เมนู

เปลี่ยนหลังคาปรับลุคบ้าน จากชั้นเดียวเพิ่มเป็นสองชั้น

ปรับบ้านชั้นเดียวเป็นบ้านสองชั้น

รีโนเวทบ้านชั้นเดียวให้เป็นสองชั้น

เคยไหมครับที่เรามองผ่านคนที่รู้จักคุ้นเคย แต่จำแทบไม่ได้เพราะเปลี่ยนทรงผมใหม่ ทำให้รู้ได้ว่าการปรับเปลี่ยนลุคเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนได้ บ้านก็เช่นเดียวกันครับ บางครั้งรูปทรงเดียวกันแต่พอเปลี่ยนหลังคาบ้านก็ดูแปลกตาไปทันที เนื้อหานี้ “บ้านไอเดีย” ก็มีตัวอย่างบ้านที่เปลี่ยนรูปทรงหลังคาปุ๊บอารมณ์ของบ้านก็เปลี่ยนปั๊บ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่อยากปรับลุคบ้านที่โครงสร้างหลักยังดีอยู่แบบไม่ต้องรื้อทั้งหลังครับ

ออกแบบ :Splyce Design
ภาพถ่าย :  Silentsama
เนื้อหาบ้านไอเดีย

สภาพบ้านเก่าก่อนปรับปรุง

นี่คือภาพรวมของบ้านในช่วงทศวรรษ 1950 ก่อนสร้างใหม่ เป็นบ้านของคู่รักชาวแคนาดาในเวสต์แวนคูเวอร์พร้อมลูกๆ สองคน เมื่อบ้านเดิมไม่ตอบโจทย์การใช้งานจึงมีแผนที่จะปรับปรุงบ้านเพื่อให้ลูก ๆ สามารถเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น มีที่ว่างเพียงพอสำหรับของเล่น หนังสือ และการเล่น ซึ่งบ้านเดิมหลังคาทรงปั้นหยาชั้นเดียวเรียบง่ายนี้ไม่ตอบโจทย์อย่างครอบคลุม เพราะเป้าหมายของสถาปนิกไม่เพียงแต่ให้พื้นที่ใช้งานมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องการเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงคุณภาพและความรู้สึกโดยรวมด้วย

บ้านโมเดิร์นหลังคาเฉียงบนเนิน

เริ่มแรกเจ้าของบ้านต้องการเปลี่ยนหลังคาให้บ้านดูโมเดิร์น แต่หลังจากพิจารณาแล้วสถาปนิกได้ข้อสรุปว่าการปรับปรุงใหม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แทนที่จะรักษาหลังคาเหมือนเดิมและปรับปรุงภายในให้ทันสมัย ​​เขาเลือกที่รื้อหลังคาเดิมออกแล้วใส่หลังคาเฉียงสูงเพื่อเพิ่มชั้นที่ 2 เป็นส่วนห้องนอน ห้องน้ำ และห้องทำงาน ซึ่งการเพิ่มชั้นใหม่เหนือโครงสร้างที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายทั้งในด้านโครงสร้างและทางสถาปัตยกรรม เพราะต้องผ่านการคำนวนโครงสร้างอย่างดีไม่ให้ผิดพลาด สถาปนิกพบว่าโครงสร้างของบ้านที่มีอยู่เดิมส่วนใหญ่ยังดีอยู่ ทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เสนอนั้นเป็นไปได้

บันไดคอนกรีต

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ผนังเมทัลชีท Seamless สีดำ

นอกจากหลังคาแล้ววัสดุภายนอกยังเปลี่ยนด้วย เช่น หน้าต่างอะลูมิเนียมชุบอะโนไดซ์สีดำ ไม้ซีดาร์สีแดงแบบตะวันตก และผนังเมทีลชีท seamless สีดำ เมื่อมารวมกับประตูหน้าเป็นไม้วีเนียร์ไม้โอ๊คสีขาว และทางเดินคอนกรีต จะช่วยเสริมความทันสมัยของบ้านในขณะเดียวกันก็ยังดูเข้ากันได้กับลักษณะของบ้านใกล้เคียงที่มีอยู่ในชุมชน

เฉลียงบ้านโถงประตูสูงราวบันไดโปร่งใส

เมื่อเดินตามบันไดไต่ขึ้นมาถึงเฉลียง เปิดประตูเข้าสู่ภายในจะเห็นว่าใช้พื้นไม้โอ๊คขาวย้อมสี ซึ่งเป็นกลวิธีที่สถาปนิกตั้งใจสร้างความต่อเนื่องระหว่างภายในให้ดึงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาสู่ตัวบ้านอย่างกลมกลืน

ห้องนั่งเล่นกว้างๆ ผนังกระจกมองเห็นวิว

ไอส์แลนด์อเนกประสงค์ในครัว

พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างจัดแปลนแบบ open ผสานฟังก์ชันนั่งเล่น ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร เข้าไว้ด้วยกันในพื้นที่เดียวอย่างต่อเนื่องกัน โดยรื้อผนังกั้นห้องเดิมออกบางส่วนเปิดใหม่เชื่อมต่อบ้านจากด้านหน้าไปด้านหลัง แล้วเพิ่มหน้าต่างขนาดใหญ่ใส่กระจกที่ใช้งานได้ทั้งสองด้านช่วยให้มีการระบายอากาศแบบลมผ่านอาคาร (Cross ventilation) และสร้างมุมมองที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้ยังแบ่งส่วนห้องพักสำหรับผู้มาเยือน เด็กทั้งสองคนก็มีพื้นที่เล่นเฉพาะของตัวเองอีกด้วย ซึ่งตรงทุกโจทย์ที่เจ้าของบ้านได้ตั้งเอาไว้

ครัวมีไอส์แลนด์ตัวใหญ่

มุมทานข้าวติดกับบันไดบ้าน

แม้จะมีครบฟังก์ชันหลักที่ต้องการ แต่นักออกแบบยังไม่หยุดแค่นั้น เขาเพิ่มพื้นที่ชั้นที่สองขึ้นไป เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มีที่หลบภัยทำงานอย่างเป็นส่วนตัว ห่างจากเด็กเล็กที่อาจเล่นเสียงดังกวนใจในช่วงทำงาน  และทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานจากการเพิ่มห้องพักบนชั้นล่างให้มากที่สุด

ห้องนอนใหญ่ส่วนตัวและห้องน้ำในตัว มีช่องแสงและความอบอุ่นของไม้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชั้นนี้เต็มไปด้วยความอบอุ่นและมีแสงธรรมชาติมากพอๆ กับชั้นล่าง หลังคาลาดเอียงทำให้รู้สึกว่าพื้นที่สูงขึ้นแม้ว่าในส่วนต่ำสุดจะสูงไม่มากเพราะต้องการลดน้ำหนักที่ผนังเดิมต้องแบกรับก็ตาม

ตกแต่งไฟบนฝ้าเพดานเฉลียง

ตกแต่งไฟในสวนหน้าบ้าน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การต่อเติมเพิ่มจากบ้านชั้นเดียวให้เป็นบ้าน 2 ชั้น สามารถทำได้หลาย ๆ รูปแบบ แต่จะมีเงื่อนไขในแง่ของโครงสร้างและกฏหมายค่อนข้างมาก สำหรับการรื้อโครงสร้างหลังคาเดิมออกมาก่อนแล้วจึงต่อเติมชั้นสองโดยใช้แนวเสาเดิมสำหรับบ้านที่ไม่ได้ออกแบบมาเผื่อต่อเติม ควรใช้โครงสร้างเบาเพื่อความปลอดภัย หากเป็นกรณีที่ออกแบบเผื่อต่อเติมชั้นสองอยู่แล้ว อาจเลือกใช้โครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนักจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด หากการต่อเติมเพิ่มน้ำหนักมากกว่าเดิมเกิน 10% ต้องขอยื่นอนุญาตเสียก่อน ทั้งนี้การต่อเติมส่วนประกอบของบ้านควรต้องมีสถาปนิกหรือวิศวกรเป็นผู้ตรวจดูโครงสร้างก่อน เพื่อเช็คว่าโครงสร้างสามารถรับแรงได้จริง และปลอดภัย มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายจนทำให้บ้านพังลงมาได้

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด รีโนเวทบ้าน


โพสต์ล่าสุด