บ้านมีคอร์ทยาร์ดตรงกลาง
บ้านชั้นเดียวหลังนี้เป็นแพทย์คู่หนึ่งในอินเดีย ทั้งสองคนต้องการออกจากความวุ่นวายของเมืองเจนไน จึงได้ซื้อที่ดินขนาด 2 เอเคอร์ (ประมาณ 5 ไร่) ในเขตชานเมือง เพื่อเตรียมเอาไว้สำหรับสร้างบ้านกะทัดรัดอยู่ง่าย ๆ สักหลัง หลังจากนั้นจึงให้โจทย์กับ Studio One By Zero สั้น ๆ แต่ชัดเจนว่า ความต้องการคือ บ้านสองห้องนอนพร้อมฟังก์ชันในการใช้ชีวิตประจำวันครบครัน และองค์ประกอบความเป็นพื้นถิ่น ดังนั้นความตั้งใจของสถาปนิกจึงเริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้สึกย้อนยุค แต่ยังต้องแน่ใจว่าการออกแบบนั้นทันสมัยและไร้กาลเวลา ฟังดูอาจจะขัดแย้ง แต่หากมองในภาพรวมจะพบว่าเป็นความลงตัวที่เข้ากันได้
ออกแบบ : Studio One By Zero
ภาพถ่าย : Yash R Jain
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอย 218 ตารางเมตร ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถือว่าเล็กเลย แต่ด้วยรูปทรงที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมชั้นเดียวกระจายตัวออกไป ทำให้รู้สึกว่าบ้านดูถ่อมตัว และเพื่อกระตุ้นความรู้สึกคิดถึงการมาเยือนหมู่บ้านของเธอในวัยเด็ก สถาปนิกจึงผสมผสานวัสดุคอนกรีตเปลือย ๆ ก้อนอิฐสีแดงอมส้มที่ทำจากมือของคนในท้องถิ่น และงานไม้เข้าไปช่วยเพิ่มความรู้สึกเรียบง่าย อบอุ่น แต่เส้นสายคมชัดไม่มีรายละเอียดรกตากลับทำให้ทันสมัย ภาพรวมของบ้านจากภายนอกจึงครอบคลุมโจทย์ตั้งแต่ยังไม่เดินเข้าสู่ตัวบ้าน
ภาพตัดด้านหน้าและด้านหลังของบ้านหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่ก็จะคงคอนเซ็ปวัสดุและรูปทรง เหนือทางเข้าบ้านมีแผ่นพื้นคอนกรีตยื่นออกมา ซึ่งเป็นส่วนที่ให้การปกป้องภายในจากแสงแดดอย่างเพียงพอ แต่ยังปล่อยให้ลมที่พัดผ่านเข้ามาในบ้าน และมีการวางแแปลนบ้านในลักษณะที่พื้นที่ภายในทั้งหมดสามารถมองเห็นลานภายในได้
ประตูบ้านขนาดใหญ่เป็นบานเฟี้ยมที่เปิดออกได้กว้างและปิดทึบเหมือนเป็นผนัง เพิ่มความรู้สึกปลอดภัยและยืดหยุ่นในการใช้งาน เมื่อเปิดออกมาจะพบกับสนามหญ้าสีเขียวชอุ่มและภูมิทัศน์สวยงามของลานบ้าน 2 จุดที่ต่อเชื่อมกันเป็นหัวใจของบ้านในแนวตะวันออก-ตะวันตก เหนือคอร์ทปิดทับด้วยเหล็กดัดเป็นลวดลายต่างๆ ช่วยพรางแสงไม่ให้โซนกลางแจ้งร้อนมาก นอกจากนี้สถาปนิกยังวางจุดรับประทานอาหารตั้งอยู่ระหว่างลานทั้งสอง เพื่อรองรับการสังสรรค์ในครอบครัวขนาดใหญ่เอาไว้ด้วย คอร์ทยาร์ดนี้จึงไม่เพียงสร้างเอฟเฟกต์ที่สวยงาม และความเย็นแบบธรรมชาติทั่วทั้งบ้าน แต่ยังเป็นพื้นที่ทางสังคมสุดโปรดของสมาชิกในบ้านด้วย
ที่คอร์ทยาร์ดใส่จุดโฟกัสสายตาไปที่แผงผนังด้านหนึ่ง ซึ่งก่อด้วยอิฐโชว์แนวให้มีความนูนออกมา เมื่อแสงอาทิตย์ฉายภาพลงไปที่จุดนี้ทำให้เห็นมิติแสงเงาของอิฐตลอดทั้งวัน เกิดรูปแบบคล้ายคลื่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา บ้านจึงแตกต่างอย่างน่าสนใจโดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีไฮเทคใด ๆ เลย ทั้งนี้ลานบ้านทางทิศตะวันออกมีต้น Chinese Ficus เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งช่วยสร้างสมดุลลดทอนความรู้สึกดิบของอิฐและคอนกรีต ตำแหน่งของกำแพงนี้ยังทำหน้าบังแสงที่รุนแรงจากทิศตะวันตกไปด้วยในตัว
การมีลานกลางบ้านที่เปิดทะลุจากด้านหน้าไปด้านหลัง ซึ่งนั่นหมายความว่าเจ้าของบ้านจะเชื่อมต่อกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมภายนอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดยามเช้าหรือกลิ่นฝนช่วงฤดูมรสุม แบบเป็นส่วนตัวไม่ต้องออกจากตัวบ้านไปไหน การใช้อิฐเปลือยและปูนฉาบทั่วทั้งบ้านก็มีส่วนทำให้สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น พื้นผิวและรูปลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติของอิฐแต่ละก้อนจะไม่เหมือนกัน สร้างพื้นผิวที่แตกต่างตามกาลเวลา
จากคอร์ทที่อยู่ตรงกลางจะมีห้องนั่งเล่นและห้องครัววางไว้ด้านหนึ่ง ส่วนห้องนอนอยู่อีกด้านหนึ่งซึ่งให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า เมื่อเราผ่านประตูไม้และผนังกระจกขนาดใหญ่เข้าไปในห้องนั่งเล่น จะพบโถงขนาดใหญ่วางชุดโต๊ะโซฟาไม้เบาะผ้าขนาดใหญ่ชวนนั่งสบายๆ พื้นใช้กระเบื้อง Athangudi จาก Karaikudi พร้อมการฝังหินแกรนิต เพิ่มสาระสำคัญอารมณ์แบบดั้งเดิมให้กับพื้นที่ เงยหน้าขึ้นไปจะพบกับลุกเล่นเพดานตกแต่งแผ่นคอนกรีตที่เป็นหลุมกลมๆ แต้มสีน้ำตาลอิฐ เหมือนตัวต่อโดมิโนเรียงต่อกันสนุกๆ และเป็นเสมือนฉนวนทำให้ภายในห้องเย็นตลอดทั้งวัน ตกแต่งเสริมด้วยของเก่าที่ทำจากไม้และทองเหลืองซึ่งได้มาจากส่วนต่าง ๆ ของรัฐทมิฬนาฑู
ห้องนอน 2 ห้อง ห้องนอนใหญ่และห้องนอนแขกแยกจากพื้นที่รับประทานอาหารและลานภายใน ห้องนอนใหญ่ตกแต่งด้วยไม้เพื่อให้พื้นที่มีความรู้สึกอบอุ่นขึ้น เมื่อเข้าสู่ห้องนอนแขก คุณจะได้รับการต้อนรับด้วยหัวเตียงไม้ขอบโดดเด่น ส่วนเฟอร์นิเจอร์ ตู้เสื้อผ้า ตู้ครัว และประตูทั้งหมดที่ใช้ในบ้าน ทำจากไม้ที่นำกลับมาใช้ใหม่ซึ่งนำมาจากบ้านส่วนต่างๆ ของบ้านเก่ารัฐทมิฬนาฑู การนำไม้กลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งที่สถาปนิกให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะเป้าหมายหนึ่งคือการลดการใช้ต้นไม้ที่เพิ่งตัดใหม่และนำต้นไม้ที่ถูกทิ้งกลับมาใช้ใหม่
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : คอร์ทยาร์ด (Courtyard) หรือที่เรามักเรียกสั้นๆ ว่าคอร์ต จริงๆ แล้วก็คือลานหรือพื้นที่ไม่มีหลังคาคลุมนั่นเอง อาจจะมีผนังหรืออาคารล้อมทั้งหมดหรือบางส่วน บ้านบางหลังจัดให้มีลานโล่งใจกลางบ้านแล้วปลูกต้นไม้อยู่ข้างใน ซึ่งเราจะเห็นมากขึ้นการออกแบบบ้านสมัยใหม่ การทำลานในบ้านสามารถตอบสนองข้อจำกัดบางอย่างของบ้านได้ อาทิ สภาพแวดล้อมรอบบ้านที่ติดกับเพื่อนบ้าน ไม่มีพื้นที่ว่างทำสวนรอบๆ ต้องการพื้นที่เปิดโล่งเป็นธรรมชาติที่เป็นส่วนตัว อยากให้บ้านมีพื้นที่รับแสงและลมเพิ่มขึ้น เป็นต้น |
แปลนบ้าน