เมนู

เตรียมตัวและเตรียมบ้าน พร้อมสู้ COVID -19 เราต้องชนะ!

covid-19

เตรียมบ้านให้พร้อมชนะ COVID-19

ผู้เขียนเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ช่วงเวลานี้ มาถึงจุดที่เราควบคุมดูแลได้ยากขึ้น และไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่าการรับผิดชอบดูแลตนเองให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคให้มากที่สุด มาตรการหนึ่งที่เห็นผลดีและถือเป็นหัวใจของการลดการแพร่เชื้อ คือ  Social Distancing ซึ่งถ้าแปลแบบตรงตัวก็คือการสร้าง “ระยะห่างทางสังคม” แต่ในแง่การปฏิบัติคือ การเพิ่ม “ระยะห่าง” ทั้งระหว่างบุคคลและสังคม หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ผู้คนพลุกพล่าน หากจำเป็นต้องเจอให้อยู่ห่างกัน 2 เมตร และงดเว้นการ “สัมผัส” ซึ่งอาจเป็นที่มาของการแพร่กระจายเชื้อผ่านเหงื่อ น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ

การห่างกันสักพัก แยกตัวเองอยู่ในบ้านใครบ้านมันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำมากที่สุด และเพื่อให้แน่ใจว่าบ้านที่อยู่อาศัยสะอาด ไม่เป็นแหล่งกักกันเชื้อโรคเสียเอง  บ้านไอเดียจึงรวบรวมสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำในการปกป้องตัวเองและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมาฝากครับ

เนื้อหาบ้านไอเดีย

การปฏิบัติตัวป้องกันเชื้อโรค

ภาพประกอบ : www.bbc.com

เช็ดพื้นผิวด้วยแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ เป็นสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นต้านเชื้อจุลินทรีย์ สามารถฆ่าหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้  ความเข้มข้นปกติที่นิยมใช้จะอยู่ในช่วง 60−90% หากเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อยลงการออกฤทธิ์ก็จะลดลง สำหรับระดับความเข้มข้นที่เหมาะสำหรับฆ่าเชื้อบนผิวหนังโดยไม่ทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นโลหะได้ คือแอลกอฮอล์ 70%


ใช้แอลกอฮอล์แบบไหน ?

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องตามการใช้งานและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เช่น แอลกอฮอล์เจลล้างมือต้องเป็น “เอทานอล” (ethanol) หรือ “เอทิลแอลกอฮอล์” (ethyl alcohol) เท่านั้น ห้ามใช้ “เมทานอล” (methanol) หรือ “เมทิลแอลกอฮอล์” (methyl alcohol) แทนเป็นอันขาด เพราะถึงจะเป็นแอลกอฮอล์ของเหลวใส ไม่มีสีเหมือนกัน แต่เป็นคนละชนิดใช้แทนกันไม่ได้เด็ดขาด ! เมทานอลจะใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น เป็นตัวทำละลาย ทำเชื้อเพลิง จึงจุดไฟติด เป็นพิษ หากหายใจเอาเมทานอลเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก เมื่อฉีดพ่นละอองเข้าตาจะทำให้ตาบอดได้

covid-19

ภาพจาก : bangkokbiznews.com

จุดไหนที่ต้องเช็ด

เชื้อไวรัสมักติดตามจุดที่ถูกสัมผัสอยู่ตลอดเวลาและสิ่งของที่มักใช้ร่วมกันได้ จึงมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคมากที่สุด ผลวิจัยพบว่าไวรัสอาจอยู่ได้นานกว่าบนลูกบิดประตู โต๊ะทำงาน และพื้นผิวแข็งอื่น ๆ ได้นาน 7-8 ชั่วโมง แต่พื้นผิวที่เป็นทองแดงจะฆ่าไวรัสภายใน 4 ชั่วโมง จึงควรทำความสะอาดทุกวันและไม่ควรละเลยจุดอื่น ๆ เช่น ประตูรั้ว, มือจับ, keyboard คอมพิวเตอร์, รีโมททีวี, รีโมทแอร์, ราวบันได, สวิตช์ไฟ, โทรศัพท์มือถือ, ก๊อกน้ำ, ม่านห้องน้ำ, ถังขยะ, ที่วางแขนโซฟา, สายฉีดชำระ อย่าลืมทำความสะอาดของใช้และของเล่นในบ้านที่มีเด็กด้วย

หมายเหตุ : หากจุดเก็บรองเท้าอยู่ในบ้าน ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านควรถอดรองเท้าออกแล้วฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์บนพื้นรองเท้า ทิ้งไว้สักครู่แล้วจึงนำเข้ามาเก็บในบ้าน

Haiter-Covid-19

ภาพประกอบ : themomentum.co

ล้างพื้นผิวทั่วไปด้วยน้ำยาฟอกขาว

ในช่วงที่แอลกอฮอล์ขาดแคลนหาซื้อได้ยาก บางจุดในบ้านก็ไม่จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาด สามารถใช้สิ่งทดแทนอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันและหาได้ง่าย เช่น น้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรด์หรือคลอรีนน้ำ) มีสมบัติเป็นสารฟอกขาว มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้หลายชนิด ฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.9% สามารถใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไปและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสเป็นประจำ โดยต้องนำมาเจือจางในน้ำก่อนใช้งานผสมในอัตราส่วน 1:99 (น้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.05%  1 ส่วนในน้ำ 99 ส่วน) หรืออัตราส่วนง่าย ๆ คือ ขวดบรรจุขนาด 250 มิลลิลิตร หรือ 600 มิลลิลิตร ใช้ปริมาณ 5 ฝาต่อน้ำ 1 ลิตร ราดแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 15 – 30 นาที จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำอีกครั้ง

ข้อควรระวัง

ห้ามใช้น้ำยาฟอกขาว (เช่น ไฮเตอร์) ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียหรือกรด อย่างน้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำส้มสายชูเด็ดขาด , น้ำยาฟอกขาวมีกลิ่นฉุนและระคายเคืองผิวได้ ต้องสวมถุงมือและใช้อย่างระมัดระวัง หากใช้งานในห้องน้ำหรือพื้นในบ้าน ต้องเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อการระบายอากาศและไม่ควรผสมน้ำยาฟอกขาวใช้ฉีดพ่นเป็นละอองฝอย เพราะจะทำให้ละอองฝอยฟุ้งกระจาย หากฉีดพ่นในบริเวณที่อาจจะมีเชื้อ COVID-19 ปนเปื้อนหรือมีผู้ติดเชื้อ จะทำให้เชื้อฟุ้งกระจายเพิ่มความเสี่ยงได้

เปิดบ้านระบายอากาศ

ภาพประกอบ : urbanproperty

เปิดบ้านระบายอากาศ

ช่วงนี้บ้านเราไม่ได้เผชิญหน้าเฉพาะ COVID-19 แต่ยังมีเรื่องของฝุ่น PM2.5 ด้วย หลาย ๆ บ้านเลือกป้องกันตัวเองด้วยการปิดบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายจากฝุ่นได้บ้าง แต่การปิดบ้านทั้งหมดโดยไม่เปิดระบายอากาศ ทำให้สมาชิกในบ้านจะสูดหายใจรับแต่อากาศเก่า ในบ้านขาดแสงเกิดความอับทึบ ชื้น เชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดี การเติมอากาศจากภายนอกเข้ามาในตัวบ้านจะช่วยลดความเข้มข้นของสิ่งปนเปื้อนในอากาศภายในห้องได้มาก จึงควรหมั่นเปิดประตูหน้าต่างออกระบายอากาศบ้าง สำหรับห้องแอร์ที่ต้องปิดประตูหน้าต่างควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศที่ทำให้ทิศทางการไหลของอากาศในห้องไหลออกสู่ภายนอก สร้างกระแสลมให้อากาศเคลื่อนที่ ซึ่งจะมีส่วนให้สปอร์ของเชื้อราและเชื้อโรคไม่ตกลงเกาะที่พื้นผิวต่าง ๆ ในห้อง

ซักผ้าด้วยน้ำร้อน 70 องศา

ในขณะที่เราปฏิบัติตามกฎ Social Distancing ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ออกนอกบ้านอย่างสิ้นเชิง อาจจะมีความจำเป็นต้องออกไปซื้อของอุปโภคบริโภค ซึ่งเสื้อผ้าอาจสัมผัสเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าสู่บ้านติดเครื่องใช้ประจำวันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019  อาจดำรงชีวิตอยู่บนผ้าหรือกระดาษทิชชู่ได้นาน 8-12 ชั่วโมง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยหลังจากกลับเข้าบ้านทุกครั้งควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วซักทันที รวมถึงผ้าคลุมโซฟา ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว ที่เราสัมผัสเป็นประจำก็ต้องซักบ่อยขึ้น โดยใช้น้ำที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสร่วมผงซักฟอกธรรมดา (ถ้ามีน้ำยาฟอกขาวก็ควรใส่ลงไปได้) ตั้งโปรแกรมซักไม่ต่ำกว่า 45 นาที (ในกรณีซักด้วยเครื่อง) จากนั้นจึงนำไปตากแดดแรง ๆ ให้แห้ง

Germ-Saber-Robot

ภาพประกอบ : businesstoday.co

ใช้รังสี UV ช่วยฆ่าเชื้อโรค

รังสี UV (รังสีอัลตราไวโอเลต) เป็นรังสีพลังงานสูงที่ไม่มีในแสงแดดบนโลก นักวิทยาศาสตร์จึงประยุกต์ใช้หลอดสังเคราะห์ UVC ในการฆ่าเชื้อโรคโดยเริ่มนำ UVC มาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำดื่มและพัฒนามาฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวและอากาศ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรค COVID-19  ด้วย ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทผลิตหลอด UV ออกมาจำหน่ายเป็นทางเลือกในการฆ่าเชื้อโรคในบ้าน มีทั้งแบบตั้งโต๊ะ, หุ่นยนต์,  หลอดไฟ UVC ที่ใช้ร่วมกับเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังห้ามใช้หลอดยูวีในห้องที่กำลังมีคนใช้งาน หากต้องการเปิดฆ่าเชื้อต้องทำขณะที่ไม่มีผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้น เพราะแสง UV ประเภทนี้มีอันตรายต่อตาและผิวหนังมาก อาจทำให้กระจกตาถลอก เยื่อบุตาอักเสบ (UV keratoconjunctivitis) ผิวหนังอักเสบไหม้ได้

สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัยคือ ใส่หน้ากากอนามัยที่แนบติดกับจมูกและข้างแก้ม ทุกครั้งที่ไอหรือจามต้องปิดปากและจมูก นอกจากนี้นักวิจัยจีนพบว่า หากฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจ (น้ำมูก น้ำลาย) ที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้ตกลงบนพื้นผิว จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวัน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหากมือไปสัมผัสฝอยละอองบนวัตถุนั้นแล้วไปสัมผัสใบหน้า จึงห้ามใช้มือสัมผัสใบหน้าเด็ดขาดและต้องล้างมือ 20 วินาทีให้ถูกวิธีด้วยสบู่ หรือล้างบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์แบบไม่ต้องล้างน้ำ  เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากและล้างมือบ่อย ๆ  แล้วเราจะผ่านวิกฤต Covid-19 ไปด้วยกันครับ http://credit-n.ru/potreb-kredit.html http://www.tb-credit.ru/kredit-na-kartu.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด