รีโนเวทบ้านเก่าอย่างเคารพโครงสร้างเดิม
ในบางครั้งที่เดินผ่านอพาร์ตเมนต์หรือบ้านที่ดูปิดเงียบเหมือนมีความลับ อาจทำให้นึกไปว่า “หลังประตูบานนั้นซ่อนอะไรเอาไว้ข้างใน” ความรู้สึกทิ้งปริศนาเอาไว้ให้ตื่นเต้นเล็ก ๆ นี้ จึงเป็นที่มาของโปรเจ็คการปรับปรุงบ้านใน Bauru ประเทศบราซิล ที่ภายนอกล้อมรอบด้วยอิฐโชว์แนวทาสีขาวล้วน ขับเน้นให้บานประตูสีฟ้าที่ดูวิจิตรบ่งบอกถึงความงดงามของยุคสมัยก่อนที่ยังหลงเหลือเอาไว้ให้เด่นชัดขึ้น จนอยากเข้าไปเปิดดูว่าภายในเป็นอย่างไร
ออกแบบ : Rafael Pinoti Arquitetura
ภาพถ่าย : Daniel Santo
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ประตูสีน้ำเงินที่มีสีสันสดใส เป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการเปลี่ยนแปลง สถาปนิกให้เหตุผลขอองการใช้สีนี้ ซึ่งม่เพียงแต่เป็นความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงแนวคิดของการเริ่มต้นใหม่และการต้อนรับ เป็นการเชิญชวนให้ทำสิ่งใหม่แต่ยังเคารพสิ่งที่อยู่มาก่อน ด้วยเหตุนี้ ทีมงานจึงเสนอการปรับปรุงภายในบ้านที่มีโครงสร้างอิฐเปลือย โดยตั้งเป้าที่จะปรับปรุงพื้นที่ให้ทันสมัยในขณะที่ยังคงคุณลักษณะดั้งเดิมเอาไว้ มอบพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจและสะดวกสบายที่รู้สึกถึงคำว่า “ยินดีต้อนรับ”
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ทีมงานออกแบบทำงานโดยตระหนักว่า บ้านทุกหลังมีเรื่องราวและเป็นพยานของประสบการณ์มากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบที่ประกอบกันเป็นบ้านหลังนี้ โดยเคารพอดีตและสร้างความทรงจำใหม่เข้าด้วยกัน เราตื่นเต้นกับโอกาสที่จะนำโครงการนี้มาสู่ชีวิต โดยเคารพแก่นแท้ของบ้านในขณะที่ปรับให้เข้ากับความต้องการในยุคปัจจุบัน จะเห็นว่าการแทรกแซงนั้นน้อยมาก ยกเว้นจุดที่เจ้าของต้องการให้ลดหรือเพิ่ม เช่น บางจุดรื้อผนังเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ และเลือกใช้สีขาวซึ่งเพิ่มความสว่างให้กับพื้นที่และเน้นพื้นผิวของอิฐทำให้ดูร่วมสมัย
ระหว่างการปรับปรุงสถาปนิกได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง นั่นคือ เสาคอนกรีตที่ซ่อนอยู่ใต้ชั้นของวัสดุตกแต่งเดิม เมื่อเสานี้ถูกเปิดเผยขึ้น สำหรับคนอื่นๆ อาจจะรู้สึกว่าเป็นส่วนเกินที่ไม่สวยงาม แต่สถาปนิกกลับใช้เสานี้เป็นหลักในการผสานเข้ากับการออกแบบใหม่ด้วยความระมัดระวัง โดยทำเคาน์เตอร์ไม้บิลท์แขวนที่ออกแบบเองโอบรับเสาไว้ การผสมผสานนี้ไม่เพียงแต่รักษาประวัติศาสตร์ของบ้านไว้เท่านั้น แต่ยังเพิ่มองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจให้กับพื้นที่แบบที่คาดไม่ถึง
องค์ประกอบอื่นๆ ของบ้านที่ได้รับการปรับปรุง อาทิ พื้นหินกาบ (Slate stone) และพื้นไม้ธรรมชาติ โดยทำให้วัสดุเดิมสวยงามขึ้นและให้ความรู้สึกแบบชนบทและอบอุ่นแก่สิ่งแวดล้อม กลยุทธ์หลักอย่างหนึ่งของโครงการนี้คือการสร้างช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการผสานรวมระหว่างพื้นที่ และปรับปรุงแสงธรรมชาติและการระบายอากาศ หน้าต่างและประตูกระจกช่วยให้แสงส่องเข้ามาได้มาก ทำให้เกิดความรู้สึกกว้างขวางและเชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอก การผสานรวมนี้ไม่เพียงแต่ปรับปรุงคุณภาพของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ด้วย
ประตูและหน้าต่างเหล็กดัดตกแต่งกระจกสีมี texture แบบอาคารเก่าที่ยังคงไว้อย่างมีเสน่ห์ ในส่วนสัมผัสของ “อิฐ” ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญของบ้าน เพราะมีผนังหลายๆ จุดถูกกะเทาะปูนฉาบออก เผยให้เห็นแนวอิฐเก่าที่มีร่องรอยแตกหัก หากเป็นยุคอื่นๆ ความเสียหายเหล่านี้คงเป็นรอยที่ต้องทำการปกปิด แต่สำหรับยุคนี้ผู้คนกลับมองว่าพื้นผิวอิฐแบบนี้แสดงออกถึงความงามตามธรรมชาติของความไม่สมบูรณ์แบบ ที่ไม่จำเป็นต้องฉาบทับ ความเรียบง่ายนี้เข้ากันได้ดีกับความสดใสของวัสดุตกแต่งใหม่ที่อบอุ่นและน่าดึงดูด
เพื่อเป็นการเติมเต็มการปรับปรุงให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้มากขึ้น ทีมงานจึงได้ขยายหลังคาโลหะออกมาให้กลายเป็นห้องครัวแบบกึ่งกลางแจ้ง และห้องทานข้าวในพื้นที่สวน จุดเด่นของที่นี่ก็คือต้นเฟื่องฟ้าอายุกว่า 20 ปี ที่มีลำต้นโค้งงอและทรงพุ่มที่กว้างขวางให้ร่มเงาและความสบาย ต้นไม้ต้นนี้ซึ่งมีความสวยงามตามธรรมชาติ กลายมาเป็นประติมากรรมที่มีชีวิตอย่างแท้จริง และเป็นจุดที่สมบูรณ์แบบสำหรับการรวมตัวกันใช้เวลากับกิจกรรมในครอบครัว
“สถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงมนุษย์อย่างแท้จริงจะรับฟังเสียงของผู้อยู่อาศัย ทำให้สามารถเปลี่ยนพื้นที่แต่ละแห่งให้กลายเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความหมายและความรัก” นี่คือข้อความที่สถาปนิกส่งท้ายเอาไว้สำหรับงานออกแบบปรับปรุงบ้านหลังนี้
แปลนบ้าน