บ้านฟาซาดอิฐช่องลม
บ้านนี้ชื่อโปรเจ็คคือ Thai Residence แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแต่อย่างใด เพราะ Coletivode Arquitetos ออกแบบบ้านนี้และสร้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในรัฐ Sergipe ประเทศบราซิล เดิมทีความตั้งใจแรกเป็นการออกแบบมาสำหรับการพักผ่อนชั่วคราวเมื่อมีวันหยุดยาวช่วงซัมเมอร์หรือสุดสัปดาห์ แต่ไม่นานบ้านนี้ก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยหลักของครอบครัว ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่วุ่นวาย บ้านเต็มไปด้วยแสง อากาศ และสเปซให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย แวดล้อมด้วยวัสดุบ้านๆ แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่น จึงไม่แปลกใจที่จะทำให้อยากอยู่ที่นี่ทุกวัน
ออกแบบ : Coletivode Arquitetos
ภาพถ่าย : Joana França
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านชั้นเดียวในพื้นที่ 300 ตารางเมตรนี้ ตั้งอยู่ในเมืองอารากาจู ประเทศบราซิล สถานที่นี้อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ชายหาดที่มีชื่อเสียง ซึ่งแถบที่สร้างบ้านไม่มีเพื่อนบ้านรอบๆ ทำให้ไม่ต้องปิดกั้นบ้านทึบ เพื่อให้บ้านทำการระบายอากาศเข้ามาในบ้านได้ไหลลื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มสภาวะสบายในภูมิภาคนี้ของประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องการลมและแสงรวมทั้งไม่มีเพื่อนบ้านก็จริง แต่ก็ยังต้องการใส่ความเป็นส่วนตัสออกสายตาผู้คนที่อาจผ่านไปมา ซึ่งฟาซาดอิฐช่องลมทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
การใช้งานของบ้านนี้ถูกกำหนดเป็นสองช่วงตึก อาคารแรกเป็นพาวิลเลี่ยนหลักที่ครอบคลุมเกือบทั้งโครงการของบ้าน และอีกบล็อกหนึ่งติดกับบล็อกแรกนี้เป็นอาคารหลังคาหลายเหลี่ยมซึ่งเป็นที่ตั้งของพื้นที่รับประทานอาหาร พื้นที่บริการ และโรงจอดรถ
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของสองอาคารนี้คือ การใช้วัสดุอิฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้จากท้องถิ่นมาเป็นตัวชูโรง โดยนำเสนอในหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการก่อทึบแต่สร้าง Texture ให้มีส่วนนูนขึ้นมา หรือจะเป็นการก่อแพทเทิร์นแบบสลับหว่าง ทำให้เกิดช่องว่างให้อากาศไหลผ่าน เหมือนเป็นม่านขนาดใหญ่บังสายตาปกป้องพื้นที่ใช้ชีวิตด้านในอย่างเป็นมิตร แถมยังมีผลพลอยได้จากแสงเงาที่ตกกระทบพื้น ผนัง ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามทิศทางการเดินทางของแสงอย่างสวยงาม
จากภายนอกที่ดูเป็นอาคารแยกสองส่วน แต่หากเดินทางเข้ามาภายในจะเห็นว่าทั้งสองส่วนจะเชื่อมต่อกันข้างในเป็นรูปร่างคล้ายตัว L ที่มีการแยกโซนใช้งานระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ในพื้นที่ส่วนตัวจะมีฟาซาดเป็นบานระแนงอลูมิเนียมสีขาวเรียงต่อกันยาวหลายเมตร ซึ่งแต่ละช่วงสามารถเลื่อนออกเปิดรับวิวหรือจะปิดเพื่อหลบแสงแดด และพักผ่อนก็ทำได้อย่างยืดหยุ่น ช่องว่างระหว่างซี่ระแนง ทำให้แม้ในช่วงเวลาที่ปิดเอาไว้แสงและลมก็ยังแทรกผ่านเข้าสู่ภายในได้
ทุกองค์ประกอบในการออกแบบซ่อนความพยายามแก้ปัญหาข้อจำกัดในท้องถิ่น ในเรื่องของแสงแดดและทิศทางลมที่มากเกินไปในบางทิศทาง โดยยึดตาม “คู่มือสำหรับการสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ผลงานของ Armando de Holanda ชาวพื้นเมืองเปร์นัมบูกู ที่จะให้ความสำคัญกับชายคาบ้าน ระเบียง ที่บังแดด และช่องว่างระหว่างพื้นที่ จะเห็นว่าส่วนแผงอิฐช่องลมจะวางแนวในทิศตะวันออก – ตะวันตก ช่วยปกป้องบ้านจากแสงรุนแรง ส่วนทิศเหนือซึ่งไวต่อแสงแดดน้อยกว่าจะติดตั้งแผบงบังแสงเลื่อนได้ ในขณะเดียวกัน ทิศใต้ก็แทบไม่ทึบโดยมีช่องยาวและแคบเพื่อช่วยระบายอากาศในบ้าน จึงมั่นใจได้ว่าภายในจะมีสภาพอากาศที่สบาย
ในส่วนชายคาที่ยื่นออกคลุมทางเดินนอกบ้าน จะมีเสากลมรองรับน้ำหนัก ทำให้สามารถทำฟาซาดที่เลื่อนไปมาเป็นอิสระได้ ผนังบ้านจะถูกออกแบบเป็นระบบผนัง 2 ชั้น ฉากที่เลื่อนไปมาได้เป็นชั้นนอกกับผนังด้านใน ซึ่งจะมีพื้นที่ว่างคั่นอยู่เป็นส่วนของทางเดิน และบางจุดจัดสวนให้ความสดชื่นกับพื้นที่บ้าน เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน
ภายในบ้านตกแต่งอย่างเรียบง่ายและอบอุ่น โดยเน้นไปที่วัสดุธรรมชาติเป็นหลัก อาทิ อิฐ ไม้ หินขัด ตกแต่งเพิ่มเติมด้วยงานหัตถกรรมพื้นถิ่นอย่างเช่น หม้อดินเผา แจกันและโคมไฟวัสดุหวานสาน ในขณะที่หลังคาโชว์โครงสร้างไม้และเห็นกระเบื้องดินเผาสีแดงแบบไม่มีฝ้าเพดานปิด ได้กลิ่นอายความเป็นชนบทที่คุ้นเคย แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ครบครันทันสมัยเช่นกัน
ภูมิทัศน์แทรกซึมพื้นที่ภายในและภายนอกของบ้านผ่านประตู หน้าต่าง ช่องว่าง ช่องเปิด และพัฒนาในรูปแบบต่างๆ ตามลักษณะของพื้นที่ อย่างบริเวณด้านหน้าอาคารจะเลือกปลุกพืชสายพันธุ์ที่มีความต้องการน้ำต่ำ และปรับให้เข้ากับสภาพอากาศที่แห้งและมีแสงแดดจัด ในส่วนภายในและรอบ ๆ บ้านจะประกอบด้วยสวนธรรมชาติสไตล์เขตร้อนเน้นไม้ใบเขียวที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาภายใน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบางส่วนของบ้านที่ต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้ตรจุดนั้นยังคงรับแสงได้ ระบายอากาศและรับลมให้ไหลเข้าสู่ภายในได้ด้วย สามารถทำได้ด้วยการทำฟาซาดหรือเปลือกบ้านด้วยวัสดุมีรูพรุนทึบสลับโปร่ง อาทิ แผ่นเหล็กเจาะรู ไม้ระแนง หรืออิฐช่องลม ก็จะช่วยดสริมองค์ประกอบของบ้านแบบที่อยากได้ แต่ถ้าตรงส่วนที่จะติดตั้งฟาซาดโปร่งๆ เชื่อมต่อมายังพื้นที่ใช้งานในตัวบ้าน ควรมีระบบผนังชั้นที่ 2 โดยอาจเว้นทางเดินหรือพื้นที่ว่างแล้วใส่ประตูกระจกเลื่อนเปิดปิดได้เป็นผนังชั้นใน เพื่อป้องกันฝนสาด ฝุ่น และควัน ที่จะเข้ามาจากช่องว่างเหล่านี้ได้ |
แปลนบ้าน