เมนู

จ้างสถาปนิก อินทีเรียออกแบบ ลิขสิทธิ์แบบบ้าน เป็นของใคร

ลิขสิทธิ์แบบบ้าน

กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันบ่อยครั้ง ระหว่าง สถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน VS เจ้าของบ้าน ถึงสิทธิความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริงว่าเป็นของใคร หากมองในมุมเจ้าของบ้านย่อมคิดว่า ในเมื่อว่าจ้างมาแล้ว จ่ายเงินให้แล้ว ลิขสิทธิ์ย่อมเป็นของเจ้าของบ้าน จะนำแบบบ้านไปทำอะไรก็ย่อมได้ ส่วนในมุมสถาปนิกผู้ออกแบบอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะบ้านที่เจ้าของบ้านว่าจ้างให้ออกแบบ ออกแบบให้กับผู้ว่าจ้างก็จริง แต่ก็ออกแบบเพื่อใช้สร้างบ้านหลังนั้นเพียงหลังเดียว เจ้าของบ้านไม่มีสิทธิ์ที่จะนำแบบชุดนี้ไปแจกจ่ายหรือใช้สร้างในที่อื่น ๆ ไม่ว่าจะถกเถียงกันอย่างไร บ้านไอเดียมีคำตอบมาให้ในมุมมองของกฎหมาย แต่หากใครอ่านกฎหมายแล้วดูงง ๆ แนะนำเลื่อนอ่านบทสรุป ท้ายเนื้อหาได้เลยครับ

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์
ภาพประกอบ : ปันแปลน

บ้านคุณบุ๊ค ปทุมธานี

บ้านคุณบุ๊ค ปทุมธานี |ออกแบบ : Punplan

ก่อนทำความเข้าใจกับงานลิขสิทธิ์หรืองานใด ๆ ที่มีผลต่อกฎหมาย จำเป็นต้องเปิดอ่าน พรบ.ต่าง ๆ ที่กฎหมายได้ว่าไว้ สำหรับงานลิขสิทธิ์สถาปัตยกรรม บทกฎหมายจะเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้เขียนขอหยิบยกบทสรุปมาบางวรรคตอน เพื่อให้เข้าใจกันง่ายยิ่งขึ้นครับ

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้

“ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงาน โดยความคิดริเริ่มของตนเอง

“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

(๔) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายใน หรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้า

“งานแพร่เสียงแพร่ภาพ” หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน

“ทำซ้ำ” หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึก เสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็น สาระสำคัญ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

“ดัดแปลง” หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา ๘ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา ๑๒ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงาน ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็น อย่างอื่น

มาตรา ๑๓ ภายใต้บังคับ มาตรา ๗ มาตรา ๘ และ มาตรา ๑๒ เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมี สิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้

(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(๒) นำออกโฆษณา

(๓) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

(๔) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (๑) หรือ (๒) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดด้วย หรือไม่ก็ได้

มาตรา ๑๔ ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้อนุญาตให้ผู้ใดใช้สิทธิตาม มาตรา ๑๓ (๔) ถ้ามิได้ตกลงเป็นหนังสือกำหนดเงื่อนไขอย่างใดโดยเฉพาะ ให้ถือว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ นั้นโดยไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธินั้นอีก

มาตรา ๑๖ ภายใต้บังคับ มาตรา ๑๘ และ มาตรา ๑๙ ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุ ของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

  • ในกรณีที่มีผู้สร้างร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วมและมีอยู่ต่อไป อีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย
  • ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคน ถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้นให้ลิขสิทธิ์ ดังกล่าวมีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณา
  • ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบ ปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๒๐ ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมตาม มาตรา ๑๒ ให้มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นใน ระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอยู่เป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา ๒๒ เมื่ออายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ครบกำหนดในปีใดถ้าวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ไม่ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน หรือในกรณีที่ไม่อาจทราบวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ที่แน่นอนให้ลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันสิ้นปีปฏิทินของปีนั้น

มาตรา ๒๔ การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

(๑) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง

(๒) นำออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาต ตาม มาตรา ๑๓

มาตรา ๒๗ ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด แก่งานนั้นดังต่อไปนี้

(๑) ขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอขาย เสนอให้เช่า หรือเสนอให้เช่าซื้อ

(๒) นำออกโฆษณา

(๓) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย แก่เจ้าของลิขสิทธิ์

(๔) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการใด ๆ นอกจากเพื่อใช้เป็นการส่วนตัว ให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย

มาตรา ๒๘ ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่างานที่มีการฟ้องร้องในคดีเป็นงานอันมี ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่า ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์

  • งานใดมีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อของบุคคลใด ที่อ้างว่าคนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อนั้นเป็นผู้สร้างสรรค์
  • งานใดไม่มีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อแสดงไว้ หรือมีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อแสดงไว้ แต่มิได้อ้างว่าเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ และมีชื่อหรือสิ่งใดที่ใช้แทนชื่อของบุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หรือผู้พิมพ์ และ
  • ผู้โฆษณาแสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหรือผู้พิมพ์และผู้โฆษณานั้นเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

บ้านคุณเบนซ์ นนทบุรี

บ้านคุณเบนซ์ นนทบุรี | ออกแบบ : Punplan

สรุป ลิขสิทธิ์แบบบ้าน เป็นของใคร

หากอ่านข้อกฎหมายเยอะ ๆ แล้วรู้สึกเข้าใจยาก วิธีการง่ายที่สุดคือ ให้ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ร่วมกันทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสัญญาว่าจ้างครับ เนื่องด้วยในมาตรา 8 ได้ระบุไว้ว่า “งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น” ในมาตรา 8 นี้จะเห็นได้ว่า กฎหมายให้สิทธิ์ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ แต่การว่าจ้างนั้น อาจต้องพิจารณาตามรูปแบบหรือลักษณะงานนั้น ๆ กฎหมายจึงระบุเพิ่มไว้ว่า “เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”

ก่อนจะพิจารณาว่า ลิขสิทธิ์นี้เป็นของใครจึงต้องดูสัญญาว่าจ้างกันตั้งแต่ต้น เพราะสัญญาว่าจ้างจะเป็นข้อตกลงร่วมกันที่เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบร่วมกันทำ โดยปกติสัญญาที่เป็นธรรม ควรคุ้มครองทั้ง 2 ฝ่าย นั่นหมายถึง คุ้มครองเจ้าของบ้านและสถาปนิกผู้ออกแบบ ผู้เขียนขอยกส่วนหนึ่ง ของตัวอย่างสัญญาว่าจ้างจาก บริษัท ปันแปลน จำกัด มีดังนี้

ตัวอย่างสัญญา “แบบและรายละเอียดของแบบเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของผู้ว่าจ้าง ซึ่งจะใช้ได้เฉพาะกับโครงการนี้เท่านั้น ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างไม่มีสิทธิ์ในการนำแบบที่ผู้รับจ้างมอบให้จำหน่าย แจกจ่าย หรือใช้ร่วมกับโครงการอื่น นอกจากจะได้รับคำยินยอมจากทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร”

จากสัญญาดังกล่าว อธิบายได้ว่า ผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้าน ไม่สามารถนำผลงานการออกแบบบ้านที่ผู้รับจ้างออกแบบไว้ นำไปจำหน่าย แจกจ่าย หรือใช้ร่วมกับโครงการอื่น ๆ และผู้รับจ้างหรือสถาปนิกผู้ออกแบบ ไม่สามารถนำแบบบ้านหลังดังกล่าว ไปขายให้กับลูกค้ารายอื่น ๆ หรือนำไปสร้างให้กับลูกค้ารายอื่น นั่นหมายถึง แบบบ้านชุดนี้ สามารถสร้างได้เฉพาะหลังที่เจ้าของบ้านว่าจ้างออกแบบเท่านั้น หากฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง นำแบบบ้านไปใช้นอกเหนือข้อตกลงย่อมมีความผิดในสัญญาว่าจ้าง

เพราะเหตุใด ลิขสิทธิ์ ไม่ได้เป็นของผู้ว่าจ้างแต่เพียงผู้เดียว

โดยปกติการออกแบบบ้านอยู่อาศัยทั่วไป เจ้าของบ้านจะว่าจ้างให้ออกแบบเพื่อสร้างเพียงหลังเดียว ลักษณะนี้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ครับ แต่การทำสัญญาก็เพื่อป้องกันไม่ให้นำแบบบ้านไปแจกจ่ายหรือใช้ร่วมกับธุรกิจอื่น ๆ อาทิ โครงการจัดสรรที่มักใช้แบบเดียวกันทั้งโครงการ หากนำแบบบ้านที่ว่าจ้างให้ออกแบบหลังเดียว แต่นำไปสร้างหลายหลัง ส่งผลให้ผู้รับจ้างเสียสิทธิผลประโยชน์ทันที โดยปกติการว่าจ้างในรูปแบบโครงการจัดสรร ผู้รับจ้างจะคิดคำนวณค่าใช้จ่ายแตกต่างไปจากการว่าจ้างให้ออกแบบบ้านเพื่อสร้างหลังเดียว ซึ่งโดยปกติสถาปนิกจะคำนวณเพิ่มตามจำนวนยูนิตที่ก่อสร้างเพิ่ม

ออกแบบบ้าน สถาปนิก กำแพงเพชร

บ้านคุณแพร กำแพงเพชร | ออกแบบ : Punplan

เพราะเหตุใด ลิขสิทธิ์ ไม่ได้เป็นของสถาปนิกแต่เพียงผู้เดียว

แม้สถาปนิกจะเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่การสร้างสรรค์ผลงานนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีเงินสนับสนุนจากผู้ว่าจ้าง และเพื่อป้องกันสิทธิ์ให้กับเจ้าของบ้าน ที่ไม่ต้องการให้บ้านของเราเองไปสร้างซ้ำกับหลังอื่น สถาปนิกจึงไม่มีสิทธิ์นำแบบบ้านหลังดังกล่าว ไปแจกจ่าย จำหน่ายขายต่อ หรือนำไปสร้างให้กับลูกค้าหลังอื่น ๆ เว้นแต่จะมีการตกลงร่วมกับผู้ว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนแล้วเท่านั้น

บ้านคุณป้ำ ชลบุรี

บ้านคุณป้ำ ศรีราชา | ออกแบบ : Punplan

ตัวอย่างในเนื้อหานี้ เป็นเพียงคำแนะนำในการทำสัญญา เพื่อใช้เป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มครองสิทธิ์ทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง สามารถทำข้อตกลงในลักษณะอื่น ๆ นอกเหนือจากคำแนะนำในเนื้อหานี้ได้ครับ ก่อนจะร่วมงานกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดคุยและทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน เพื่อให้แต่ละฝ่าย ได้รักษาสิทธิของตนเอง รวมทั้งป้องกันการเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ดีอีกด้วยครับ

http://credit-n.ru/offers-zaim/moneyman-srochnye-zaimy-online.html http://www.tb-credit.ru/news.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด