เมนู

“บ้านทิตา” ย้อนกลับไปหาความอุ่นใจในเรือนไม้ล้านนา

บ้านไทยล้านนา

บ้านไม้ล้านนา ย้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น

“หอมกลิ่นควันไฟจากครัว นั่งห้อยขาที่เรือนชานดูพ่อต้อนวัวเข้าคอก ช่วยเก็บผักในแปลงให้แม่” ใครที่มีความทรงจำที่ยังงดงามเหล่านี้อยู่ในหัวใจเหมือนกันบ้างครับ สำหรับผู้เขียนเองอยู่ในชนบทแถบภาคเหนือที่คุ้นชินกับบ้านไม้เดินไปมาเสียงดังกรอบแกรบ มีชิงช้าไม้ผูกไว้ให้เล่นอยู่ใต้ถุนบ้าน กับแปลงผักที่ตากับยายขยันปลูกเก็บไว้ทานเอง แม้ไม่ใช่ช่วงชีวิตที่สุขสบายนัก แต่ก็รับรู้ถึงความอุ่นใจกับความชิดใกล้ของคนในครอบครัว และความเรียบง่ายของธรรมชาติที่ห่อล้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนอีกบางกลุ่มที่มองข้ามแบบบ้านก่ออิฐฉาบปูนสมัยใหม่ หันกลับมาสร้างบ้านไม้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรือนแบบชนบท “บ้านทิตา” ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็คที่จะพาเราย้อนเวลากลับไปในอดีต แต่สอดรับกับการใช้ชีวิตสำหรับอนาคตได้เป็นอย่างดีครับ

ออกแบบYang Nar Studio
ภาพถ่ายRungkit Charoenwat
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านไม้มีใต้ถุนสไตล์ล้านนาประยุกต์

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านไม้มีใต้ถุนสไตล์ล้านนาประยุกต์

เรือนไม้สองหลังเชื่อมต่อกัน สร้างอยู่ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ นี้เอง จัดทำโดยกลุ่มสถาปนิก Yangnar Studio ซึ่งเป็นกลุ่มช่างฝีมือและสถาปนิกที่เชี่ยวชาญการออกแบบและสร้างงานด้วยวิธีการทางสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ด้วยภูมิหลังและความเคารพในวิถีสล่าพื้นถิ่นในภาคเหนือของประเทศไทย จึงพยายามดึงเอาทักษะงานฝีมือแบบดั้งเดิม และวัสดุที่เคยใช้สร้างบ้านมาประกอบใหม่เป็นเรือนล้านนามีใต้ถุน แต่สอดแทรกเทคนิค วัสดุ และฟังก์ชันใหม่ ๆ เข้าไป เพื่อแก้ไขจุดด้อยของบ้านในขนบเดิม และให้บ้านตอบโจทย์สภาพอากาศรวมถึงการใช้งานของสมาชิกในบ้านให้ได้มากที่สุด

บ้านไม้มีใต้ถุนสไตล์ล้านนาประยุกต์

หลังคาเรือนบางส่วนเป็นกระเบื้องลอนคู่ บางส่วนของเรือนเล็กจะมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ที่ปูรองด้วยผ้ายางสีดำกันน้ำรั่ว การมุงจะทับซ้อนกัน2-3 ชั้น  ทำให้ไม่มีปัญหาน้ำรั่วจากรอยต่อของไม้ สำหรับผนังสถาปนิกอธิบายว่า “จะใช้ไม้โชว์พื้นผิวธรรมชาติเดิมของไม้เก่าที่ได้มา ทาด้วยน้ำมันเครื่องรถยนต์เก่า และควรทาทุกกี่ปีเพื่อรักษาเนื้อไม้ โดยเฉพาะส่วนที่โดนแดดครับ”  ไม่เฉพาะไม้เท่านั้นที่เป็นวัสดุหลัก จุดที่ต้องก่ออิฐก็ยังมี เช่น บริเวณห้องน้ำที่ต้องทนชื้น

พื้นที่ทำงานใต้ถุนบ้าน

บ้านไม้สองเรือนนี้เว้นพื้นที่ว่างด้านล่างเป็นใต้ถุนสูงไม่เท่ากัน อาคารใต้ถุนเตี้ยใช้สำหรับเก็บอุปกรณ์และผลผลิตทางการเกษตร อาทิ จอบ เสียม ฟืน แขวนผึ่งกระเทียม หอมแดง ฯลฯ ส่วนเรือนที่เว้นพื้นที่สูงกว่าสามารถใช้ทำงาน หรือเป็นจุดพักให้นั่งเล่นนอนเล่นรับลมตอนกลางวันสบายใจ

บันไดนอกบ้าน

จุดล้างเท้าก่อนขึ้นบันไดบ้าน

นอกบ้านจะมีข่วงลักษณะเป็นลานดินกว้าง ๆ (สำหรับบ้านนี้จะโรยกรวดหยาบ ๆ ) และมีโถงสำหรับต้อนรับแขกใส่หลังคาคลุมกว้าง เพื่อป้องกันฝนและป้องกันแสงแดดในช่วงบ่าย ถัดจากโถงมีบันไดไม้ที่ขึ้นมาสู่พื้นที่ชานกลางบ้าน บันไดบ้านชาวล้านนาจะอยู่นอกตัวบ้าน ที่ตีนบันไดมักจะมีบ่อหรือตุ่มให้แวะล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อนขึ้นสู่ชานเรือน

พื้นที่ใช้งานข้างบ้าน

บริเวณชานเรือน

เมื่อขึ้นสู่ตัวเรือนจะพบกับพื้นที่ที่คนเมืองเรียกว่า “เติ๋น” ซึ่งยกระดับขึ้นจากชานและเชื่อมเข้ากับส่วนครัวไฟ ความสูงต่างระดับกับพื้นชานเพียงแค่ให้พอนั่งพักเท้าห้อยขาได้เล็ก ๆ เป็นพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์สารพัดประโยชน์ใช้สำหรับอยู่อาศัยทำกิจกรรมในช่วงกลางวัน ไม่ว่าจะเตรียมของไปวัด งานบุญกฐินผ้าป่า รับแขก หรือสมัยก่อนจะใช้เป็นที่นอนของลูกชายก็ได้เช่นกัน

ส่วน Living หรือเติ๋น ที่ใช้โซนใช้ชีวิตสำหรับครอบครัว จะเป็นห้องโถงที่ติดบานเฟี้ยมกระจกสองด้านเปิดออกรับลมได้เต็มที่ ซึ่งบ้านแบบดั้งเดิมจะไม่ฟังก์ชันตรงส่วนนี้เพราะมักจะเปิดโล่ง ส่วนที่ติด ๆ กันจะตีฝาบ้านแยกห้องนอนทำให้บ้านเป็นสัดส่วนแต่จะดูแคบกว่า หากสังเกตให้ดีตรงหลังโซฟาสีเขียวจะมีหน้าต่างไม้เป็นช่อง ๆ ซึ่งภาษาเหนือบางพื้นที่จะเรียกหน้าต่างว่า “ป่อง” เป็นแบบฝาไหล คือ ทำฝาไม้สองชั้นตีเว้นช่องสลับกัน หากเลื่อนมาซ้อนกันก็จะเป็นฝาบ้านทึบ แต่ถ้าเลื่อนขยับฝาชั้นในก็จะทำให้เกิดช่องว่างสลับทึบ ให้บ้านรับลมระบายอากาศแบบยืดหยุ่น

ถ้าถามว่าในบ้านนี้ชอบพื้นที่ไหนที่สุด ต้องขอตอบว่า “ครัว” เพราะของกิ๋นลำ ๆ ที่บ้านเกิดขึ้นที่จุดนี้ ตั้งแต่เช้ามืดก็จะได้กลิ่นข้าวนึ่งไอระอุ ตอนเย็นๆ เมื่อเริ่มได้ยินเสียงตำน้ำพริกเป็นจังหวะท้องก็เริ่มร้อง เรือนครัวหรือครัวไฟประกอบอาหารเป็นห้องกว้างๆ มีโต๊ะไม้สำหรับวางเครื่องปรุง เตรียมของ และใช้เป็นพื้นที่ทานข้าวเมื่อปรุงเสร็จแล้ว ปกติบ้านในภาพเหนือจะมีครัวแยกจากส่วนตัวเรือน พื้นที่จะลดระดับลงเล็กน้อย และตีพื้นด้วยไม้แบบมีระยะห่างเล็ก ๆ เพื่อระบายอากาศและความชื้นในครัว

ห้องนั่งเล่นบ้านเล่นระดับ

บ้านนี้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับความสูงเริ่มตั้งแต่บริเวณโถงต้อนรับ มาถึงบริเวณเติ๋น ส่วนชั้นบนสุดคือห้องนอนและพื้นที่ทำงาน เป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สุดของบ้าน เราสามารถรู้สึกได้การเล่นระดับเล็ก ๆ อย่างน่าสนุกจากพื้นที่นั่งเล่นดูทีวีข้างล่าง ขึ้นมาที่มุมทำงานที่ออกแบบเป็นเคาน์เตอร์ไม้เรียงตัวไปยาวแนวยาวของหน้าต่าง บริเวณชั้นวางของก็ทำหน้าที่เหมือนฉากกั้นให้ที่ทำงานแยกออกไปอย่างหลวม ๆ แต่ยังมีสมาธิ

ห้องนอน

ส่วนห้องนอนจะอยู่ลึกเข้าไป 2 ห้อง ออกแบบเรียบๆ ง่าย ๆ ทั้งสองห้องจะมีฟูกนอนวางกับพื้นแบบ floor bed ซึ่งก็เป็นรูปแบบการนอนที่คุ้นเคยดีในบ้านสมัยก่อน พื้นที่ว่างก็ปูเสื่อปูสาดเอาไว้เผื่อเนื้อตัวเลอะ ๆ กลับมาก็นอนเล่นได้ไม่ทำให้เตียงเปื้อน ในส่วนข้างฝาบ้านมีจุดให้ใช้แขวนเสื้อผ้า กระเป๋า ของใช้ส่วนตัว ตรงโครงเคร่าไม้มักเป็นจุดสะสมฝุ่นต้องหมั่นเช็ดบ่อยๆ

สำหรับห้องน้ำนั้น ชาวบ้านล้านนาสมัยก่อนมักจะแยกไปทำธุระบริเวณที่มิดชิดนอกบ้าน ส่วนการอาบน้ำก็จะหาบน้ำจากบ่อมาอาบในพื้นที่สร้างกำบังง่ายๆ ใกล้ตัวบ้าน เหมือนเป็นห้องอาบน้ำกึ่งกลางแจ้ง หรือไปอาบตรงลำคลองที่ไหลผ่าน ต่อมาจึงมีการนำห้องน้ำสร้างมาไว้ในตัวบ้าน สำหรับบ้านนี้ออกแบบมาให้บรรยากาศใกล้เคียงกับพื้นที่อาบน้ำสมัยก่อน ที่มีส่วนอาบน้ำเปิดโล่งๆ ใส่อิฐช่องลมให้อากาศถ่ายเทลดความชื้น แต่ก็มีชักโครกและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด