย่างน่าใจหาย
นายกสมาคมหลังคาเหล็กไทยกล่าวด้วยความมั่นใจว่า สัญญาณราคาเหล็กในตลาดโลกดิ่งลงจะยังมีต่อเนื่องอีก เพียงแต่ราคาจะไม่ต่ำลงไปเท่ากับวิกฤตรัสเซียที่เคยร่วงลงมาอยู่ที่ 215 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยคาดการณ์ว่า ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่น่าจะลงไปต่ำกว่า 250 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเทียบจากราคา เมื่อปลายปีที่แล้วอยู่ที่ 265 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
ปริมาณเหล็กจากจีนที่ออกมาถล่มตลาดโลกข้ามปี ทำเอาวงการเหล็กสะท้านไปทั้งโลก สะท้อนให้เห็นว่าขอบเขตผลกระทบยังไม่สิ้นสุดและยากจะคาดเดาว่าจะลามไปขนาดไหน นอกจากผู้ผลิตแต่ละรายไม่สามารถแข่งขันในบ้านตัวเองได้แล้ว การส่งไปขายยังประเทศที่สามก็หนีไม่พ้นการทุ่มตลาดเหล็กชนิดต่าง ๆ จากจีน
นับจากนี้ไปหากรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีเครื่องมือตั้งรับแบบทันท่วงที หรือไม่เท่าทันเหลี่ยมผู้ค้าจีนก็น่าเป็นห่วงกิจการเหล็กของไทยที่นับวันเหลือผู้ผลิตน้อยรายลง และอนาคตอาจต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้นำเข้าเหล็กแทนก็เป็นไปได้!!!
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
http://credit-n.ru/zaymyi-next.html http://www.tb-credit.ru/zaim.html