เมนู

บ้านเปิดผนังขนานกับลาน เว้นพื้นที่ให้หายใจอย่างเต็มปอด

บ้านโบราณมีคอร์ท

บ้านร่วมสมัยขนานไปกับคอร์ท

บ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ มักจะออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ อย่างเช่น บ้านเขตหนาวจะมีช่องแสงขนาดใหญ่ บ้านเขตร้อนจะมีช่องทางระบายอากาศมาก ส่วนบ้านเขตน้ำท่วมมักจะยกพื้นสูงเพื่อให้หนีน้ำได้ อย่างในไทยบางโซนหรือเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่มีหลายพื้นที่เป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่บ้านแถบนั้นจะต้องเผชิญสภาพธรรมชาติของฤดูน้ำท่วมประจำปี ภูมิภาคนี้จึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้านยกพื้นสูงที่ป้องกันน้ำท่วม แต่ต่อมาเมื่อพบว่าหลายปีให้หลังน้ำท่วมไม่ถึงย่านที่อยู่อาศัย  บ้านรูปแบบเดิม ๆ จึงไม่เหมาะกับจังหวะชีวิต ทำให้มีบ้านแบบใหม่ ๆ ที่ต่างจากเดิมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ออกแบบ :H.a
ภาพถ่าย : Quang Dam
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านเว้นพื้นที่ว่างด้านข้าง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ภาพมุมมองจากด้านบน

จากภาพมุมมองจากด้านบนจะเห็นระยะของบ้านกับแม่น้ำ บริเวณนี้อยู่ในเมือง Hong Ngu เป็นเมืองระดับ 3 ของจังหวัด Dong Thap ประเทศเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ดังนั้นสถาปัตยกรรมของสถานที่แห่งนี้จึงมีลักษณะเฉพาะด้วยบ้านไม้ยกพื้นเหมือนต่อขา เพื่อป้องกันน้ำท่วม เมื่อเวลาผ่านไปมีการสร้างและซ่อมแซมระบบคันกั้นน้ำ น้ำจึงไม่ท่วมเข้าสู่เขตที่อยู่อาศัย ทำให้การออกแบบบ้านเดิมไม่เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่อีกต่อไป อย่างไรก็ตามเจ้าของบ้านที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1968 ยังต้องการคงไว้ซึ่งเรื่องราวสมัยก่อนในขณะที่สัมผัสได้ถึงความร่วมสมัย จึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่ต้องตีโจทย์ให้ตรงใจผู้อยู่

บ้านประตูบานเฟี้ยมพับเก็บได้

สถาปนิกต้องการให้บ้านนำเสนอพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตแบบเก่า แต่เชื่อมต่อระหว่างฟังก์ชันตัวบ้าน และเปิดกว้างระหว่างภายในกับกับธรรมชาติมากขึ้น ในขณะที่ต้องเอาชนะปัญหาในอดีตและนำเสนอโทนสีใหม่ในรูปแบบที่อยู่อาศัยของชานเมืองให้มีความร่วมสมัย บ้านทั้งหลังจึงใช้ไม้ทำโครงหลังคารองรับหลังคากระเบื้องสีแดงและวงกบประตู ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้มาตั้งแต่อดีต แปลนอาคารถูกออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนตัว C แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนกลางที่ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารตั้งอยู่ตรงกลาง บริเวณหัวและท้ายเป็น ครัว ห้องนอน และห้องสุขา ส่วนสุดท้ายเป็นที่ว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้า (open space) ที่ขนานกับช่วงกลางของตัวบ้าน

ผนังประตูบานเฟี้ยม

พื้นที่ส่วนกลางของบ้านเป็นเหมือนห้องโถงโล่ง ๆ ยาวเป็นผืนเดียว ผนังติดตั้งประตูบานเฟี้ยมที่เก็บเข้าด้านข้างได้หมดจนเหมือนไม่มีประตู เชื่อมต่อตัวบ้านไปยังลานที่มีต้นไม้ มองเห็นท้องฟ้า สัมผัสสายลมที่ไหลเข้าสู่ตัวบ้านได้เต็มที่ เนื่องจากเป็นการออกแบบบ้านแบบดั้งเดิม แทนที่จะทำสกายไลท์ตรงกลางบ้าน เจ้าของบ้านเลือกใช้ระบบซี่ไม้ที่ขอบเหนือประตู เพื่อให้อากาศหมุนเวียนและนำแสงเข้ามาในบ้าน

บ้านเปิดเชื่อมต่อ open space

พื้นปูด้วยกระเบื้องลายกราฟฟิกสีดำขาว เพิ่มลูกเล่นให้เกิดมิติทางสายตาบ้านจึงดูไม่น่าเบื่อ ประตูกระจกช่วยให้บ้านมีสภาพแสงต่างๆ มากมายตามลำดับเวลาในแต่ละวัน

บ้านแบบ open plan

จากโต๊ะทานข้าวจะมีผนังและโถงทางเข้าที่นำเข้าสู่ส่วนท้ายของบ้านที่เป็นครัว ซึ่งถูกแบ่งแยกไว้ด้านหลังเพื่อไม่ให้กลิ่นและควันรบกวนโซนใช้ชีวิตด้านหน้า โดยที่ไม่ถูกตัดขาดจากส่วนอื่น ๆ ของบ้าน เพราะนักออกแบบเจาะช่องสี่เหลี่ยมเอาไว้บนผนังเป็นเหมือนเคาน์เตอร์บาร์สำหรับส่งอาหารที่มองทะลุออกไปข้างนอกได้

ที่นั่งเล่นริมหน้าต่าง

เบย์วินโดว์นั่งเล่นริมหน้าต่าง

ข้าง ๆ ครัวเป็นพื้นที่ว่างมีที่นั่งริมหน้าต่างเป็นมุมนั่งพักผ่อนน่ารัก ๆ ในบ้าน ที่เติมมิติของลูกเล่นให้บ้านร่วมสมัยแบบที่ค้นเคยในท้องถิ่นของเวียดนามน่าสนใจขึ้น ส่วนหลังคาที่เฉียงเอียงลงสามด้านมีชายคายาว ทำให้น้ำฝนไหลเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งมีสวนและลานกรวดรองรับน้ำฝนอยู่ จึงไม่ส่งผลกระทบกับตัวบ้าน

จัดสวนที่เคาน์เตอร์ล้างมือเล็ก ๆ

อีกหนึ่งมุมที่เป็นบริเวณเล็ก ๆ แต่กลายเป็นจุดโฟกัสสายตา คือ ซิงค์ล้างมือจัดเอาไว้ในมุมบ้าน ตกแต่งเป็นธรรมชาติด้วยแผ่นไม้ซีกรองรับซิงค์เซรามิค พื้นที่ว่างจัดสวนเล็ก ๆ ให้ความรู้สึกสดชื่น เท่านั้ยังไม่พอ ผนังยังตกแต่งด้วยบล็อกแก้วใสลวดลายสวย หลังคาใส่วัสดุโปร่งแสงเป็น skylight ที่ทำให้บ้านมีมิติของแสงเงาที่ชวนให้ประทับใจ

ภาพมุมมองบ้านจากด้านบน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในพื้นที่บ้านเนื้อที่จำกัด หรือต้องการเพิ่มธรรมชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านแบบ outside in ทำให้สถาปนิกเลือกตัดส่วนพื้นหรือเพดานออกบางส่วน เพื่อเว้นพื้นที่อาคารให้เป็นช่องโปร่ง ๆ ขึ้นไป กลายเป็นพื้นที่โล่งเปิดออกสู่ท้องฟ้า ซึ่งจะเอื้อต่อการใช้จัดสวนให้ต้นไม้ได้รับแสงตรง ๆ บ้านสามารถรับลมได้ดี แต่ข้อเสียคือ จุดนี้จะได้รับน้ำฝนตรงๆ เช่นกัน จึงต้องวางระบบการรองรับซึมซับน้ำและการระบายน้ำที่ดี เพื่อไม่ไห้น้ำจากท้องฟ้า แทรกซึมเข้าไปขังสร้างความชื้นบริเวณรากฐานหรือผนังอาคาร ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายในภายหลังได้

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด