เมนู

ชวนมาแอ่วสวน ที่ซ่อนไว้ในโฮสเทล @ Hidden Garden Hostel

Hidden Garden Hostel

Hidden Garden Hostel

โฮสเทลในเชียงใหม่มีมากมาย ในแต่ละที่ก็แข่งกันใส่ไอเดียสร้างสรรค์ออกมาได้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่สร้างใหม่หรือโฮสเทลที่รีโนเวทจากอาคารเก่าแก่ ซึ่งทั้งสองรูปแบบก็มีอารมณ์ บรรยากาศ และเรื่องเล่าที่ต่างกันไป สำหรับใครที่ชื่นชอบย่านถนนคนเดินวันเสาร์บริเวณถนนวัวลาย อาจจะคุ้นเคยกับอาคารพาณิชย์เก่า ๆ ที่เคยปิดร้างเอาไว้ จนกระทั่งผ่านมาอีกทีกลายเป็นอาคารที่พัก 3 คูหาที่รังสรรค์หน้าตาใหม่แต่การตกแต่งชวนให้รู้สึกอบอุ่นด้วยการหยิบจุดเด่นของชุมชนมานำเสนอ บรรยากาศภายในซ่อนความร่มรื่นใกล้ชิดธรรมชาติมีทั้งสวนและสระว่ายน้ำให้ผู้มาเยือนได้พักผ่อนเพลิดเพลินอย่างสงบ สบาย เป็นส่วนตัวแม้จะอยู่ในใจกลางเมือง

ออกแบบFull Scale Studio
ภาพถ่ายChaiyaporn Sodabunlu
เนื้อหาบ้านไอเดีย

เหนื่อยนักพักนอนม่วนๆ ที่ Hidden Garden

Hidden Garden Hostel อยู่บนถนน “งัวลาย” หรือ “วัวลาย” ย่านชุมชนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงด้านงานช่างเงินฝีมือดี ถือเป็นหัตถกรรมชิ้นเอกที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำงานจักสานด้วย เมื่อ Full Scale Studio ได้รับโจทย์ให้ทำการปรับปรุงอาคารพาณิชย์ที่ติดกัน 3 คูหาธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ให้เป็นโรงแรมจำนวน 10 ห้องพัก จึงนำเอากลิ่นอายของท้องถิ่นเข้ามาแทรกไว้ในทุกจุด เพื่อให้อาคารยังคงมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นผ่านเลือกวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในชุมชน ภายในใช้วิธีการสื่อสารทางสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ ๆ สร้างฟังก์ชันที่สอดรับกับการใช้งานที่ต่างไปจาก และสอดคล้องกับสภาพอากาศร้อนชื้นในบ้านเรา

Hidden-Garden-Hostel

ประตูด้านหน้าเป็นบานเฟี้ยมติดบานเกล็ดไม้ตลอดแนวทั้ง 3 คูหา  ดูคล้ายกับตึกโบราณที่เราเคยคุ้นตา แต่ความคลาสสิคนั้นถูกทำให้ดูทันสมัยขึ้นเมื่อจับคู่กับผนังปูนเปลือยขัดมันและป้ายเหล็กฉลุเลเซอร์สีดำสนิท


ห้องนั่งเล่นพักผ่อนชั้นล่าง

ต้อนรับด้วยกลิ่นอายตึกเก่าและงานพื้นถิ่น

สถาปนิกอธิบายแนวคิดและวิธีการจัดเรียงพื้นที่ว่า “เราเริ่มสร้างการรับรู้จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของอาคาร ชั้นแรกเป็นการรับรู้ภายนอกอาคารที่ยังเน้นให้เกิดภาพจำของอาคารพาณิชย์เดิม ชั้นถัดไปเป็นส่วนโถงตอนรับและพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดโล่ง ที่เผยให้เห็นบางส่วนของคอร์ทยาร์ด ถัดไปเป็นทางสัญจรภายในอาคารที่เปิดให้เห็นส่วนกลางอาคารเป็นระยะ โดยมีบันไดเหล็กเจาะรูพาดอยู่กลางสวนทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ทางตั้งของอาคาร ชั้นในสุดจะเป็นที่ตั้งห้องพักและสวนกลางอาคารตามลำดับ”

ล็อบบี้ดีไซน์เรียบง่ายแต่เก๋

ห้องนั่งเล่นพักผ่อนชั้นล่าง

โครงสร้างหลักของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีอายุมากกว่า 40 ปี การปรับปรุงจึงต้องใช้ความระมัดระวังค่อนข้างสูง เพื่อให้กระทบกับโครงสร้างเดิมให้น้อยที่สุด โดยสถาปนิกเน้นปรับปรุงในส่วนของงานพื้น ผนัง และหลังคาเดิม เลือกเก็บส่วนที่ยังใช้งานได้เอาไว้ เช่น เสาหินขัด พื้นกระเบื้องดินเผา ผนังปูนขัดมัน ที่ยังคงคุณค่าและบอกเล่าเรื่องราวงานสถาปัตยกรรมของช่างรุ่นก่อนได้เป็นอย่างดี

พื้นที่นั่งเล่นโล่ง ๆ

สถาปนิกอธิบายถึงที่มาของรายละเอียดในการเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิดสำหรับตกแต่งว่า “ในส่วนของงานตกแต่งอาคารยังเน้นให้ใช้วัสดุที่ผลิตในท้องถิ่น ด้วยงานจักสาน ผ้า สิ่งทอ งานกระเบื้องเคลือบดินเผา บล็อกช่องลม หวาย ฯลฯ เพื่อสนับสนุนช่างฝีมือและสะท้อนความเป็นเชียงใหม่และความเป็นย่าน”

มุมนั่งทานอาหารชั้นล่าง

ข้อจำกัดของตึกเก่าคือการขาดพื้นที่รับแสง ไม่มีช่องทางระบายอากาศรับธรรมชาติภายนอก สถาปนิกจึงแก้ไขจุดอ่อนนี้ด้วยการรื้อผนังที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ออกสร้างความต่อเชื่อมในแนวนอน และเจาะเพดานบางส่วน เพื่อทำให้เกิดสเปซแนวตั้งขนาดใหญ่ เปลี่ยนพื้นที่ตรงกลางกลุ่มอาคารที่มืดทึบขาดแสงให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ ผู้เข้าพักจึงสามารถรับรู้ได้ทั้งแสงและลมจากธรรมชาติที่กระจายเข้าไปทุกพื้นที่ภายในอาคารได้ง่ายขึ้น

แผ่นปูทางเดินคอนกรีต

ผนังคอนกรีตเจาะช่องว่างเล็ก ๆ

สระว่ายน้ำและพื้นที่กลางแจ้ง

ค่อย ๆ เดินลัดเลาะมาพบกับสวน

ทางเดินในสวนปูแผ่นหิน Cobblestone ก้อนสี่เหลี่ยมเสมือนเป็นเส้นทางลับที่นำทางให้ผู้เข้าพักค่อย ๆ เดิน พร้อมกับสัมผัสธรรมชาติที่จัดเรียงไว้ระหว่างทาง ก่อนจะพบกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน คือ พื้นที่สีเขียวเปิดโล่งออกสู่ท้องฟ้าที่โปร่งสว่าง ชุ่มชื่นด้วยมอส เฟิน และพันธุ์พืชทรอปิคอลอื่น ๆ ใกล้ ๆ กันเป็นสระว่ายน้ำขนาดย่อมชวนให้มาออกกำลังกายท่ามกลางทัศนียภาพสวยงาม เหมือนได้ใช้ชีวิตในโอเอซิสที่แสนสงบจนลืมไปว่านี่คือใจกลางเมืองที่ผู้คนขวักไขว่อยู่ภายนอก

พื้นที่พักผ่อนกลางแจ้ง

ช่องว่างใจกลางอาคาร

ห้องพักรวมแบบเตียง 2 ชั้น

ห้องพักรวมแบบเตียง 2 ชั้น

ห้องนอนที่น่าสนุกและอบอุ่น

โฮสเทลเป็นที่พักนักท่องเที่ยวราคาประหยัด ในห้องพักส่วนมากจะจัดลักษณะคล้ายหอพักคือ มีเตียงสองชั้นหลายๆ เตียงในห้องเดียวกัน แยกแต่ละเตียงให้เป็นส่วนตัวขึ้นด้วยการติดผ้าม่าน แต่ที่พิเศษคือที่นี่มีหลายแบบทั้งเตียงเดี่ยว เตียงคู่ เตียง 2 ชั้นให้เลือก ส่วนห้องน้ำมีทั้งห้องน้ำในตัวและห้องน้ำรวมที่ออกแบบมาให้เป็นสัดส่วนดีแยกหญิงชายชัดเจน การตกแต่งห้องนอนเน้นความรู้สึกโปร่งสว่างด้วยโทนสีขาวและช่องแสงขนาดใหญ่ อบอุ่นด้วยงานไม้และงานจักสานที่เข้ามามีส่วนร่วมในองค์ประกอบปลีกย่อย

ห้องนอนสีขาวตกแต่งงานไม้

ห้องปูนเปลือยตกแต่งไม้

อีกหนึ่งจุดเล็ก ๆ แต่สะท้อนความรู้สึกของยุคสมัยก่อนที่นำมานำเสนอในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างน่าสนใจคือ การนำกระเบื้องลายเรขาคณิตที่เรามักจะเห็นในบ้านยุค 30-40 ปีที่แล้ว อาทิ กระเบื้องทรงเกล็ดปลา กระเบื้องหกเหลี่ยม กระเบื้องสามเหลี่ยมสไตล์เรโทรมาตกแต่งบางส่วนของผนังห้องนอน ซิงค์ล้างหน้า ห้องน้ำ ทำให้มีจุดโฟกัสสายตาเก๋ ๆ เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้วัสดุแพง ๆ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : อาคารเก่าหลายชั้นที่สร้างมาในสมัยก่อนจะมีผนังติด ๆ กันทั้งสองด้าน (ยกเว้นห้องมุม) ทำให้มักมีข้อจำกัดที่เหมือนกัน ๆ กันคือ การขาดแสงธรรมชาติช่วงกลางอาคาร ทำให้ภายในอาคารมืดและชื้น การระบายอากาศที่ทำได้ไม่ดีนักเพราะใส่ช่องเปิดได้แค่ด้านหน้ากับด้านหลังตึก หากต้องการปรับปรุงอาคารให้สามารถรับแสงและลมได้มากขึ้น สถาปนิกจึงนิยมลดผนังที่ไม่จำเป็นออก เปิดเพดานให้เป็นช่องว่างโถงสูง ทำให้อากาศและแสงเดินทางได้ดี นอกจากนั้นยังอาจจะเพิ่มช่องแสง skylight ให้อาคารรับแสงตรง ๆ ได้จากด้านบน ก็จะช่วยลดข้อจำกัดที่ว่าได้

 

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด