บ้านสไตล์นอร์ดิกสีขาว
ถ้าหากเราอยู่ในบ้านเก่านาน ๆ ย่อมมีความผูกพัน ยิ่งมีความทรงจำดี ๆ ในนั้นก็อยากเก็บความรู้สึกเดิม ๆ เอาไว้ แต่ในวันหนึ่งบ้านก็จะค่อย ๆ ทรุดโทรมไปตามเวลา หลายคนเลือกปรับปรุงเป็นส่วนๆ แต่ก็มีคนไม่น้อยที่เลือกจะรื้อสร้างใหม่ในสไตล์ที่มีแรงบันดาลใจมาจากบ้านเก่า ถ้าเป็นในบ้านเราก็อาจจะเป็นสไตล์พื้นถิ่นประยุกต์ สำหรับ Fendalton House เป็นบ้านในนิวซีแลนด์ที่รายล้อมด้วยสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปนิกได้นำแบบบ้านในปี 1910 มาสู่ยุคสมัยใหม่ โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของรุ่นก่อนเอาไว้ในบางจุด ให้ผู้อยู่อาศัยมั่นใจได้ว่าบ้านนั้นจะยังคงดูดีต่อไปในอนาคต
ออกแบบ : Patterson Associates
ภาพถ่าย : Sam Hartnett
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
หลังแผ่นดินไหวที่ไครสต์เชิร์ชในปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 185 ราย และทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองเสียหายมาก หนึ่งในนั้นที่คือบ้านพักอาศัย 2 ชั้นที่สร้างตั้งแต่ปีค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453 ) ซึ่งสภาพพังยับเยินจนต้องรื้อถอนหลังภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ จึงจำเป็นต้องมีบ้านใหม่ภายในบริเวณเดิม และด้วยความรักและความทรงจำของคู่รักวัยเกษียณที่มีต่อบ้านหลังนี้ที่อยู่มายาวนานถึง 30 ปี ทำให้สถาปนิกเลือกสะท้อนถึงลักษณะและรูปแบบของบ้านในอดีต ออกมาเป็นบ้านหลังคาสามหน้าจั่วสีขาวที่ชวนให้หลงรักตั้งแต่แรกเห็น
แปลนบ้านเก่าให้ความรู้สึกคลาสสิค เป็นลายเส้นแบบวาดมือที่เจ้าของบ้านยังเก็บเอาไว้อย่างดี สำหรับเจ้าของแล้ว พื้นที่นี้ชวนให้นึกถึงบ้านเก่าแก่ แต่เหมือนฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยการตีความร่วมสมัยและการยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างกล้าหาญของผู้เป็นเจ้าของ
พื้นที่นั่งชมสวนคือสิ่งที่ต้องมี สวนนี้เป็นของเดิมที่ไม่บุบสลายใด ๆ จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศแบบเดิม ๆ
บ้านมีประตูขนาด over size แบบบานหมุนเปิดให้ผ่านไปยังห้องโถงเพดานสูงแบบ Double space ตรงช่วงกลางบ้าน แม้ว่าการตกแต่งภายในจะมีความเรียบง่าย เส้นสายคมชัด โทนสีกลางๆ มีหน้าต่างสูงจากพื้นจรดเพดาน และ Skylight ที่สะดุดตสไตล์นอร์ดิกโมเดิร์น แต่ก็ยังความคุ้นเคยซึ่งเกิดขึ้นจากการวางแผนพื้นที่อยู่อาศัย โดยให้ห้องครัวชั้นล่างคงไว้ในตำแหน่งเดิม แต่พยายามเน้นสวนที่มีอยู่โดยจัดลำดับพื้นที่ใหม่เพื่อให้เชื่อมต่อกับภูมิทัศน์ได้ดีขึ้น จากเดิมที่เคยถูกจำกัดด้วยการเปิดหน้าต่างแบบเก่าเปลี่ยนเป็นช่องเปิดเต็มความสูง รวมถึงการใช้วัสดุตกแต่งบางอย่างที่เคยคุ้น
ห้องโถงเพดานสูงกว่า 8 เมตรดูโปร่งสบาย ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับความบันเทิง ทำหน้าที่เหมือนแกลเลอรี่สำหรับเก็บสะสมงานศิลปะของเจ้าของ และยังทำหน้าที่เชื่อมต่อปีกทั้งสองข้างของบ้านในชั้นล่าง ด้านนหึ่งเป็นห้องวาดรูป ห้องทานข้าว ส่วนอีกปีกจะเป็นห้องนั่งเล่นและครัว ซึ่งแต่ละปีกจะมีทางเชื่อมต่อถึงกันได้หมด
ระหว่างห้องนั่งเล่นไปยังห้องทานอาหารมีผนังบิลท์เป็นชั้นวางหนังสือ มีผ้าม่านเป็นตัวช่วยแบ่งกั้นพื้นที่เมื่อต้องการ ความยืดหยุ่นในบ้านจุดอื่นๆ ทำผ่านชุดประตูบานเฟี้ยม และหน้าต่างแบบยืดหดได้ พื้นปูไม้โอ๊คทั่วทั้งชั้นล่างให้ความอบอุ่น ประกอบกับชุดเครื่องเรือนเก่าดูอ่อนช้อย ทั้งหมดนี้มาจากบ้านเดิมจัดวางในบ้านใหม่ ทำให้สัมผัสถึงความทรงจำเดิมจางๆ จึงไม่ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกแปลกแยกเท่าไหร่นัก
ครัวแบบเปิดกว้างๆ มองเห็นส่วนอื่นของบ้านได้ และยังสามารถเปิดปล่อยสายตาได้อย่างอิสระทะลุผนังกระจกออกไปรับความสดชื่นที่สวน คนที่เข้าครัวจึงไม่ต้องถูกแยกไปเตรียมอาหารอย่างโดดเดี่ยวเหมือนบ้านเก่า
บันไดวนสีขาวที่ชวนให้โฟกัสสายตานี้ อยู่ปลายสุดของโถงกลางบ้าน ซึ่งเป็นส่วนที่แยกการใช้งานของบ้านออกเป็นสองส่วน เหนือบันไดเป็นชั้นลอยที่ทำให้ระหว่างชั้นติดต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางสีขาวบ้านนี้ดูสว่างและมีความน่าสนุก อย่างไรก็ตาม สถาปนิกยังคำนึงถึงการใช้งานที่ง่ายขึ้นสำหรับผู้สูงวัยในอนาคต จึงออกแบบพื้นที่ให้สามารถรองรับลิฟต์ผู้โดยสารขึ้นลงได้สบายๆ โดยที่ชั้นบนจะเป็นส่วนของห้องนอน 4 ห้องและห้องน้ำ 2 ห้อง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บันไดวน ส่วนมากจะใช้เป็นบันไดเสริมจากบันไดหลักของบ้าน เพราะความแคบและขั้นบันไดที่ค่อนข้างเล็กทำให้ขึ้นลงยากกว่าบันไดธรรมดา แต่ข้อดีของบันไดวนหรือบันไดเวียน ก็มีมากมาย เช่น การใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่าบันไดทั่วไป โดยทั่วไปมักใช้เหล็กที่มีน้ำหนักเบา ระยะเวลาในการทำน้อยกว่าบันไดคอนกรีตหรือบันไดไม้ บันไดวนในแบบยุคใหม่ ยังสามารถถอดเคลื่อนย้ายไปประกอบหน้างานได้ อย่างไรก็ตาม การออกแบบบันไดวนต้องคำนวณโครงสร้างบันได ทั้งลูกตั้ง ลูกนอน ขั้นบันไดให้สะดวก, ปลอดภัย, เหมาะสมกับพื้นที่ ถูกต้องตามกฎวิศวกรรมสถาน ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยโดยนักวิศวกรหรือสถาปนิก |
แปลนบ้าน