บ้านวัสดุอิฐคอนกรีต ไม้
บ้านที่ชื่อ Block Bond หลังนี้ ออกแบบโดย Felipe Palacios และ Johann Moeller ในปี 2021 ในเมืองลุมบิซี ประเทศเอกวาดอร์ ถือเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมบ้านร่วมสมัย โดยผสมผสานการจัดวางพื้นที่อย่างพิถีพิถัน เพื่อให้บ้านเข้ากับองค์ประกอบตามธรรมชาติของสถานที่ จึงเลือกวัสดุง่ายๆ อย่างการใช้อิฐเแดงก่อแบบโชว์แนวไม่ฉาบทับ คอนกรีตดิบๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ เน้นย้ำถึงวัสดุที่แสดงออกถึงความรู้สึกและบุคลิกที่อบอุ่นของบ้านหลังนี้
ออกแบบ : Atelier 12
ภาพถ่าย : Bicubik
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ด้วยบริบทแวดล้อมที่ยังคงเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี สถาปนิกจึงตัดสินใจลักษณะพื้นผิวสัมผัสของบ้านที่กลมกลืนอ่อนน้อมต่อธรรมชาติโดยรอบ ผ่านการใช้วัสดุต่างๆ กัน เช่น อิฐเปลือย คอนกรีต เหล็ก และไม้ อิฐที่มีพื้นผิวพิเศษที่เรียกว่าบล็อคบอนด์และช่องระบายอากาศด้านหลังนั้น ไม่เพียงแต่เพิ่มมิติทางสุนทรียะเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความร้อนเพิ่มความสบายภายในของบ้านอีกด้วย ส่วนที่ใช้เหล็กจะถูกเปิดเผยในจุดสำคัญทางสถาปัตยกรรมภายใน ดูตัดกันกับอารมณ์อบอุ่นแบบบ้านๆ ของอิฐ ทำให้การแสดงออกเชิงปริมาตรของบ้านมีมิติที่แยบยล
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ลักษณะเด่นของโครงการนี้ คือ การมีปฏิสัมพันธ์อย่างเคารพซึ่งกันและกัน ระหว่างบ้านกับพืชพรรณที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ โดยกำหนดตำแหน่งของปริมาตรทางสถาปัตยกรรมให้หลีกเลี่ยงแนวต้นไม้อย่างมีกลยุทธ์ ช่วยรักษาต้นไม้ไว้ เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นอะโวคาโดซึ่งอยู่คู่กับต้นมะนาว เป็นชนิดไม้ผลหลัก ๆ ที่มีส่วนช่วยจัดวางผังบ้าน สร้างเป็นโถงทางเดินที่นำทาง เปลี่ยนผ่านจากพื้นที่สาธารณะไปสู่พื้นที่ส่วนตัวที่เงียบสงบ ภายใต้ร่มเงาตามธรรมชาติของต้นอะโวคาโด
เมื่อเดินตามโถงทางเดินเข้าไป จะพบกับพื้นที่โปร่งๆ ที่เต็มไปด้วยแสง หันหน้าออกไปจับภาพต้นไม้ในสวนหลังบ้านและลำธาร อาณาเขตภายในและภายนอกถูกผสานเข้าด้วยกันผ่านประตูบานเฟี้ยมกรอบไม้ขนาดใหญ่ ที่สามารถพับเก็บเข้าด้านข้างให้กลายเป็นช่องเปิดกว้างขวาง เชิญชวนให้สวนแทรกซึมเข้ามาอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัย และในทางกลับกันก็ส่งเสริมความเชื่อมโยงของพื้นที่ในบ้านขยายออกไปเป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติ สร้างพื้นที่พักผ่อนของครอบครัวที่เปล่งประกายจากพื้นผิวของวัสดุ ความสดชื่น และความโปร่งใสหลากหลายรูปแบบ
ภายในห้องโถงขนาดใหญ่นี้เน้นความกว้างขวาง เปิดโล่ง และยืดหยุ่นได้ โดยรวมเอาทุกฟังก์ชันที่ต้องการ อาทิ ห้องนั่งเล่น ทานข้าว ครัว เข้าด้วยกันในพื้นที่เดียว เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ลดความทึบที่เกิดจากการก่อผนังเป็นห้องเล็กห้องน้อย และพยายามจัดวางเฟอร์นิเจอร์ชิดติดผนังให้เกิดสเปซที่ว่างสำหรับการสัญจรให้มากที่สุด ซึ่งเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ (ยกเว้นเคาน์เตอร์ครัว) จะเป็นแบบลอยตัว ทำให้สามารถจัดวาง เคลื่อนย้ายให้เหมาะสมตามการใช้งานและจำนวนคนได้ตามสถายการณ์
สำหรับองค์ประกอบที่เด่นที่สุดของโซนนี้ ต้องยกให้หลังคาไม้รูปแบบเพิงหมาแหงนเฉียงสูงขึ้นไปด้านหนึ่ง ผืนหลังคาตกแต่งด้วยไม้ขนาดใหญ่รองรับด้วยโครงหลังคาเหล็กสีดำ เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างจุดโฟกัสสายตาได้แล้ว แต่ทีมงานยังไม่หยุดแค่นั้น ด้วยการใส่กระจกคั่นระหว่างพื้นที่ผนังกับหลังคา เป็นช่องแสงแนวนอนยาวรอบด้านรับแสงสว่างเข้ามาจากมุมบน และยังทำให้เมื่อมองดูจากไกล ๆ จะเห็นเหมือนหลังคาบ้านกำลังลอยตัวอยู่อย่างท้าทาย ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่นำสถาปัตยกรรมและธรรมชาติหลอมรวมกัน สร้างสรรค์ทั้งที่พักพิง แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่ใส่ใจและยั่งยืน
บนหลังคามีดาดฟ้ากว้างๆ ซึ่งเข้าถึงได้โดยใช้บันไดวนที่ออกแบบอย่างประณีต ทำให้สถาปัตยกรรมสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น การขึ้นบันไดนี้เปลี่ยนจากลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์กลางแจ้งที่ให้มุมมองสูงขึ้น จากจุดนี้จะมองเห็นทิวทัศน์แบบพาโนรามาของหุบเขาที่อยู่ไกลออกไป ดาดฟ้าแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบ้านหลังนี้ในการผสมผสานนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมเข้ากับความงามอันเงียบสงบของสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างแท้จริง