เมนู

บ้านสไตล์รีสอร์ท เปิดรอบด้านเหมือนศาลากลางน้ำ

ศาลากลางน้ำ

บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอล

สถาปนิกส่วนใหญ่จะยอมรับว่าการเริ่มต้นออกแบบโครงสร้างใดๆ ที่มีภูมิทัศน์มาเป็นส่วนประกอบจะค่อนข้างยาก เพราะไม่ใช่การนึกภาพของอาคารเท่านั้น แต่ต้องใช้จินตนาการค่อนข้างมากว่าทำอย่างไรบ้านจะเข้ากันได้กับสภาพแวดล้อม ต้นไม้ สระน้ำ ต้องอยู่ตรงไหน  เหมือนเช่นโปรเจ็คนี้ที่อยู่ในอินเดีย สถาปนิกก็ทราบดีถึงความยาก “แต่นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ ทุกครั้งที่ฉันเยี่ยมชมไซต์งาน ฉันจะพกหนังสือเกี่ยวกับสวนทั่วโลกไปด้วย” Hiren Patel ผู้ก่อตั้ง Hiren Patel Architects กล่าว บ้านไร่แบบอินเดียจึงถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ในเขตชานเมืองด้วยสายตาที่ล้ำลึกของนักออกแบบ

ออกแบบ : Hiren Patel Architects
ภาพถ่ายVinay Panjwani
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

ศาลากลางน้ำ

ไซต์นี้ตั้งอยู่ในอาเมดาบัด ประเทศอินเดีย จากการสำรวจพบว่ามีต้นสะเดาอยู่รอบๆ  แต่พื้นที่ก็ค่อนข้างโล่ง หากมองจากภาพดูภูมิทัศน์ที่หนาแน่นสวยงามลงตัวหลังงานเสร็จสิ้นในปัจจุบัน ก็แทบจะเดาไม่ออกเลยว่าที่ดินดั้งเดิมหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะ Patel ใช้ความคิดที่เขาสร้างอย่างระมัดระวัง ทั้งในส่วนรอบๆ พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ จังหวะในการจัดตำแหน่งแต่ละอาคาร ไปจนถึงการเติมองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าไปให้บ้านสมบูรณ์แบบ แม้แต่ทะเลสาบก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ไม่ใช่ของเดิมจากธรรมชาติ

บ้านฟาร์มเฮาส์ในอินเดีย

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ศาลานั่งเล่นกลางน้ำ

บ้านต้องเรียกว่าเป็นกลุ่มอาคารหลังคาทรงปั้นหยา ออกแบบเป็นกล่องกระจกที่มีประตูและผนังกระจกสูงจากพื้นจรดเพดาน วางเป็นจุด ๆ แต่ละหลังมีสวนและสะพานหรือทางเดินเชื่อมต่อกัน มองเผินๆ เหมือนศาลาไม้ขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีเขียวกับสระน้ำขนาดใหญ่ มีห้องนอนสี่ห้องสำหรับสมาชิกสามเจเนอเรชัน ห้องพักมีทิวทัศน์ของทะเลสาปส่วนตัว พร้อมวิวของแมกไม้เขียวขจีในทุกที่ที่มองออกไป ประตูบ้านเปิดออกได้กว้างทุกด้านได้รับสายลมและไอเย็นสบายผิวตลอดทั้งวัน ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในรีสอร์ทสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอล มากกว่าบ้าน

ห้องนั่งเล่นในศาลากลางน้ำ

ห้องนั่งเล่นในศาลากลางน้ำ

พื้นที่สาธารณะที่เป็นศาลาแยกเป็นหลัง ๆ มีที่นั่งสำหรับรองรับคนกลุ่มใหญ่ โดยมีช่องว่าขนาดใหญ่เชื่อมต่อพื้นที่กลางแจ้ง ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อการใช้งานพร้อมกัน เพราะครอบครัวมักจะมีแขกมาเยี่ยมเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่บางวันหลานสาวและคุณยายจะมีเพื่อนฝูงกลุ่มใหญ่แวะมาโดยไม่ได้นัดหมาย แขกต่างกลุ่มก็มีความเป็นส่วนตัวขึ้น ไม่ต้องพบปะสังสรรค์หรือใช้พื้นที่เดียวกัน แต่ก็ยังสามารถมองเห็นกันผ่านผนังกระจกได้

ห้องนั่งเล่นในศาลากลางน้ำ
ห้องนอนตกแต่งฝ้าเพดานด้วยไม้

ห้องนอนคงคอนเซ็ปการเปิดวิสัยทัศน์ให้รับความสดชื่นได้ทั่วทุกทิศทาง และเน้นตกแต่งเพดานให้เป็นจุดโฟกัสสายตาด้วยการติดตั้งฝ้าตามแนวหลังคา เพิ่มเส้นสายของไม้เข้าไปให้สวยงาม วิธีการทำฝ้าแบบนี้ช่วยให้รู้สึกถึงพื้นที่ที่สูงโปร่งนอนสบายแต่ไม่รู้สึกว่าเพดานสูงจนเวิ้งว้าง สำหรับห้องนอน (และทุกห้องของบ้าน) ที่ก่อผนังทึบได้รับคำแนะนำให้ใช้กำแพงดินอัด (rammed earth) ซึ่งเหมาะสมกับสภาพอากาศที่ร้อนชื้น พื้น IPS แบบหล่อคอนกรีตเย็นสบายเท้า ทำให้การดูแลรักษาไม่ยาก

ห้องนอนผนังกระจกฝ้าเพดานตกแต่งไม้

ห้องอาบน้ำเปิดโล่งมี skylight

ห้องน้ำทั้งหมดค่อนข้างกว้าง จัดให้มีคอร์ทยาร์ดปลูกต้นไม้สีเขียวที่แสนสดชื่นข้างใน พร้อมฝักบัวอาบน้ำแบบเปิดโล่งให้ร่างกายได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสายลมแสงแดด แต่หากฝนตกหรืออากาศเย็นก็เปลี่ยนมานอนแช่อ่างอาบน้ำอุ่นๆ ข้างใน เท่านี้บ้านก็เป็นพื้นที่ความสุขทุกตารางเมตรที่ไม่ต้องมองหานอกบ้าน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : Rammed Earth หรือผนังดินอัด ในบ้านเราไม่เป็นที่รู้จัก แต่ในประเทศอื่น ๆ อย่างอินเดียหรือจีนจะทราบดีว่าเป็นวัสดุก่อสร้างที่ถูกใช้ในการก่อสร้างมาตั้งแต่โบราณ มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 1,000 ปี สิ่งก่อสร้างแรก ๆ ที่พบคือกำแพงเมือง ผนังดินอัดเกิดจากส่วนผสม 3 ส่วนด้วยกัน คือดิน ซีเมนต์ และน้ำ ผสมจนได้เนื้อดินที่ข้น จากนั้นก็นำไปเทลงบล็อกที่สร้างไว้ให้แข็งตัว ก่อนจะใช้เครื่องอัดกระทุ้งให้เนื้อดินแน่นสนิทด้วยแรงความดันสูงสุด ทำให้มีคุณสมบัติค่อนข้างแข็งแรง ดินจะมีการดูดซับความชื้นและคลายออก จึงเหมือนเป็นผนังหายใจได้ ในบ้านเรามีใช้ในโปรเจ็คใหญ่ๆ  ที่ต้องการเอกลักษณ์ เช่น อาคารรัฐสภาใหม่ เป็นต้น

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด