เมนู

ธ ผู้ทรงสร้างสรรค์ ทรงงานช่างและงานศิลป์

องค์อัครศิลปิน ทรงงานศิลป์และงานช่าง

“งานช่าง” เป็นพระราชกรณียกิจอีกด้านหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความสนพระราชหฤทัยยิ่งตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ผลงานด้านงานช่างและงานศิลปะฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดพระชนม์ชีพ จึงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการถ่ายภาพ งานจิตรกรรม ประติมากรรม การออกแบบและสร้างเรือใบ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

ทรงโปรดงานช่าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาวิชาช่างไม้มาตั้งแต่ทรงเรียนหนังสืออยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงโปรดการเลื่อยไม้และไสกบ และได้ออกแบบและประดิษฐ์เรือใบจำนวนทั้งหมดถึง 7 ลำ เป็นเรือใบประเภท ม็อธ (Moth)  3 รุ่น คือ “เรือใบมด” “เรือใบซูเปอร์มด” และ “เรือใบไมโครมด” โดยทรงออกแบบให้เหมาะกับสรีระของคนไทย มีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย เก็บรักษาง่าย ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้เรือใบทั้ง 3 แล่นได้เร็ว ว่องไว

ทรงงานช่างไม้

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” ว่า

 “พระอนุชาได้เริ่มทำแบบเรือต่างๆ ด้วยไม้ เช่น แบบเรือรบที่ไม่มีขาย ในระยะนั้นกำลังทำเรือใบที่ใหญ่พอสมควร ใบก็เย็บเองด้วยจักรเสร็จแล้ว เหลือแต่การทาสี เมื่อเริ่มไปแล้ว ก็พอดีเป็นเวลาที่กำลังจะตัดสินว่าจะอพยพออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่าว่า ทุกคนก็ถามอย่างล้อๆ ว่า เรือจะแห้งทันไหม”

ทรงงานช่าง

เรือไมโครมด

สนพระทัยในการถ่ายภาพ

ภาพที่ประชาชนคุ้นตาคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มักห้อยกล้องที่พระศออยู่เสมอ ทรงสืบทอดความรักในการถ่ายภาพมาจากพระบรมราชชนนี เนื่องเพราะ “สมเด็จย่า” ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์มือสมัครเล่นและมีกล้องส่วนตัว จึงสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์มีกล้องส่วนพระองค์ตัวแรก ตั้งแต่พระชนมมายุเพียง 8 พระชันษาชื่อว่า Coronet รุ่น Midget ซึ่งเป็นกล้องฟิล์มที่ไม่มีระบบอัตโนมัติ ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนสามารถใช้กล้องได้อย่างชำนาญ

ภาพติโตแมวทรงเลี้ยง

ภาพฝีพระหัตถ์ติโตแมวทรงเลี้ยงเมื่อประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ทรงโปรดถ่ายทั้งภาพบุคคล ภาพทิวทัศน์ ภาพสัตว์ และภาพเหตุการณ์ แต่ละภาพล้วนมีความงดงามและคุณค่าในเชิงศิลปะ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์เคยปรากฏบนปกนิตยสาร เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระองค์เคยมีพระราชดำรัสอย่างพระอารมณ์ขันว่า

ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็เห็นเขายังไม่ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายไว้เดือนละ 100 บาทอยู่เรื่อยมา”


พระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากฝีพระหัตถ์

พระองค์ทรงโปรดที่จะถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา นอกจากถ่ายภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์ม การอัด ขยายภาพ ทั้งภาพขาวดำหรือภาพสี โดยทรงจัดทำห้องมืดขึ้นในบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. สำหรับล้างฟิล์มและขยายภาพสี โดยใช้เครื่องล้างและเครื่องขยายภาพสีอัตโนมัติ แบบที่ใช้ในห้องปฏิบัติการมาตรฐานทั่วไปด้วยพระองค์เอง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ขณะตามเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ขณะตามเสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

สถานีอวกาศ-Vandenberg-ที่สหรัฐฯ

สถานีอวกาศ-Vandenberg-ที่สหรัฐฯ

เด็กชาวบ้านสองคนริมทาง-หัวหิน

ภาพฝีพระหัตถ์เด็กชาวบ้านสองคนริมทาง-หัวหิน

ภาพฝีพระหัตถ์

นอกจากภาพบุคคล ภาพวิวทั่วไปแล้ว พระองค์ยังเก็บภาพภูมิประเทศ ฝาย เขื่อน เหตุการณ์สำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ดังพระราชดำรัสในหลวง ร. 9 ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยว่า

“การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนาน  หรือความสวยงามเท่านั้น  จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม  งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง” 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานคำนำไว้ในหนังสือ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระเจ้าอยู่หัว” มีความตอนหนึ่งว่า

“….ในด้านพัฒนา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ภูมิประเทศ บริเวณที่น่าสนใจ พื้นที่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ บริเวณหมู่บ้าน เส้นทางคมนาคม ทั้งที่ถ่ายจากพื้นราบ และถ่ายขณะประทับอยู่ในเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ ภาพเหล่านี้สามารถใช้ประกอบพระราชดำริในการพัฒนาได้  เมื่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว บางทีก็ทรงถ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกับผลงานของเขาเอาไว้ด้วย”

พระปรีชาด้านจิตรกรรมและประติมากรรม

ภาพฝีพระหัตถ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระทัยด้านจิตรกรรมไม่แพ้งานศิลปะด้านอื่น ๆ ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แรกเริ่มทรงฝึกเขียนภาพจากตำราที่ทรงซื้อและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อสนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินท่านใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม และทอดพระเนตรวิธีการทำงาน การใช้สี เทคนิคต่าง ๆ จนเข้าพระราชหฤทัย และทรงฝึกฝนด้วยพระวิริยอุตสาหะ จนกระทั่งทรงพระปรีชาสามารถในการสร้างงานศิลปะตามที่ทรงได้ศึกษาจากศิลปินแต่ละท่าน

ภาพวาดฝีพระหัตถ์

เมื่อทรงจรดปลายพระพู่กันพระองค์มักจะมีรับสั่งถามเพียงสั้นๆต่อบรรดาศิลปินใหญ่ว่า “พอไปได้ไหม” ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์เองว่า ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือทรงวาดตามพระราชหฤทัยจะนึกวาด มิได้ทรงคำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ฉะนั้นภาพเขียนฝีพระหัตถ์แต่ละชิ้นจึงแสดงให้เห็นลักษณะที่เป็นอิสระเฉพาะตัว สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพแห่งพระองค์เป็นอย่างดี

เทคนิคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มากในการเขียนภาพคือ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพเขียนเหมือนจริง (Realistic) ที่ทรงเขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ นอกจากภาพดังกล่าวแล้ว พระองค์ท่านยังทรงเขียนภาพบุคคลอื่นๆ และภาพในสไตล์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ (Expressionism)  ภาพแบบนามธรรม (Abstractionism)

ภาพวาดฝีพระหัตถ์

ชื่อภาพ : ไปตลาด

ประติมากรรมฝีพระหัตถ์ 

งานประติมากรรมเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร. 9 มีความสนพระราชหฤทัยยิ่ง พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการการปั้น การหล่อ และการทำแม่พิมพ์

นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรมนี้ ได้เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงกระบวนการและขั้นตอนของงานทางด้านนี้เป็นอย่างดี โดยทรงศึกษาจากหนังสือทางด้านศิลปะและทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง

งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ที่เป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เก็บรักษาไว้ในตู้บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต มี 2 ชิ้นงาน ได้แก่

•  รูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน
•  พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน
ต่อมาอาจารย์ไพฑูรย์ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำแม่พิมพ์หล่อเป็นปูนปลาสเตอร์

http://credit-n.ru/offers-zaim/vivus-potrebitelskie-zaymy-online.html http://www.tb-credit.ru/zaimy-na-kartu.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ข่าว กิจกรรม


โพสต์ล่าสุด