เมนู

สั้น ๆ หลบไป นาทีนี้ต้องบ้านชายคายาวที่ตอบโจทย์

บ้านหลังคาใหญ่

บ้านโมเดิร์นชายคายาว

บ้านในญี่ปุ่นที่เห็นสวย ๆ แบบโมเดิร์นสไตล์นั้น ในรายละเอียดกลับซ่อนสิ่งที่ต้องตอบโจทย์งานสถาปัตยกรรมในสภาวะพิเศษที่กำหนด โดยเฉพาะในบางโซนของประเทศที่จำเป็นต้องมีทั้ง “แรงต้านแผ่นดินไหวสูง” ในขณะที่บ้านหลังนี้ยังต้องใส่ “พื้นที่เปิดโล่ง” ตามคำขอของเจ้าของ และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบของถนนส่วนตัว  (ถนนด้านหน้าเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล) พร้อมกับวางแผนให้พื้นที่ที่ภายในและภายนอกต่อเนื่องกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งสถาปนิกทำข้อสอบที่ยุ่งยากนี้ออกมาเป็นคำตอบง่ายๆ อย่างคาดไม่ถึง

ออกแบบTatsuya Kawamoto
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านญี่ปุ่นหลังคาใหญ่เจาะช่องให้ต้นไม้โต

บ้านหลังนี้มีพื้นที่ 141.21 ตารางเมตร สร้างอยู่ใน Ichinomiya Aichi ประเทศญี่ปุ่น ที่นี่สถาปนิกตั้งเป้าที่จะได้พื้นที่ว่างสูงสุดพร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านทานความรุนแรงของแผ่นดินไหว บ้านจึงออกมามีโครงสร้างที่เรียบง่ายและชัดเจน ลักษณะหลังคาจั่วองศาลาดเอียงสูงขนาดใหญ่สองด้าน ถนนด้านหน้าเชื่อมต่อเฉลียงและหน้าบ้านที่เปิดออกได้กว้างเชื่อมต่อภายในภายนอกอย่างต่อเนื่องลื่นไหล

ภาพโมเดลบ้านที่แสดงให้เห็นลักษณะโครงสร้างภายในหลักของบ้าน ที่เป็นตัว U คว่ำเหมือนช่องประตูความกว้าง 8 เมตร เรียงไล่ระดับจากต่ำทั้งสองด้านไปขึ้นไปสูงที่สุดตรงกลาง เป็นกรอบต้านแรงแผ่นดินไหวที่สมดุลและสร้างช่องเปิดขนาดใหญ่ภายในบ้านด้วย

เจาะช่องว่างบนหลังคาให้ต้นไม้โต

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

หลังคาใหญ่คลุมเฉลียง

เพื่อสร้างความสมดุลให้บ้านจึงต้องทำคานและใส่หลังคาที่เอียงยื่นลงมาค่อนข้างมาก ทำให้หลังคาดูใหญ่กว่าหลังคาปกติและมีพื้นที่คลุมบริเวณถนนหน้าบ้านได้มาก แต่ความยาวของผืนหลังคากลับไม่รู้สึกว่าส่วนนี้มืด เพราะสถาปนิกติดตั้งวัสดุโปร่งแสงแทรกทำเป็นช่อง skylight เพื่อรับแสงธรรมชาติด้านหน้าได้เท่าที่บ้านต้องการ ในขณะเดียวกันก็เจาะหลังคาเป็นช่องเปิดสี่เหลี่ยมโอบล้อมต้นไม้เอาไว้ให้สามารถเติบโตสร้างร่มเงาได้ เหมือนเติบโตไปกับบ้านอย่างเกื้อกูล

เฉลียงบ้าน

หลังคาโชว์โครงสร้างไม้

การขยายชายคาไปถึงถนนด้านหน้าและสร้างพื้นที่ภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่จำกัด ชีวิตของผู้อยู่อาศัยจะค่อยๆ ถูกระบายออกจากพื้นที่ใต้หลังคาขนาดใหญ่ ไปสู่เฉลียงนั่งเล่นรับบรรยากาศสบาย ๆ ก่อนที่จะออกสู่ถนนที่เชื่อมต่อกับชุมชนตรงตามโจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องการ

ครัว โต๊ะทานข้าวและพื้นที่นั่งเล่น

หลังคาเฉียงมีช่องแสง skylight

ภายในบ้านชั้นล่างจัดแปลนแบบ open plan ให้พื้นที่ใช้สอยโล่ง ๆ เป็นสเปซเดียวกัน แล้ววางเฟอร์นิเจอร์เป็นตัวบอกขอบเขตของการใช้งานห้องนั่งเล่น ครัว และพื้นที่นั่งเล่น ที่อยู่รวมกัน ส่วนห้องนั่งเล่นสไตล์ญี่ปุ่นและห้องน้ำจะแยกโซนไปเป็นส่วนที่มีผนังแบ่งกั้นห้องเพื่อให้ความเป็นส่วนตัว วิธีนี้จะทำให้บ้านใช้งานได้ลื่นไหล บ้านโล่งกว้างสัญจรง่ายและสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานในอนาคตได้สะดวก

บ้านผนังกระจกมี skylight

บ้านหลังคาสูงโปร่ง

ส่วนที่ใช้งานสาธารณะจะเปิดเพดานโล่งเชื่อมต่อสูงขึ้นไป เพื่อสร้างบรรยากาศบ้านที่สูงโปร่งและเอื้อให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี มีช่องแสง Skylight เพื่อดึงแสงธรรมชาติให้ส่องลงมาในบ้านตรง ๆ บ้านจึงไม่ขาดแสง ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าช่วงกลางวันได้พอสมควร สำหรับพื้นที่ส่วนที่สูงที่สุดซึ่งอยู่ใจกลางบ้านถูกทำให้เป็นชั้นลอยมีช่องหน้าต่างที่จะสามารถเชื่อมต่อกับชั้นล่างได้ง่ายขึ้น

ช่องแสงระดับเดียวกับพื้น

ประตูโชจิ

แม้จะเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์น แต่เราพบว่าในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงไม่ลืมที่จะใส่เอกลักษณ์ดั้งเดิมบางอย่างลงไปแต่ปรับประยุกต์ให้ดูทันสมัยเหมาะกับบ้านและการใช้งานมากขึ้น อาทิ บริเวณที่ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน ประตูโชจิ ห้องนั่งเล่นชงชาแบบญี่ปุ่น ช่องแสงระดับพื้นห้อง เป็นต้น

หลังคาจั่วโชว์โครงสร้าง

บ้านตกแต่งไม้หลังคาเฉียงสูง

สถาปนิกยกพื้นที่พักผ่อนขึ้นไปบนชั้นสอง ซึ่งดูแล้วจะเหมาะสมกว่าเพราะจำนวนผนังที่ต้องการในโครงสร้างน้อยกว่าชั้นแรก โครงสร้างทั้งชั้นบนและชั้นล่างเน้นโชว์งานไม้ ซึ่งไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น สวยงามตามธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสร้างความยืดหยุ่นทำให้การใช้ชีวิตในบ้านที่มีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวบ่อย ๆ มีความปลอดภัย

ห้องนอนบนชั้นลอยมีช่องกระจกมองเห็นด้านล่าง

ช่องกระจกมองเห็นชั้นล่าง

แม้จะอยู่ที่ชั้นบนก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการถูกตัดขาดจากชั้นล่าง เพราะสถาปนิกเจาะผนังใส่ช่องเปิดเป็นหน้าต่างและกระจกแนวนอนยาวเกลือบตลอดผนัง สามารถมองเห็นพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนที่ใกำลังทำกิจกรรมอยู่ชั้นล่างและถนนหน้าบ้าน พร้อมกับเปิดรับอากาศชั้นล่างให้ไหลขึ้นแล้วระบายออกนอกอาคารได้ด้วย

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  ในบ้านที่มีการเจาะหรือจัดพื้นที่แบบ open space ลานโล่งเปิดออกสู่ท้องฟ้า เป็นสเปซว่าง ๆ ที่ทำให้บ้านได้หายใจ สามารถจัดเป็นสวนหรือทำหน้าที่เป็นจุดดักแสง ดักลม เพิ่มความเป็นธรรมชาติให้กับตัวบ้านได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในบ้านเราที่มีฤดูฝน ต้องมีการจัดการเรื่องการระบายน้ำ การป้องกันฝนสาดเข้าสู่พื้นที่ใช้ชีวิตรอบ ๆ เพื่อไม่ให้น้ำเพิ่มความชื้นใต้อาคารและทำร้ายผนังบ้านจนเกิดเชื้อราได้ง่าย

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด