ตกแต่งคอนโด
การเลือกซื้ออาคารหรือห้องชุดที่สร้างมานาน เพื่อปรับปรุงใช้งานใหม่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป อย่างในเนื้อหา “บ้านไอเดีย” พาไปชมคอนโดมิเนียมอายุ 33 ปี ในญี่ปุ่นที่เจ้าของซื้อมารีโนเวท แม้ห้องจะเก่า แต่มีข้อดีที่พื้นที่ค่อนข้างใหญ่และมาพร้อมวิวคลอง Koto ที่มองเห็นได้จากด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ โดยสิ่งที่เจ้าของต้องการคือการทำห้องแบบ 4 ห้องนอนให้เป็นห้องแบบสตูดิโอที่รวมที่ทำงานและที่อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน ผลงานจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องตามไปดูด้วยกันครับ
ออกแบบ : knof
ภาพถ่าย : Haruki Kodama Photography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Kaori Kikushima และ Ikki Nagasawa จากบริษัทสถาปัตยกรรมในโตเกียว knof ที่ซื้อคอนโดห้องนี้มา วางแผนงานสำหรับการรีโนเวท คือ ปรับยูนิตสี่ห้องนอนเดิมให้เป็นยูนิตแบบหนึ่งห้อง ที่รวมที่ทำงานและที่อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน ให้พื้นที่นั่งเล่นและพื้นที่ทำงานทับซ้อนกันแทนที่จะแยกออกจากกัน ด้วยการรื้อผนังแบ่งห้องเดิมที่ไม่ได้ใช้งานออก เชื่อมต่อให้กลายเป็นห้องโถงขนาดใหญ่รวมเอาฟังก์ชันครัว โต๊ะทานข้าว และส่วน Living ไว้ด้วยกันในห้องกว้าง ๆ โดยใช้วิธีการเล่นระดับและวัสดุปูพื้นที่แตกต่างแยกระหว่างส่วนใช้งานที่ต้องการ แทนที่การก่อผนังแยกเป็นห้องเล็กห้องน้อย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เมื่อคำนึงถึงการใช้พื้นที่เป็นบ้านและสำนักงานอยู่ด้วยกันแล้ว การแบ่งพื้นที่จำกัดเพียง 80 ตร.ม. ออกเป็นสองซีกอย่างชัดเจน จะเป็นการจำกัดขอบเขตกิจกรรมของผู้อยู่อาศัย/คนทำงาน ทีมงานจึงต้องค้นหาแผนการณ์ที่จะสร้างความเหลื่อมกันระหว่าง “การใช้ชีวิต” และ “การทำงาน” เข้าด้วยกัน โดยที่ไม่รบกวนกันและกัน จึงมีฟังชันพิเศษเป็นฉากกั้นห้องเสริมเข้ามา ให้ที่นี่กลายเป็นห้องเดี่ยวที่เชื่อมต่อจากพื้นที่สำนักงานไปยังห้องนอนอย่างหลวมๆ แต่สามารถปกปิดพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างแนบเนียน
วัฒนธรรมการวาดภาพประตูบานเลื่อนกั้นห้องของญี่ปุ่น (fusuma shouji-e) บนผ้าใบหรือผ้าไหม เป็นงานศิลปะที่มีความล้ำลึก ให้สายตาสัมผัสกับความลึกของพื้นที่ที่แตกต่างกัน และสามารถเปลี่ยนบรรยากาศของพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ ห้องนี้ก็ต้องการสร้างความลึกใหม่ภายในกล่องคอนกรีต จึงตัดสินใจการสร้างบานประตูฟุสุมะเก้าส่วนที่ต่อเนื่องกันที่มีภาพวาดแสดงอยู่ ในอดีตฟุสุมะถูกวาดด้วยฉากจากธรรมชาติ ดังนั้นที่นี่จึงตัดสินใจทำเช่นเดียวกัน โดยใช้วาฬเป็นแรงบันดาลใจในการวาดภาพ ออกแบบโดยศิลปิน Saki Ikeda ซึ่งต้นฉบับวาดอย่างพิถีพิถันด้วยปากกาวาดภาพ ขนาดกว้างประมาณ 40 ซม. นำมาขยายและพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่พิเศษลงบนแผ่นไม้อัด lauan ลายไม้หยาบๆ เพื่อแสดงถึงคลื่นในท้องทะเล
เนื่องจากพื้นที่ห้องส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นสำนักงาน ทีมงานจึงไม่ต้องการแสดงองค์ประกอบที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (ห้องน้ำ ห้องสุขา ตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน ชั้นเก็บนวนิยายและการ์ตูน ฯลฯ) ซึ่งเป็นของส่วนตัวออกมาให้เห็นโดยไม่ปกปิด ดังนั้นชุดอุปกรณ์บานเก้าชิ้นที่เป็นภาพวาดวาฬจึงกลายเป็นตัวช่วยอย่างดี เพราะนอกจากเป็นฉากประกอบในห้องที่เป็นงานศิลป์ชิ้นสวยแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นชุดประตูที่ใช้ได้จริงเพื่อแยกพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างน่าทึ่ง
ห้องนั่งเล่นสไตล์ญี่ปุ่นยกพื้นขึ้นสูงเป็นเหมือนเวทีเล็ก ๆ ปูด้วยเสื่อทาทามิสุดคลาสสิค สร้างความรู้สึกสงบ นิ่ง และได้สัมผัสจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่นที่แท้
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : Fusuma (襖) เป็นองค์ประกอบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น เป็นฉากแนวตั้งที่สามารถเลื่อนไปมาได้ ทำหน้าที่เป็นฉากหรือประตู เพื่อกำหนดพื้นที่ว่าง กั้นพื้นที่กว้าง ๆ แบ่งเป็นห้องอย่างยืดหยุ่น โดยทั่วไปจะกว้าง 90 ซม. สูง 180 ซม. หนา 2-3 ซม. ในอดีต ภาพวาดฟุซูมะ มักเป็นภาพจากธรรมชาติ เช่น ภูเขา ป่าไม้ สัตว์ต่างๆ เป็นต้น โดยทั่วไปฟุสุมะ จะวาดลงบนวัสดุผ้าไหม ผ้าใบ หรือกระดาษทึบแสง แต่ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ลงบนวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้อัด ทำให้ได้ความหลากหลายและตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบันมากขึ้น |