เมนู

Artisans Ayutthaya อาคารบล็อกแก้ว ตำนานที่มีลมหายใจ

ผนังบล็อกแก้ว

สถาปัตยกรรมจากบล็อกแก้ว

The Artisans Ayutthaya เป็นชื่อสถาปัตยกรรมแปลกตาที่มีนิยามว่า “ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นเสมือนคัมภีร์…ที่ยังมีลมหายใจ” Project นี้ออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio ที่มีความถนัดในการหยิบจับวัสดุที่เรียบง่ายอย่างอิฐ บล็อกแก้ว ไม้ และโครงเหล็กมาเป็นองค์ประกอบหลักในงานก่อสร้าง สร้างเรื่องราวใหม่ ๆ ไปพร้อมกับการนำเสนอให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางนำเสนอวิถีชุมชนและภูมิปัญญาของชาวอยุธยาดั้งเดิม ถ่ายทอดเคล็ดลับความอร่อยแบบไม่หวงผ่านสำรับอาหารที่ปรุงรสด้วยฝีมือแม่ครัวผู้สืบทอดสูตรอาหารต้นตำรับโบราณ ให้ผู้มาเยือนดื่มด่ำกับประสบการณ์ในการทานอาหารด้วยความอิ่มเอม ในขณะที่สายตาก็ชื่นชมอาคารที่เต็มไปด้วยมุมมองใหม่ ๆ ไม่เหมือนใคร

ออกแบบ : Bangkok Project Studio
ภาพถ่าย : Spaceshift Studio
เนื้อหาบ้านไอเดีย

คอร์ทยาร์ดรูปสามเหลี่ยม

ดิ อารทิซานส์ อยุธยา ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.บ้านรุน จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณ “ท้ายบ้านรุน” ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สถาปนิกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า ” ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นสตรีที่ยังโสดหรือเป็นหม้าย มีกิจกรรมประจำวันคือการตื่นมาทำอาหารถวายพระที่วัดในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งเป็นวัดเล็ก ๆ ที่ทรุดโทรม ชาวบ้านจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหารายได้ซ่อมแซมวัด แต่ละคนทำอาหารพิเศษสองสามอย่างบรรจุอาหารในถุงเล็กๆ ขายเป็นชุดใส่บาตรและแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ หลังจากนั้นจึงมีการเชิญชวนผู้สูงวัยที่รู้สูตรอาหารไทยโบราณมาทำงานเป็นแม่ครัวและที่ปรึกษาของ “อาร์ทิซานส์”

คอร์ทยาร์ดรูปสามเหลี่ยม

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

อาคารผนังบล็อกแก้ว

ภาพรวมของโครงการออกแบบให้เป็นกลุ่มอาคารทั้งชั้นเดียวและสองชั้น ทำจากบล็อกแก้วสลับกับโครงไม้ รูปร่างอาคารสามเหลี่ยมห้าชิ้นกระจายตัวอยู่อย่างเป็นจังหวะ มีระเบียงทางเดินรอบ ๆ อาคารในชั้นล่างและสะพานเชื่อมระหว่างอาคาร นักออกแบบตั้งใจที่จะไม่เลือกใช้วัสดุหรูหราราคาแพงเป็นองค์ประกอบหลัก แต่กลับใช้วัสดุที่ผู้คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าอย่าง ชิ้นส่วนรถสิบล้อและบล็อกแก้วที่เรามักคุ้นชินกับการนำไปตกแต่งห้องน้ำ เป็นบล็อกแก้วที่ค้างสต็อกเพราะลวดลายที่ดึงดูดใจน้อย นำมาตีความสร้างคุณค่าใหม่ที่ควรค่าแก่การดูอีกครั้ง “ผมเพิ่มมูลค่าให้กับบล็อกเหล่านี้โดยการปูด้วยโครงไม้เพื่อให้สีของไม้สะท้อนเข้าไปในบล็อก” สถาปนิกกล่าว

มุมมองหลังคา bird eyes view

อาคารผนังบล็อกแก้ว

สถาปนิกอธบายเกี่ยวกับการก่อสร้างเพิ่มเติมว่า “เราพบว่าวิธีการก่อสร้างและวัสดุที่ใช้สำหรับอาคารทั้งห้านี้ท้าทายมากทั้งสำหรับสถาปนิกเองและผู้สร้าง เพราะมันแตกต่างจากการสร้างผนังบล็อกแก้วโดยทั่วไป ในโครงการนี้ เราใช้เหล็กเป็นตัสเชื่อมแทนปูนและทำกรอบไม้ครอบเอาไว้ เมื่อพูดถึงช่างก่อสร้าง พวกเขาไม่ใช่ช่างฝีมือ แต่เป็นคนงานในท้องถิ่นธรรมดาที่เรียนรู้วิธีการก่อสร้างที่เราพัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงระดับทักษะของพวกเขาด้วย”  เรื่องราวของวิธีการก่อสร้างและการใช้วัสดุ ยิ่งทำให้ตัวอาคารมีความน่าสนใจและทำให้ The Artisans อยุธยามีชีวิตชีวาน่าตื่นตาตื่นใจ

ผนังชนมุมสามเหลี่ยม

ผนังบล็อกแก้วที่เรียงสลับหว่างและใส่กรอบไม้สีน้ำตาล ทำให้สีของไม้สะท้อนไปที่บล็อกมองจากไกลๆเหมือนอิฐก้อนใหญ่ที่เรียงโชว์แนวอยู่

ระเบียงทางเดินระหว่างอาคารบนชั้น 2

อาคารรูปสามเหลี่ยมมุมฉากห้าหลังที่สร้างจากบล็อกแก้วและล้อมรอบด้วยไม้นี้ มีเส้นรอบรูปอาคารของแต่ละอาคารประมาณ 8 x 8 x 11.31  เมตร พื้นที่รวมของอาคารห้าหลัง (พื้นที่สองชั้นรวมทางเดิน) คือ 310 ตร.ม. ทางเดินรอบโครงการรวมทั้งบริเวณแผนกต้อนรับและระเบียงริมน้ำ คิดเป็นพื้นที่ 640 ตร.ม. พื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 950 ตร.ม. จึงมีพื้นที่ให้เดินชมทั้งอาคารและทัศนียภาพพอสมควร ประกอบกับบริบทรอบ ๆ ยังคงมีความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ ทำให้การเข้ามาเยือนที่นี่ได้ครบทุกประสาทสัมผัส

เคาน์เตอร์ร้าน

สะพานเชื่อมระหว่างอาคาร

ผนังบล็อกแก้ว

ในตอนกลางวันบล็อกเหล่านี้จะดูใสสว่างและยอมให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้บ้าง เห็นวิวภายนอกเป็นเงาลาง ๆ ต่างสีสันบนผนังเหมือนเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ ไม่เพียงแต่ใช้บล็อกแก้ว ไม้ เหล็ก เท่านั้นนนักออกแบบยังนำวัสดุอื่น ๆ มาใช้ในรายละเอียดอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้แผ่นพีวีซีใสแทนแผงประตูขนาดยักษ์และแผ่นกระจก เพื่อลดน้ำหนักและงบประมาณในการก่อสร้าง โดยใช้สลิงขึงข้ามประตูและหน้าต่างเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ทนต่อแรงลม นอกจากนี้บานพับประตูและหน้าต่างยังนำมาจากบานพับของประตูรถบรรทุกสิบล้อ แล้วปรับให้รับน้ำหนักของประตูและหน้าต่างบานใหญ่ได้ด้วย

ผนังชนมุมเป็นสามเหลี่ยม

อาคารผนังบล็อกแก้ว

กลุ่มผู้หญิงที่เข้ามาร่วมงานจะมีอายุ 55-94 ปี แม้ปรุงอาหารอร่อยมากแต่ไม่เคยเรียกตัวเองว่า “เชฟ” ใช้เวลาว่างจับมือกันทำอาหารเพื่อรังสรรค์อาหารท้องถิ่นสำหรับผู้มาเยือน และหวังว่าพวกเขาจะกลับมาอีกเหมือนลูกๆ หลานๆ ที่แวะกลับมาอาหารของแม่  ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายอาหารที่นี่จะจัดสรรให้กับการปรับปรุงวัดอย่างที่ตั้งใจ นอกเหนือจากอาหารท้องถิ่นแล้ว ที่นี่ยังปั้นจาน ชาม ถ้วยดินเผาเองอย่างประณีตทีละชิ้น นี่คือเหตุผลที่โครงการเรียกตัวเองว่า “The Artisans Ayutthaya” เพราะคนกลุ่มคือลูกหลานของชาวอยุธยาที่มุ่งมั่นอนุรักษ์อาหารและงานหัตถกรรมของบ้านเกิด

ผนังบล็อกแก้วแสงไฟสวยๆ

จัดแสงไฟสวยๆ ทั้งนอกและในอาคาร

อาคารบล็อกแก้วเหล่านี้ที่เรืองแสงในตอนกลางวัน ดูสว่างไสวโชติช่วงในตอนกลางคืน ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นโคมไฟที่ลุกโชนอยู่เสมอ บ่งบอกว่าผู้คนที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ส่วนรวมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้และจะคงอยู่ไม่หายไปพร้อมกับพวกเขา

บรรยากาศอาคารยามค่ำ

แปลนอาคาร

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด