เมนู

บ้านสองชั้นสีดำ กับกลวิธีสู้กลับพื้นที่แคบเล็ก

ออกแบบบ้านพื้นที่เล็ก

บ้านสองชั้นขนาดกะทัดรัด

‘ยิ่งเรารู้จักคุณมากขึ้นเท่าไหร่  บ้านก็จะตอบโจทย์คุณได้มากเท่านั้น’ ประโยคนี้ที่สถาปนิกพูดเสมอเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น เพราะเจ้าของบ้านต้องกลับไปสร้างภาพให้ชัดขึ้นว่าตนเองต้องการใช้สถานที่นี้อย่างไร มีฟังก์ชันไหนที่ต้องการมาก พื้นที่ไหนต้องการน้อยหรือไม่ต้องการ เพื่อให้การออกแบบบ้านตอบโจทย์สิ่งที่เจ้าของต้องการให้ได้มากที่สุด ไม่เพียงแต่ต้องทราบสิ่งที่คาดหวังและภาพคิดที่เจ้าของบ้านมองตัวเองอยู่ภายในบ้านเท่านั้น แต่ในส่วนของทีมงานออกแบบยังต้องศึกษาสภาพภูมิประเทศ มุมมองรอบ ๆ งบประมาณ และการจัดการข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น เช่น บ้านงบน้อยที่ทำให้ขนาดของบ้านเล็กลง ก็ต้องหามองหาวิธีจัดการให้ทุกคนยังอาศัยได้อย่างสบาย

 เจ้าของบ้าน : Rhys Dosburg

บ้านสองชั้นสีดำ

บ้านหลังเล็กขนาด 64 ตร.ม. ในประเทศนิวซีแลนด์ เจ้าของคือ Rhys Dosburg และครอบครัวของเขา ในขณะที่เขาวางแผนที่จะสร้างบ้านหลังใหญ่บนพื้นที่รอบ ๆที่ซื้อเอาไว้ในย่านชานเมือง Vogeltown บนเนินเขาของเวลลิงตัน ยังเหลือพื้นที่อยู่เล็กน้อยให้ทำสิ่งก่อสร้างได้ เจ้าของตั้งใจทำบ้านเล็ก ๆ เอาไว้เก็บเป็นรายได้ค่าเช่าหลังวัยเกษียณ แต่เนื่องจากไซต์ตั้งอยู่ในหุบเขา จึงมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเรื่องความสูงและขนาดพื้นที่ที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องทำเป็นบ้านหลังสองชั้นขนาดกะทัดรัดรูปทรงจั่วสไตล์นอร์ดิก เป็นไม้ซีดาร์ที่ด้านหน้าและใช้ไม้สนที่ด้านหลัง ต้นสนมีราคาน้อยกว่าหนึ่งในสามของราคาต้นซีดาร์ จึงเลือกใช้เสริมเข้ามาในส่วนที่ไม่ได้โชว์และไม่ได้รับแสงแดดมากนัก

โรงเรือนโปร่งแสงข้างๆ บ้านสีดำ

แบบหน้าจั่วของบ้าน มีที่มาจากการต้องการเพิ่มความสูงภายในให้สูงสุด เพราะข้อกำหนดความสูงอาคารจะพิจารณาจากระนาบชายคา ถ้าสถาปนิกใช้หลังคาแบนตามข้อกำหนดสูงสุดที่ทางการอนุญาต คือ 4.5 เมตร จะไม่เหลือพื้นที่บนชั้นสองให้อยู่ได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นทีมงานจึงเลือกใช้หลังคาหน้าจั่วที่มีระนาบชายคา 4.5 เมตร แต่ตรงจุดสูงสุดของจั่วจะได้พื้นที่เพิ่มอีก 1 เมตร ดังนั้นชั้นบนสุดที่ยอดเพดานภายในจึงสูงประมาณ 2.7 เมตร ทำให้รู้สึกสบายขึ้น ส่วนข้างบ้านจะมีบ้านแปลงปลูกผักและโรงเรือนขนาดใหญ่ ที่ออกแบบให้รูปทรงให้ล้อไปกับตัวบ้าน เป็นจุดที่เจ้าของบ้านภูมิใจเพราะได้ลงมือเพาะปลูกด้วยตัวเอง ให้ผลผลิตสดๆ แบบไร้สารพิษให้ทานได้ตลอดทั้งปี

ครัวขนาดกะทัดรัด

ชั้นล่าง ห้องขนาด 20 ตร.ม. มีห้องครัว พื้นที่รับประทานอาหารและมุมนั่งเล่นพักผ่อน โดยมีห้องซักรีดแยกต่างหาก และห้องนอนเดี่ยวที่ออกแบบมาสำหรับลูกสาว ห้องครัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในบ้าน เพราะเจ้าของเรียนทำอาหารมาก่อน และตอนนี้ก็ทำอาหารทุกวัน จะเห็นได้ชัดว่านี่คือ ‘ครัวของเชฟ’ เห็นเล็ก ๆ แบบนี้แต่มีครบทั้งไอส์แลนด์ที่มีซิงค์ล้าง เครื่องปิ้งขนมปังและเครื่องชงกาแฟ ตู้อบ เตาแก๊ส พร้อมเครื่องดูดควันที่รวมเข้ากับตู้ไม้อัดแบบสั่งทำพิเศษ พร้อมชั้นวางแบบเปิดด้านบนที่ใช้สำหรับเสิร์ฟอาหารได้ด้วย

ตกแต่งภายในบ้านเล็ก ๆ

มุมครัวและห้องทานข้าว

ตู้ภายในทั้งหมดเป็นงานสั่งโรงงานไม้ รวมถึงตู้เสื้อผ้าแบบวอล์กทรูที่สั่งทำขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยกำหนดพื้นที่ใช้งานได้ง่าย เพราะตู้ส่วนใหญ่จะพยายามจัดให้ติดผนัง หรือทำหน้าที่แทนผนังในบางจุด ทำให้บ้านเล็ก ๆ ยังมีความโปร่ง เหลือส่วนที่ว่างในบ้านมากขึ้น และจะใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวขนาดกะทัดรัดที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เป็นหนึ่งทริกที่ไม่ทำให้บ้านดูแคบ

มุมนั่งดูทีวี

ห้องน้ำและห้องแต่งตัว

เมื่อเดินขึ้นจนสุดขั้นบันได ทางขวามือจะมีตู้เสื้อผ้าแบบ walk-through ที่มีช่องว่างอยู่ระหว่างกลาง ตรงจุดนี้สถาปนิกใส่ลูกเล่นดึงสายตาให้โฟกัสมองออกไปทางหน้าต่างและมองขึ้นไปทางช่องกระจกขนาดใหญ่เหนือศีรษะแทน เมื่อมายืนอยู่ตรงกลางตู้เสื้อผ้าภายใต้สกายไลท์ เจ้าของบ้านก็จ้องมองกระจกไปทุกทิศทาง ซึ่งทำให้ตู้เสื้อผ้าดูใหญ่กว่าที่เป็นอยู่มาก จนลืมไปเลยว่าตรงนี้เป็นห้องเล็ก ๆ

ห้องนอน

บ้านสองชั้นเล็กๆ สไตล์โมเดิร์น

หน้าจั่วที่มีหน้าต่างบานเลื่อนและช่องรับแสงขนาดใหญ่ ช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นเหมือนโบสถ์น้อยที่สว่างไสวให้กับพื้นที่ด้านบน รวมถึงการระบายอากาศทั่วทั้งห้องนอนใหญ่และห้องชุดห้องน้ำ ในตอนแรก สถาปนิกพิจารณาว่าจะทำระเบียงด้านหน้า แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจไม่ทำ เพราะเห็นว่าระเบียงจะบังแสงไม่ให้เข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยชั้นล่าง และสามารถเปิดหน้าต่างในตอนเช้าของฤดูร้อนเพื่อเพลิดเพลินกับทัศนียภาพและเสียงนกร้องได้ง่าย

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การจัดบ้านเล็ก สิ่งสำคัญคือ การทำบ้านให้โปร่งโล่งที่สุดแบบ open plan ไม่ต้องมีผนังกั้น เพื่อเชื่อมต่อ Space ในแนวนอน โดยใช้ตัวเฟอร์นิเจอร์เป็นสิ่งบ่งบอกขอบเขต ทำให้บ้านดูต่อเนื่องและยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ง่าย รวมทั้งการใช้พื้นที่แนวตั้งให้มีประสิทธิภาพ เช่น การบิลท์อินตู้และชั้นเก็บของติดผนัง เพื่อเพิ่มพื้นที่แนวนอนให้มากขึ้น หากพื้นที่ดินหน้าแคบแต่ต้องการพื้นที่เพิ่ม ก็อาจเพิ่มระยะห่างจากพื้นถึงหลังคาให้มากขึ้นอีกนิดเป็นเหมือนบ้านชั้นครึ่ง แล้วเจาะเพดานขึ้นไปเป็นโถงสูง Double Space ทำชั้นลอยหรือห้องใต้หลังคา ก็เพิ่มพื้นที่ใช้งานได้โดยไม่ทำให้บ้านเล็กๆ ดูแคบลง

แปลนบ้าน

โมเดลบ้าน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด