เมนู

บ้านหน้าแคบ ผนังรับลมและกันแมลงไปพร้อมกัน

สร้างบ้านหน้าแคบ

บ้านตึกสามชั้นหน้าแคบลึก

บ้านหน้าแคบสูงหลังนี้เป็นของครอบครัวของ 3 รุ่น (ปู่ย่าตายายอาศัยอยู่กับลูก ๆ และหลาน) ในประเทศเวียดนาม โจทย์ของผู้อยู่อาศัย คือ ต้องการบ้านที่มีช่องลมเพียงพอเพื่อใช้ประโยชน์จากการไหลของอากาศ ทำให้บ้านเย็นสบายไม่อึดอัด และอีกจุดที่สำคัยคือต้องหลีกเลี่ยงแมลงที่รบกวนอยู่เต็มบริเวณ ด้วยที่ตั้งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ทำให้ในสภาพแวดล้อมมีแมลงหลากหลายชนิด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวันของผู้คนจนต้องอาศัยอยู่ในมุ้ง ความท้าทายนี้สร้างโอกาสให้สถาปนิกในการออกแบบสถานที่ที่ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรอบและไลฟ์สไตล์ไปพร้อม ๆ กัน

ออกแบบG+Architects
ภาพถ่ายGuangdam
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านตึกหน้าแคบ

บ้านพื้นที่ 43 ตารางวาสูงสามชั้น เป็นอาคารหน้าค่อนข้างแคบ ซึ่งเป็นรูปลักษณ์บ้านที่เราจะพบกันได้มากขึ้นในเวียดนาม และตามเมืองใหญ่ที่ต้องแบ่งซอยพื้นที่ให้เล็กลง ในอนาคตอาคารนี้อาจจะมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ขนาบทั้งสองข้าง ทำให้แสงและลมเข้าสู่อาคารจากด้านข้างได้น้อยลง ดังนั้นการจัดตำแหน่งและขนาดช่องแสงและช่องลมในบ้านจึงสำคัญมากทั้งภายนอกภายใน และสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การจัดการเรื่องแมลงซึ่งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญในโซนนี้


ผนังอิฐช่องลม

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ฟาซาดอิฐช่องลม

ด้านหน้าของบ้านจะเห็นภาพรวมของอาคารรูปแบบสี่เหลี่ยมตรงไปตรงมา แต่ละชั้นจะมีคานคอนกรีตหล่อแนวขวางยื่นออกมาเป็นกันสาดพร้อมฟังก์ชั่นกันฝนและแสงแดดแบบง่าย ๆ เข้ากันได้กับสไตล์โมเดิร์น สำหรับส่วนของฟาซาดบ้านใช้อิฐช่องลมที่เต็มไปด้วยช่องว่างเล็ก ๆ เรียงตัวเต็มพื้นที่ เพื่อให้แสงและลมลอดเข้าสู่ตัวบ้านได้ดี เป็นผนังที่สามารถหายใจได้ และหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าผนังไม่ได้ราบเป็นระนาบเดียวกันแต่เป็นระดับเหมือนขั้นบันได ซึ่งตรงจุดนี้จะสร้างมิติที่น่าสนใจภายในตัวบ้าน ซึ่งเราจะมีภาพให้เห็นชัด ๆ ในส่วนห้องนอน

โถงสูงเหนือมุมทานอาหาร

แนวคิดสำคัญในการออกแบบของสถาปนิกตั้งแต่ต้น คือ ต้องการมอบประสบการณ์การอยู่อาศัยในตึกหลายชั้นที่เต็มไปด้วยแสงและลมภายในบ้าน นักออกแบบจึงนำเสนอช่องทางรับแสงใหม่  ๆ อย่างเช่น การติดช่องแสง skylight รับแสงจากด้านบน พื้นที่ภายในเปิดโล่งทั้งแนวนอนและแนวตั้งของบ้านเป็นต้น สำหรับการเชื่อมต่อพื้นที่แนวนอนทำโดยการจัดพื้นที่แบบ open plan ลดผนังแบ่งห้อง แล้วเรียงฟังก์ชันการใช้งานอย่างมุมนั่งเล่น มุมทานอาหาร ครัวตามแนวลึกของอาคาร ส่วนหลังสุดของชั้นนี้เป็นห้องนอนคุณตา จึงปลอดภัยเพราะไม่ต้องเดินขึ้นลงบันไดหลายชั้น

ชั้นลอยตกแต่งปูนเปลือย

ส่วนการเปิดเชื่อมต่อระนาบแนวตั้งนั้น นักออกแบบเจาะเพดานทำโถงสูง Double space ในหลาย ๆ จุด เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่และใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติและลมให้เดินทางจากชั้นล่างขึ้นบนได้แบบไม่มีอุปสรรค สร้างความรู้สึกโปร่งสบายไม่เหมือนตึกที่ปิดเพดานทึบทั่วไป

เพดานตะแกรงเหล็ก

เพดานเจาะช่องว่างระหว่างชั้น

การตัดพื้นที่ปูทึบออกบางส่วนใส่ตะแกรงเหล็กเข้าไป หรือการเจาะโถงสูง การลดผนังทึบ เป็นการปลดปล่อยพื้นที่ใช้งานให้เป็นอิสระในแนวนอนที่ชั้นล่างขึ้นมาจนถึงชั้นบนสุดซึ่งให้ผลพลอยได้คือ การสร้างความต่อเนื่องของการใช้ชีวิตและการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นผ่านช่องว่างเหล่านี้

เพดานคอนกรีตเจาะช่องแสงวงกลม

ช่องแสงสกายไลท์วงกลม

ด้วยการจัดแปลนพื้นที่บ้านให้โปร่งโล่ง ทำให้ส่วนห้องบูชาพระที่เป็นผนังคอนกรีตสีขาวโค้ง ๆ กลายเป็นจุดเด่นขึ้นมาทันที ตรงจุดนี้มีสิ่งที่ชวนโฟกัสสายตาอีกจุดคือ ช่องแสงสกายไลท์วงกลมที่อยู่เหนือห้องพระ ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแสงในบริเวณกลางอาคารได้เป็นอย่างดี

ผนังเป็นรูปร่างขั้นบันได

ห้องนอนหลักที่อยู่ตรงกับฟาซาดอิฐช่องลม ซึ่งประกอบด้วยช่องว่างเล็ก ๆ เต็มพื้นที่ จึงรับลมเข้ามาสร้างสภาวะสบายในห้องได้เต็มที่ ในขณะที่รับแสงธรรมชาติได้ในปริมาณที่เหมาะสม การสร้างให้มีการลดหลั่นระดับ ทำให้เหมือนมีเวทีเป็นชั้น ๆ สามารถปรับประยุกต์ใช้งานสารพัดประโยชน์ จะนั่งเล่นชมวิวภายนอก หรือวางกระถางปลูกต้นไม้เพิ่มความสดชื่นก็ได้ตามความต้องการ

ฟาซาดอิฐบล็อกเต็มไปด้วยช่องว่าง

สำหรับช่องว่างในบ้านเหล่านี้นักออกแบบจะใส่มุ้งลวดเอาไว้ด้านในอีกชั้น เพื่อป้องกันแมลงบินลอดเข้ามารบกวนการใช้ชีวิตในบ้าน และยังมีประตูกระจกกั้นอีกชั้นหนึ่ง ให้มีปราการกันลมและแสงอีกชั้นในวันที่อากาศด้านนอกค่อนข้างรุนแรง ทุกองค์ประกอบของบ้านแสดงแนวคิดใหม่ในการสร้างสถาปัตยกรรมตามบริบทท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

บ้านตึกหน้าแคบ

สำหรับผนังหายใจได้นั้น หลายคนอาจจะงงว่าผนังเป็นสิ่งไม่มีชีวิตแล้วจะหายใจได้อย่างไร คำตอบคือบ้านก็ย่อมเหมือนกันกับคน ที่หากไม่มีช่องทางให้ระบายอากาศก็จะมีแต่อากาศเก่าไม่ถ่ายเท ทำให้บ้านทึบ ร้อน อับชื้น อยู่ไม่สบาย โดยเฉพาะบ้านเขตร้อนอย่างเรา ๆ นักออกแบบจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบช่องเปิดมาก ๆ อาจจะทำเป็นประตูหน้าต่างขนาดใหญ่ไปเลยหรือใช้วัสดุที่มีช่องว่างอย่างอิฐ บล็อกช่องลม ไม้ระแนงมาทำเป็นฟาซาดบ้านก็ได้

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  ในการตกแต่งบ้านด้วยคอนกรีต แม้จะเป็นวัสดุที่ง่าย ๆ แต่ก็มีน้ำหนักมาก ควรจะคำนวณน้ำหนักในจุดที่จะต่อเติมให้ดี เพราะถ้าน้ำหนักมากเกินที่พื้นจะรับได้อาจจะทรุดได้ในภายหลัง อีกจุดหนึ่งที่พึงระวังคือการใช้เคาน์เตอร์ครัวจากคอนกรีตหรือปูนเปลือยที่มีบานปิดอาจจะเกิดกลิ่นอับหรือความชื้นจนขึ้นราได้ จึงควรมีช่องทางระบายอากาศลดความชื้นและทาน้ำยาเคลือบป้องกันการดูดซึมน้ำและความชื้น ซึ่งเป็นที่มาของเชื้อรา ตะไคร่น้ำ และช่วยให้การทำความสะอาดได้ง่ายดขึ้น น้ำยาเคลือบผิวที่ว่านี้ก็มีหลากหลายทั้งแบบด้าน กึ่งเงากึ่งด้าน และแบบเงา เลือกใช้ได้ตามความต้องการ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด