บ้านพื้นถิ่นประยุกต์
เราเชื่อว่าในพ.ศ.นี้ คนรุ่นหลังๆ จำนวนไม่น้อยไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังที่ตัวเองเติบโตมาอีกแล้ว แต่ก็ยังจำบรรยากาศแบบที่คุ้นเคยได้ เมื่อมีโอกาสสร้างบ้านจึงนำความทรงจำแบบพื้นถิ่นมาประยุกต์ให้เป็นบ้านที่มีกลิ่นอายดั้งเดิมเหลืออยู่บ้าง ในขณะที่ตอบโจทย์การใช้งานใหม่ๆ และสอดคล้องกับสภาพอากาศด้วย หนึ่งในโปรเจ็คบ้านแบบท้องถิ่นประยุกต์ที่ “บ้านไอเดีย” จะพาไปชมวันนี้อยู่ในประเทศเวียดนาม โดยฝีมือของ CIA Design Studio ที่ใช้หลักเกณฑ์การออกแบบ “Creating Green- Green Life” มุ่งเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุในท้องถิ่น สร้างพื้นที่ใช้สอยโดยนำธรรมชาติเข้ามาภายในอาคาร ควบคู่กับรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรมบางอย่างของเวียดนามเอาไว้
ออกแบบ : CIA Design Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Village House สร้างขึ้นบนที่ดินขนาด 1,490 ตร.ม. ในเขต Nui Thanh จังหวัด Quang Nam โครงการได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านของสื่อสามบูธ สถาปนิก Nguyen Tien Chung (สตูดิโอออกแบบของ Cia) กล่าวว่า “โครงการนี้ต้องการให้วัฒนธรรมสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สอดประสานกัน ในขณะเดียวกันก็รักษาคุณค่าของบ้านแบบที่เรียกว่า บ้านสามห้องในชนบทของ Quang Nam เอาไว้”
ในแง่ของรูปทรงตัวอาคารเรียงกันเป็นตัว U ออกแบบให้มี 3 โ ซนหลัก ๆ โดยมีพื้นที่บูชาเป็นช่องว่างหลักตรงกลาง หลังคาโค้งของโถงบูชาโอบรับปีกบ้านสองช่องด้านข้างที่เป็นแขนยื่นออกมา ในลักษณะสมมาตรเพื่อช่วยเชื่อมโยงช่องต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างใกล้ชิด ภาพรวมหลังคาจะดีไซน์ทรงจั่วซ้อนกันสองชั้นแบบที่คุ้นเคยในชนบท แต่เปลี่ยนวัสดุจากหลังกระเบื้องดินเผาสีแดงเป็นแผ่นหินและหลังคาโปร่งแสง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
แนวคิดหลักในการออกแบบอาคารนี้คือ บ้านที่มีพื้นที่รับลมเย็น, มีแสงธรรมชาติกระจายไปทั่วถึง, การพาอากาศหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องในอาคาร, สร้างวิธีแก้ปัญหาและป้องกันแสงแดดโดยตรงเพื่อการลดรังสีความร้อน ให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีๆ เกิดขึ้นภายในอาคาร สถาปนิกใช้ประโยชน์จากผนังที่ทำเป็นประตูบานเปิดได้หมด รับธรรมชาติอย่างเต็มที่เพื่อใช้อากาศและลม และใช้บานเกล็ดแนวตั้ง แนวต้นไม้ ไปจนถึงกันสาดเพื่อลดความร้อนที่ส่องโดยตรงจากดวงอาทิตย์ที่หันไปทางทิศตะวันตก
ด้วยการวางแนวอาคารเป็นตัว U ทำให้เกิดที่ว่างตรงกลาง สถาปนิกจึงทำเป็นสวนน้ำและลานกว้างเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมช่องว่างเข้าด้วยกัน โดยมีเฉลียงเป็นทั้งทางเดินและทำหน้าที่เป็นกันชนสำหรับพื้นที่ที่จะใช้งาน ในขณะที่บังแดดและฝน และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับผู้คนและระหว่างผู้คน ให้สมาชิกในบ้านรู้สึกถึงลมหายใจของธรรมชาติได้ดีขึ้น
ในแง่ของวัสดุสถาปนิก Nguyen Tien Chung ได้ผสมผสานวัสดุที่ยั่งยืน เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาหินธรรมชาติ การใช้ไม้ขนุนทำผนัง ผนังบังแดด ผนังไม้ ฝ้าเพดานด้วยไม้กระถินเทศสีเหลืองที่รวมกันให้ความรู้สึกอบอุ่น สร้างสุนทรียภาพที่ดี และเติมแต่งอารมณ์ภายในที่ประณีต
พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารและห้องครัว อยู่รวมกันในปีกอาคารหนึ่ง ห้องนอน 3 ห้องและห้องน้ำ 2 ห้อง อยู่ปีกตรงข้ามกัน ส่วนห้องบูชาอยู่ตรงกลาง แผนผังบ้านถูกจัดวางด้วยบานประตูถึง 50 ชุดติดตั้งทั้งสองฝั่งผนัง ทำให้บ้านเหมือนศาลาขนาดใหญ่ช่วยให้เจ้าของบ้านใช้ในการควบคุมแสง รับลม เอาชนะข้อเสียของภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อนชื้นในภาคกลางได้เป็นอย่างดี การจัดพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์มีความยืดหยุ่นมาก เจ้าของบ้านจึงสามารถแบ่งจำนวนห้องหรือพื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น ใช้งานตามวัตถุประสงค์ในอนาคต
ห้องบูชามีความสง่างาม ตกแต่งด้วยตู้แกะสลักฝีมือประณีต แจกันไม้ และของตกแต่งที่สื่อถึงจิตวิญญาณของความเป็นเวียดนามได้อย่างดี
พื้นที่ใช้งานตอนกลางวันแทบจะไม่ใช้ไฟฟ้าในการให้แสงสว่างเลย แม้จะปิดประตูแล้วก็ยังมีช่องแสงบนหลังคาเพื่อนำแสงสว่างมาสู่พื้นที่ภายใน จากห้องนอนจะมองเห็นสวนและสระน้ำ ห้องนั่งเล่นที่อยู้ตรงข้าม ทำให้ทุกส่วนของบ้านปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายๆ ไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาด
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สถาปัตยกรรมเวียดนามดั้งเดิมโดยเฉพาะในชนบททางตอนเหนือ จะมีบ้านที่เรียกว่า บ้านสามห้อง หรือบ้าน 2 ปีก 3 ห้อง เนื่องจากแปลนบ้านจะถูกให้แบ่งออกเป็นสามช่อง ตรงกลางเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้เป็นทั้งที่ไหว้บรรพบุรุษและรับแขก สองฟากของโถงใช้เป็นห้องนอน ห้องครัวมักตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เพราะคนโบราณเชื่อว่าครัวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกช่วยให้ครอบครัวมีความสามัคคีและร่มเย็นเป็นสุข โครงสร้างของบ้านสามห้องนั้นค่อนข้างเรียบง่าย ช่วยประหยัดเวลาในการก่อสร้างและค่าก่อสร้าง การจัดพื้นที่มีความยืดหยุ่นมาก แต่ก็มีข้อจำกัดที่ใช้พื้นที่มากทำให้ไม่ค่อยมีการสร้างในเมือง และหากไม้คุณภาพต่ำ มักจะเกิดปัญหาปลวกขึ้นได้ |
แปลนบ้าน