
บ้านหน้าแคบลึก
ความท้าทายของการสร้างบ้านในพื้นที่หน้าแคบลึกมีมาให้เห็นเสมอ เหมือนเช่นบ้านขนาด 3 เมตร x 10 เมตร หลังนี้ ที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่มี 4 คนหลังนี้ ก่อสร้างโดยใช้วัสดุบ้าน ๆ และเทคนิคการก่อสร้างของช่างพื้นถิ่นมาผสมผสานกันเพื่อปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานและจำนวนคนแบบไม่รู้สึกอึดอัด เป็นหนึ่งโครงการบ้านสองชั้นเล็ก ๆ ที่ยืนยันว่า พื้นที่น้อยก็ให้ประสบการณ์ที่พิเศษ ชีวิตที่สนุกสนาน และเปี่ยมล้นด้วยล้นความรักและความสุขให้กับทุกคนได้
รูปภาพ : Azulpitanga
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านนี้ชื่อ casa 3×10 มาจากขนาดด้านหน้ากว้าง 3 ม. และลึก 10 ม.ของที่ดิน ซุกซ่อนตัวอยู่ระหว่างอาคารในเมือง Juazeiro do Norte – CE ย่าน João Cabral ของบราซิล บ้านพื้นที่น้อยสำหรับครอบครัวที่ประกอบด้วยคู่สามีภรรยาและลูกสองคน มีความท้าทาย คือ การกำหนดรายละเอียดฟังก์ชันและพื้นที่แต่ละอย่างอย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าภายในบ้านจะมีความลื่นไหลมากขึ้น เต็มไปด้วยด้วยความสบายและสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการป้องกันความร้อน ไม่มีเสียงรบกวนจากถนน มีแสงธรรมชาติ และการใช้การระบายอากาศที่ดีขึ้นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความเป็นอยู่ที่ดี
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
กลยุทธ์คืออะไร คำตอบแรกคือ เริ่มตั้งแต่การลดจำนวนและขนาดของผนังให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อเปิดสเปซในบ้านให้ดูกว้างแบบ open plan ทำให้ชั้นล่างเป็นเหมือนห้องโถงเดียวขนาดใหญ่ ใส่ฟังก์ชันนั่งเล่น ทานข้าว ครัวเรียงกันไปอย่างไหลลื่น ด้วยวิธีนี้จะทำให้บ้านไม่มีผนังเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงกัน สมาชิกในบ้านสามารถใช้งานพร้อมกันได้ทุกคน แต่พื้นที่ชั้นเดียวยังเล็กเกินไป ไม่สามารถบรรจุพื้นที่ใช้ชีวิตที่จำเป็นได้หมด จึงต้องเพิ่มชั้นสองขึ้นไป รวมพื้นที่ 2 ชั้น 60 ตารางเมตร
เจ้าของบ้านตั้งใจจะใช้วัสดุปูพื้นน้อยที่สุดเพื่อให้ประหยัดงบประมาณ จึงทำพื้นซีเมนต์ขัดมันเรียบ ๆ ส่วนผนังด้านในเป็นเหล็กหนา 5 ซม. และผนังภายนอกเป็นอิฐดินซีเมนต์ (ขนาด 25x12x6.5 ซม.) และอิฐ cobogos ที่ผลิตใน Juazeiro do Norte ที่มีคุณสมบัติปกป้องบ้านจากความร้อนได้ดี เพิ่มการกรองแสงบริเวณทางเข้าด้วยบานประตูหน้าต่างที่มีม่านเคลื่อนย้ายได้ ให้แสงธรรมชาติในปริมาณที่บ้านต้องการ เมื่ออิฐ เหล็ก ไม้ คอนกรีตมารวมกัน ก็เกิดการผสมผสานองค์ประกอบเชิงสร้างสรรค์ของเนื้อแท้วัสดุ นอกเหนือจากการลดต้นทุนแล้ว ยังสนับสนุนการมองหาโซลูชันใหม่ๆ ที่จะช่วยลดเวลาในการก่อสร้าง และทำให้บ้านดูมีความทันสมัยในสไตล์ลอฟท์
อีกหนึ่งกลวิธีการทลายข้อจำกัดของบ้าหน้าแคบลึกที่มักขาดแสง คือ บริเวณใจกลางบ้านแทรกลานขนาดเล็กติดตั้งบันไดวนเหล็กและไม้ พื้นที่รอบบันไดเจาะช่องว่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มการไหลเวียนอากาศในแนวตั้ง ช่วยกระตุ้นการระบายอากาศร้อนออกจากตัวบ้านอย่างต่อเนื่อง ส่วนหลังคาที่ตรงกับช่องวางนี้ทำสกายไลท์ ซึ่งนอกจากจะให้แสงสว่างตรงกลางบ้านแล้ว ยังเพิ่มช่องทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างด้วย
พื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน ห้องน้ำ ถูกแยกขึ้นไปอยู่ในชั้นบน ในห้องนอนมีประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่ติดม่านมูลี่ช่วยกั้นกรองแสง และเปิดรับลมระบายอากาศได้ แผ่นพื้นบนชั้นนี้ทำจากไม้แองเจลิมซึ่งเข้ากับสภาพอากาศร้อนและแห้งของจัวเซโรได้เป็นอย่างดี วัสดุคอนกรีตใช้สำหรับพื้นห้องน้ำเท่านั้น ส่วนหลังคาบ้านติดตั้งวัสดุเมทัลชีทแบบแซนวิช ที่มีฉนวนช่วยลดความร้อนจากหลังคาลงมาสู่ห้องนอนให้นอนได้สบายไม่ร้อนมาก
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ดินซีเมนต์ (soil cement) อาจเป็นสิ่งที่บ้านเรายังไม่ค่อยคุ้น เพราะเป็นการหลักการปรับปรุงพื้นที่ดินธรรมชาติโคลน เลน ซึ่งรับน้ำหนักการก่อสร้างไม่ได้ จึงต้องทำการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีคววามแข็งแรงขึ้น โดยการทำให้ดิน แข็งตัวมากขึ้น ลดปริมาณน้ำในดินลง วิธีการคือ เติมปูนซีเมนต์ลงไปในดินนั้นแล้วกวนให้ผสมกัน ปูนซิเมนต์จะช่วยดูดซับปริมาณน้ำในดิน ช่วยให้ดินมีความหนืดและแข็งแรงขึ้น แล้วบดอัดจนได้ความหนาแน่นที่เหมาะสม วัสดุอิฐดินซีเมนต์ในต่างประเทศก็ใช้หลักการเดียวกัน อาจใช้ดินลูกรังบดละเอียด, ดินร่วนปนทราย ผสมปูนซีเมนต์ แล้วใช้ยางพาราเป็นสารผสมเพิ่ม เป็นต้น |