บ้านสไตล์ Modern country
หากมีโอกาสได้ต่อเติมบ้านใหม่ในพื้นที่เดิม ผู้อ่านคิดว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนกันบ้างครับ เชื่อว่าหลายคนจะใช้โอกาสนี้ออกแบบสิ่งใหม่เข้าไปให้รู้สึกแตกต่าง แต่ก็น่าจะมีคนไม่น้อยที่อยากเพิ่มบ้านที่หน้าตาคล้ายกับของเก่าเข้าอีกอีกหลัง ให้ดูมีความต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งทางเลือกหลังก็คงเหมือนบ้านหลังนี้ เพราะหลังจากสร้างบ้านหลังใหญ่เสร็จไปแล้ว 5 ปี เจ้าของบ้านก็มีความคิดว่าจะเพิ่มสตูดิโอแยกต่างหากสำหรับแขก สถาปนิกจึงออกแบบและสร้างอาคารใหม่ที่เว้นระยะห่างจากบ้านเดิมด้วยช่องว่างระหว่างอาคาร แต่ก็ใส่ความรู้สึกเชื่อมต่อกันด้วยรูปแบบที่คล้ายกันและวัสดุชนิดเดียวกัน มองดูแล้วเหมือนเป็นภาพต่อจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ที่ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าอาคารแต่ละหลังสร้างคนละช่วงเวลา
ออกแบบ : chadbournedoss
ภาพถ่าย : Ben Schneider Photo
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านหลังนี้อยู่ใน Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา อาคารเดิมเป็นบ้านสองชั้นผนังสูงคล้ายโรงนาตะวันตก วัสดุที่ใช้ภายนอกเป็นเมทัลชีทสีเทา เมื่อคิดจะต่อเติมสิ่งใหม่เข้าไป สถาปนิกให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกต่อเนื่องทั้งในแง่ของพื้นที่และสายตา แต่ก็ต้องเว้นระยะห่างเผื่อเรื่องความเป็นส่วนตัวสำหรับแขกด้วย จึงขยับอาคารใหม่ห่างออกมาจากบ้านเก่าประมาณ 3 เมตร แล้วออกแบบอาคารให้เป็นหลังคาเฉียงสูงในองศาที่ต่อเนื่องจากหลังคาบ้านเดิม วัสดุผนังและหลังคาใช้เป็นเมทัลชีทโทนสีเดียวกัน หากมองไกล ๆ จะเห็นทั้งหมดรวมเป็นองค์ประกอบเดียวกัน
หากสังเกตบนหลังคาบ้านจะเห็นว่ามีแผงโซล่าร์เซลล์เรียงเกือบเต็มพืท้นที่ นั่นเป็นเพราะทุกคนต้องการให้โครงการนี้มีความยั่งยืน ดังนั้นจึงแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของบ้านทั้งสองหลัง ซึ่งทำให้บ้านนี้ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์
เจ้าของสนุกกับการเดินทางไปไอซ์แลนด์ที่มีอากาศหนาวเย็น หนึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราใช้พาเลทที่เป็นธรรมชาติในการตกแต่งภายใน จากห้องนั่งเล่นนอกบ้านที่กรุด้วยไม้ซีดาร์ พาเข้ามาสู่ภายในจะเปลี่ยนมาใช้แผ่นไม้อัดลายสวยย้อมสีหุ้มผนังทุกด้าน ตัดความรู้สึกกับพื้นปูนเปลือยขัดมันเรียบๆ และผนังคอนกรีตโชว์ร่องรอยดิบ ๆ ในบางจุดทำให้บ้านดูอบอุ่นแต่เรียบง่ายทันสมัย
ภายในชั้นล่างประกอบด้วย มุมนั่งเล่น โต๊ะทานอาหาร และครัว ในห้องพักผ่อนถูกออกแบบให้เป็นโถงสูงดูโอ่โถง ผนังกระจกตรงข้ามโซฟาเปิดมุมมองออกไปจับภูมิทัศน์เขียวขจีภายนอก สิ่งหนึ่งที่สะดุดตา ในห้องนี้ คือ ผืนหนังสัตว์ที่ตกแต่งบนระเบียงชั้นลอย ที่เพิ่มอารมณ์บ้านสไตล์โมเดิร์นคันทรีและพรมขนสัตว์สีขาวฟูนุ่มบนโซฟา ซึ่งคงจะดีถ้าของตกแต่งเหล่านี้เป็นเพียงวัสดุสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบขึ้นมาแทนของจริง
ห้องครัวเล็ก ๆ ในมุมสุดของบ้าน ตกแต่งชุดเครื่องครัวโทนสีดำทันสมัย backsplash ไม่กรุด้วยกระเบื้องสวยๆ เหมือนครัวทั่วไป แต่ใช้ผนังคอนกรีตโชว์กริดไลน์และรูน็อตเป็นฉากหลัง ทำให้เกิดภาพครัวเท่ๆ ที่ชวนให้ใช้งาน
ห้องนอนบนชั้นใต้หลังคามีแสงสว่างเพียงพอ ด้วยตำแหน่งหน้าต่างและช่องรับแสงได้รับการคัดเลือกทิศทางมาอย่างดี อย่างเช่น ช่องแสง skylight เหนือเตียงนอน และหน้าต่างด้านที่หันออกข้างๆ เพื่อให้ความเป็นส่วนตัวจากบ้านหลังใหญ่
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การใส่ช่องแสง Skylight ช่วยดึงแสงเข้าสู่ตัวบ้านจากด้านบนหลังคา เป็นที่นิยมในบ้านเขตหนาวหรือบ้านที่มีข้อจำกัดในการใส่ช่องแสงด้านข้าง เช่น ทาวน์เฮาส์ที่ผนังเพื่อนบ้านขนาบติดกัน 2 ด้าน แต่การเลือกใส่ skylight ไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเมืองไทยที่เป็นเขตร้อน ปริมาณแสงจะแรงกว่าบ้านเขตหนาว หากดึงแสงเข้ามาในบ้านมากเกินไปจะร้อนจะอยู่ไม่สบาย ควรเลือกใส่ในห้องน้ำ ครัว หรือเหนือบันไดที่ต้องการแสงสว่างมาก ๆ วัสดุกระจกที่ใช้ต้อมีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน ป้องกันรังสี UV ได้ ก็จะช่วยเพิ่มความสว่างให้บ้านแต่ไม่รู้สึกร้อนจนเกินไป |