เมนู

ซ่อมแซมแก้ไขปัญหา ห้องน้ำ หลังน้ำท่วม

ซ่อมแซมบ้าน หลังบ้าน น้ำท่วม

แก้ปัญหาห้องน้ำ ซ่อมแซมห้องน้ำด้วยตนเอง

ขอบคุณข้อมูล คู่มือฟื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วม สถาบัน นายช่างแสนดี

++หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ผ่านพ้นไป ทุกบ้านเรือนก็ต้องมาปวดหัวกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังตามมาเป็นพรวน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเสื่อมโทรมของที่พักอาศัย โครงสร้างอาคารบ้านเรือนที่สึกกร่อน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ระบบไฟฟ้าประปาที่มีผลต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงระบบสุขาภิบาลที่เป็นสิ่งสำคัญของบ้านทุกหลัง ซึ่งถ้าไม่มีอนามัยที่ดีแล้ว ก็อาจนำไปสู่ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บมากมาย  ห้องน้ำในบ้านของเรา ที่ปกติแล้วเคยใช้การณ์ได้ดีนั้น หลังจากผ่านการขังของน้ำมาอย่างยาวนาน เราจึงควรสังเกตให้ดีว่า มีจุดบกพร่องตรงไหนเกิดขึ้นบ้าง เพื่อการแก้ไขจะทำได้ทันท่วงที

โดยองค์ประกอบภายในห้องน้ำ สามารถแบ่งได้เป็นหลายๆ ส่วน วัสดุกรุผิว ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องปูพื้นปูผนัง ก๊อกน้ำ อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ สุขภัณฑ์ รวมไปถึงท่อน้ำทิ้งที่คอยชำระล้างสิ่งสกปรกให้ออกจากร่างกาย และจากห้องน้ำของเรา

ขอเริ่มที่วัสดุกรุผิวก่อน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ว่าลักษณะของผิวเป็นอย่างไรบ้าง มีคราบหรือรอยตรงส่วนไหนบ้าง เกิดคราบที่ผิวกระเบื้องหรือคราบที่ยาแนว มีกระเบื้องแผ่นไหนที่บิ่นหรือแตกไหม โดยส่วนใหญ่แล้ว กาวยาแนวจะเสียหาย ต้องขูดลอกออกแล้วยาแนวใหม่ หินอ่อนและแกรนิตจะมีการขึ้นคราบขาว กรณีการเกิดคราบที่หินนั้น แนะนำให้ติดต่อช่างหินมาซ่อมแซมเฉพาะจุด และขัดใหม่เพื่อทำความสะอาดคราบค่ะ

ส่วนการซ่อมแซมกระเบื้องหลังน้ำท่วม ก่อนอื่นเราต้องตรวจดูก่อนว่า มีส่วนไหนที่หลุดร่อนออกมาบ้าง การซ่อมแซมนั้น ถ้าเป็นการหลุดร่อนเพียง 1-2แผ่นนั้น ก็สามารถทำเองได้ค่ะ โดยมีขั้นตอนการซ่อม ดังนี้

1. เตรียมผิวที่แตกโดยการใช้สกัดปากแบน ค่อยๆ สกัดให้ปูนเก่าหลุดออกให้หมดโดยรอบ ควรระวังไม่ให้กระเบื้องแผ่นอื่นหลุดออกมาด้วย
2. จากนั้น ทำความสะอาดผิวหน้าที่สะกัดปูนออกมา แล้วพรมน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นทิ้งไว้ให้หมาดๆ
3. นำปูนทราย อัตราส่วน 1:1 ปาดใส่ส่วนที่สกัด
4. นำกระเบื้องใหม่ ที่ทำการเลือกเฉดสี ลวดลาย หรือผิวหน้า ให้เข้ากับกระเบื้องเดิม มาแปะลงไป (แต่ก่อนทำการแปะลงไปนั้น ควรแช่น้ำไว้ประมาณ 1ชั่วโมงก่อนค่ะ)

แต่สำหรับการแตกร้าวของกระเบื้องนั้น ถ้ามีการแตกหัก ควรรีบเปลี่ยนทันที โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้นชั้นล่าง ถ้าปล่อยนานไป ความชื้นจากดินจะขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดอันตรายในไม่ช้าอีกด้วย โดยการซ่อมแซมกระเบื้องที่แตก มีอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ดังนี้

  • กระเบื้องแผ่นใหม่
  • ตะปูคอนกรีต
  • ค้อน
  • ปูนกาวยาแนว
  • ปูนสำเร็จรูป
  • ฟองน้ำ

โดยมีวิธีการเปลี่ยนกระเบื้อง ดังนี้

1. สกัดกระเบื้องแผ่นเก่าออกก่อน นำตะปูคอนกรีตกับค้อน ค่อยๆ เลาะตรงรอยแตกกระเบื้องแผ่นเก่า จนถึงขอบกระเบื้อง แล้วจึงดึงกระเบื้องแผ่นเก่าออก
2. สกัดปูนออก หลังจากเอากระเบื้องแผ่นเก่าออกแล้ว ก็ทำให้ปูนที่อยู่ใต้กระเบื้องเป็นรูให้ทั่ว โดยใช้ตะปูกับค้อนตอกลงไป
3. ติดกระเบื้องแผ่นใหม่ นำปูนมาผสมกับน้ำ แล้วเอาปูนมาแปะกับกระเบื้องให้เป็นก้อน ใช้การกะประมาณ ให้ปูนทั่วแผ่นกระเบื้อง เสร็จแล้วจึงพรมน้ำลงบนปูนที่สกัดเอาไว้ แล้วจึงแปะกระเบื้องลงไป เคาะๆ ให้ขอบเสมอกันกับแผ่นกระเบื้องเดิม แล้วปาดเศษปูนออก
4. นำปูนยาแนวผสมกับน้ำแล้วปาดไปตรงร่องกระเบื้อง พอปูนเริ่มแห้งก็ใช้ฟองน้ำชุบน้ำปาดอีกครั้ง

ปัญหากระเบื้องแตกแก้ไม่ยาก ถ้าคุณพอมีเวลาก็สามารถเปลี่ยนกระเบื้องเองได้ ทั้งกระเบื้องพื้น และกระเบื้องผนังค่ะ แต่ถ้าต้องเปลี่ยนกระเบื้องหลายจุดมาก เราแนะนำให้ติดต่อทีมช่างผู้เชี่ยวชาญมารื้อกระเบื้องแล้วปรับปรุงโฉมใหม่ทั้งผืน เพื่อให้มีความสวยงามและไม่มีปัญหาตามมาภายหลังค่ะ

หลังจากการสังเกตกระเบื้องแล้ว สิ่งที่สามารถสังเกตได้ตามมา คือ ก๊อกน้ำ ว่าน้ำที่ไหลออกจากก๊อกนั้นมีสีอะไร มีตะกอนหรือไม่ ดังนั้นทางที่ดียังไม่ควรใช้น้ำจากก๊อกทันที ควรเปิดก๊อกปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปจนน้ำไม่มีสีหรือมีสิ่งเจือปนก่อน และไม่ควรใช้น้ำจากก๊อกดื่มหรือประกอบอาหาร จนกว่าจะแน่ใจว่าน้ำสะอาดและปลอดภัยนะคะ

อ่างล้างหน้า และอ่างอาบน้ำ แนะนำให้ถอดอุปกรณ์ ทำความสะอาดท่อ และส่วนประกอบอื่นๆ ก่อนใช้งาน ส่วนสุขภัณฑ์ ควรทำความสะอาดถังพักน้ำของสุขภัณฑ์ให้สะอาดก่อน ทดลองกดสุขภัณฑ์ ถ้ากดไม่ลง ควรใช้ลูกยางปั๊ม งูเหล็กหรือ CO2 ดันสิ่งอุดตันออก และถ้าหลังจากกดน้ำแล้วมีฟองอากาศแทรกน้ำขึ้นมา สันนิษฐานว่าท่ออากาศตัน ให้ทำความสะอาดท่ออากาศด้วย แต่ถ้าอ่างและสุขภัณฑ์มีการบิ่น หรือเกิดการแตกหักบางส่วนแล้ว ขอแนะนำให้ซื้อสินค้าใหม่เพื่อนำมาเปลี่ยน เพื่อความปลอดภัย และไม่เกิดการรั่วซึมในภายหลังนะคะ

สำหรับท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ ถ้าราดน้ำไม่ลง ให้ใช้ลูกยางปั๊ม หรือก๊าซ CO2 ทำความสะอาด นอกจากนี้ยังควรตรวจหารอยแตกรั่วของท่อน้ำ ว่ามีจุดไหนรั่วตรงส่วนไหน ถ้าพบให้ปิดวาล์วตรงมิเตอร์น้ำก่อนแล้วติดต่อช่างให้มาซ่อมแซมนะคะ

นี่เป็นการสังเกต และซ่อมแซมเฉพาะส่วนห้องน้ำเท่านั้น ยังมีบริเวณอื่นๆ ที่ต้องพิจารณากันต่ออีกนะคะ หลังจากการซ่อมแซมบ้านทุกส่วน ทุกบริเวณเสร็จสิ้นแล้ว เราควรเตรียมพร้อมเสมอในการรับมือครั้งต่อๆ ไป โดยการคาดคะเนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีก การเตรียมวัสดุอุปกรณ์เพื่อป้องกันบ้านเรือนจากน้ำท่วม รวมถึงการปรึกษา และทำข้อตกลงกับบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับการประกันความเสียหาย เพื่อทำแผนการรับมือน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ให้ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นน้อยที่สุดนะคะ

สุดท้ายนี้ ขอให้สามารถซ่อมแซม และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ และปลอดภัยทุกท่านค่ะ http://www.tb-credit.ru/kredit.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด