เมนู

12 งานสถาปัตย์ที่พ่อ ให้แนวคิดในการออกแบบ

พระอัจฉริยภาพ ในรัชกาลที่ 9

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎร การริเริ่มโครงการเพื่อประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา ศาสนา การเกษตร แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งประการที่พระองค์ทรงทำเพื่อชาติบ้านเมืองนั้นคือ “งานช่าง” หรืองานด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบ ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ เนื่องจากงานสถาปัตยกรรมเหล่านี้ถือเป็นมรดกสำคัญของชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญของชาติและจิตใจของคนไทย และยังจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับโครงการสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ โดยทรงสนับสนุน และพระราชทานแนวคิดเพิ่มเติมในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและงานออกแบบหลายโครงการ ดังต่อไปนี้

 1. พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร สถาปนิก  ประเวศ ลิมปรังษี  ที่ตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา

Wat Sothonwararam Worawihan-01

thai.tourismthailand.org

การออกแบบพระอุโบสถนั้น ผู้ออกแบบได้เน้นการประยุกต์รูปแบบที่ไม่อิงตามแบบแผนของเขตพุทธาวาสทั่วไป โดยการรวมพระอุโบสถเข้ากับพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ให้เป็นหลังเดียวกัน ซึ่งเป็นสถาปัตนกรรมแนวใหม่ยุครัชกาลที่ 9 และมีคุณลักษณะต้องตามพระราชดำริ คือ ให้เป็นอาคารที่สมเกียรติกับหลวงพ่อพุทธโสธร มีความสง่างาม มีคุณค่าทางศิลปกรรม เหมาะสมที่จะเป็นพุทธสถาน เป็นถาวรวัตถุคู่บ้านคู่เมือง

2.พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี สถาปนิก ประเวศ ลิมปรังษี ที่ตั้ง กรุงเทพมหานคร

พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี www.flickr.com

ในการออกแบบพระเมรุมาศองค์นี้ อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี สถาปนิกผู้ถวายงาน ได้นำแนวคิดด่านรูปร่าง แบบ และชั้นเชิงของพระเมรุมาศองค์กลาง ของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบ พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  แต่ได้ประพันธ์ลวดลายและการตกแต่งรายละเอียดขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยคำนึงถึงพระราชจริยวัตรในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่สง่างาม นุ่มนวล อีกทั้งแบบที่ใช้ได้เน้นการตกแต่งด้วยสีสันสวยงาม ตามแบบอย่างพระเมรุสี ที่มีความอ่อนช้อยอย่างสตรี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแนวพระราชดำริเพิ่มเติม ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติยราชประเพณีและสมพระเกียรติพระบรมศพ อีกประการหนึ่งฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนัก จะเป็นการลำบากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งเจริญพระชนมายุมากพระพรรษาด้วยกันหลายพระองค์ แสดงให้เห็นถึงการที่ทรงเข้าพระทัยในการออกแบบประโยชน์ใช้สอยให้เหมาะสมต่อผู้ใช้งานด้วย

3.พระมหาธาตุ เฉลิมราชศรัทธา สถาปนิก วนิดา พึ่งสุนทร  ที่ตั้ง รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย

พระมหาธาตุ เฉลิมราชศรัทธา thai-arch.su.ac.th

พระมหาเจดีย์องค์นี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมผสมผสาน ลักษณะเด่นของศิลปสถาปัตยกรรมไทย นับแต่สมัยสุโขทัยลงมาจวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งประกอบด้วยการใช้บัวฝาละมีซ้อนสามชั้นเป็นส่วนรับเรือนธาตุ อันเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยสุโขทัย  การใช้เรือนธาตุแบบระฆังคว่ำ มีแนวบัวรอบปากระฆัง ซึ่งพบมากในสมัยอยุธยา และการใช้ปลียอดเป็นแบบบัวกลุ่มซ้อนชั้น อันเป็นลักษณะเด่นของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนปลายยอดเป็นฉัตรโลหะหล่อ 9 ชั้น ล้อมด้วยเจดีย์ขนาดเล็กบนมุขหลังคาซุ้มพระ 8 ยอด รวมเป็นพระเจดีย์เก้ายอด องค์ระฆังของเจดีย์ทั้งเก้ายอดประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งหมด

4.พระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก สถาปนิก พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น  ที่ตั้ง กรุงเทพมหานคร

พระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก mapio.net

สถาปนิกผู้ถวายงานน้อมรับแนวพระราชดำริ มาดำเนินการออกแบบพระอุโบสถ โดยเน้นประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารอย่างคุ้มค่า รูปแบบการศึกษาศิลปกรรมเป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยได้ต้นเค้าจากสถาปัตยกรรมรูปทรงปูนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชี้ให้เห็นถึงพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ จากเดิมที่ออกแบบให้ภายในพระอุโบสถจุคนได้ 100 คนเศษ ทรงให้ลดเหลือเพียง 30-40 คน ลดงบประมาณจากที่ตั้งไว้เดิม 57 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท พระอุโบสถเรียบง่ายเช่นนี้ ยังเป็นตัวอย่างของวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย

วัดแห่งนี้เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของในหลวงที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาพระองค์ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกเพื่อเป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ

5.การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน ที่ตั้ง กรุงเทพมหานคร

การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน www.pantae.com

พระพุทธรัตนสถาน เป็นอาคารชั้นเดียว ยกพื้นสูง แบ่งเป็น 3 ระดับ หลังคาทรงไทย มีมุขลดทั้งทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ผนังประดับด้วยหินอ่อนสีเทา ภายในประดับภาพจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร ได้รับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในการดำเนินการอนุรักษ์และเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นผนังระหว่างช่องพระบัญชรทั้ง 8 ผนัง ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา

สำหรับแนวทางในการเขียนภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยึดความสำคัญของพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพ เป็นภาพที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานและพระราชกรณียกิจในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

“ จิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถานนั้น เนื้อเรื่องมิได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งคติช่างไทยแต่โบราณจะกำหนดภาพเขียนให้มีความสัมพันธ์กับประวัติและความสำคัญของอาคาร แนวศิลปกรรมและการใช้สีขัดแย้งกับภาพจิตรกรรมตอนบนที่เขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ อันเป็นการเขียนภาพแบบไทยประเพณี สมควรรักษาแนวคิดของช่างโบราณ..ขอให้รักษาลักษณะศิลปะอย่างกระบวนการช่างแต่โบราณ ยึดความถูกต้องตามข้อมูลที่เป็นจริง และไม่ควรสร้างสิ่งผิดให้ปรากฏ”

หากมีการปรับเปลี่ยนงานจิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับภาพตอนบน ก็จะเป็นการถูกต้อง ถือเป็นการเชิดชูงานศิลปกรรมของภูมิปัญญาบรรพชน

6.พระอุโบสถวัดพุทธประทีป สถาปนิก ประเวศ ลิมปรังษี ที่ตั้ง กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

วัดพุทธประทีป ลอนดอน artbangkok.com

การออกแบบพระอุโบสถวัดพุทธประทีป ผู้ออกแบบได้เน้นการประยุกต์รูปแบบและระบบการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมกับสภาพที่ตั้งและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศของประเทศอังกฤษที่มีความหนาวเย็น โดยใช้ผังพื้นรูปแบบโบสถ์ฝรั่ง และดัดแปลงหลังคาบางส่วนให้มีศิลปะแบบวัดไทย  หน้าต่างออกแบบโดยการใช้รูปแบบวิมานเพื่อขยายพื้นที่รับแสง เชิงชายประยุกต์ทำเป็นรางน้ำ โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนลวดลายประดับอาคารหล่อด้วยซีเมนต์ผสมใยหิน

7. ศาลหลักเมือง สถาปนิก พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น  ที่ตั้ง กรุงเทพมหานคร

panoramio www.panoramio.com

ศาลหลักเมืองหลังใหม่นี้ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบยุคสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าววคือ เป็นอาคารเครื่องปูน ทรงยอดปรางค์ มีมุขยื่นทั้ง 4 ด้าน แต่ละด้านมีหลังคาซ้อน 2 ชั้น และมัมุขลดอีกด้านละ 1 ชั้น มีหลังคากันสาดโดยรอบ เครื่องมุงประดับกระเบื้องเคลือบ ลักษณะศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากวัดเฉลิมพระเกียรติ โดยมีช่อฟ้าเป็นแบบนกเจ่า ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่เป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4  ส่วนใบระกานั้นทำเป็นลายช่อหางโตแทนลายใบเทศ หน้าบันเป็นรูปดอกพุดตานประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ พื้นลายสีเหลือง ตัวดอกและช่อลายสลับสี โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังบุหินอ่อน มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ยกพื้นโดยรอบ บุด้วยหินอ่อนและมีพนักระเบียงหินอ่อนโดยรอบ มุขพักระเบียงประดับเสาหัวเม็ดทำด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกัน

8. อาคารประดิษฐานพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สถาปนิก วนิดา พึ่งสุนทร ที่ตั้ง รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย

อาคารประดิษฐานพระบรมรูป พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช thai-arch.su.ac.th

แบบทางสถาปัตยกรรมได้ถูกร่างให้สอดคล้องกับความสูงของพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเพื่อความสง่างาม โดยมีการผสมผสานศิลปสถาปัตยกรรมของไทยและอินเดียเข้าด้วยกัน ผังอาคารเป็นผังพื้นแปดเหลี่ยมรับกับฐานภายใน ซึ่งรองรับองค์พระบรมรูปบรอนซ์ทอง ประทับยืนฉลองพระองค์ด้วยชุดกองทัพไทย ขนาดสูง 2.30 เมตร การตกแต่งอาคารภายในวาดภาพจิตรกรรมภายใต้โดมกลีบมะเฟืองหินอ่อนเป็นภาพฉัตรเก้าชั้น มีพระปรมาภิไธยย่อ ลอยเด่นอยู่เหนือฉัตร

9. ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สถาปนิก ประเวศ ลิมปรังษี  ที่ตั้ง จ.หนองบัวลำภู

ศาลสมเด็จพระนเรศวร หนองบัวลำภู

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอาคารที่มีลักษณะคล้ายหอพระ หรือ ศาลที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีรูปแบบเป็นสถาปัตกรรมไทย ตัวศาลเป็นอาคารไม้ทรงไทย ผู้ออกแบบได้ออกแบบตกแต่งอาคารอย่างมีความหมาย โดยใช้รูปแบบของเครื่องศาสตราวุธและเครื่องทรงที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการศึกครั้งสำคัญเป็นองค์ประกอบหลักในการตกแต่งหน้าบัน เป็นรูปพระแสงของ้าวไขว้กับพระแสงดาบคาบค่าย

เหนือขึ้นไปเป็นรูปพระมาลาเบี่ยง ประดับตกแต่งปิดทองลายเพดานและดาวเพดานภายในศาลและเพดานปีกนก ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประทับยืนขนาดเท่าองค์จริง

10.อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ในเขตคลองสาน กรุงเทพฯ สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ที่จะให้อนุรักษ์อาคารเก่าซึ่งมีลักษณะและที่ตั้งใกล้เคียง “บ้าน” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้อนุรักษ์ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชน

ภายในอุทยานฯ ยังมีพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติซึ่งให้ความรู้และบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จย่าตั้งแต่ปฐมวัยและยังเป็นสามัญชนอาศัยอยู่ในย่านวัดอนงคาราม ก่อนจะเลื่อนฐานันดรศักดิ์มาเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ รวมทั้งจัดแสดงพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่าอีกด้วย

11. หอสมุดดนตรีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 www.finearts.go.th

สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คณะนักดนตรี วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างหอสมุดดนตรีฯ ขึ้น โดยก่อสร้างอาคารเชื่อมกับอาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ขยายออกไปทางทิศตะวันตก เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเพลงพระราชนิพนธ์และพระราชกรณียกิจด้านดนตรี ตลอดจนรวบรวมแผ่นเสียงแถบบันทึกเสียง แผ่นซีดี วีดิทัศน์ รวมทั้งสื่อโสตทัศนูปกรณ์ อื่นๆ และโน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ที่สมบูรณ์ ทั้งยังเป็นห้องจัดแสดงและบรรเลงดนตรีอีกด้วย

12. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

เรือพระที่นั่ง นารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 www.taklong.com

เป็นเรือพระที่นั่งจัดสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน มีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งนำต้นแบบมาจากเรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 โดยเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นี้ กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีในปีกาญจนาภิเษก ที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญาเทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พื้นเรือสีแดงชาด น้ำหนัก 20 ตัน กว้าง 3.20 เมตร ยาว 44.30 เมตร ลึก 1.10 เมตร ฝีพายจำนวน 50 นาย นายท้าย 2 นาย

อ้างอิงข้อมูล : www.manager.co.th

http://credit-n.ru/kreditnye-karty-blog-single.html http://www.tb-credit.ru/get.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ข่าว กิจกรรม


โพสต์ล่าสุด